สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สวัสดี “ชาละวัน”

สวัสดี “ชาละวัน”

ชาละวัน ชื่อไทยบนอวกาศ

9 ธันวาคม 2558 โดย: ธรรมฤทธิ์ ลิขิตธีรเมธ
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 20 ธันวาคม 2559

47 หมีใหญ่ (47 Ursae Majoris; HIP 53721) หรือต่อไปนี้จะมีชื่อสามัญว่า ชาละวัน (Chalawan) และดาวบริวารทั้ง ดวง ซึ่งก็คือ 47 หมีใหญ่ บี และ 47 หมีใหญ่ ซี หรือ ตะเภาทอง (Taphao Thong) และ ตะเภาแก้ว (Taphao Kaew) ตามลำดับ เป็นหนึ่งในบันทึกหน้าใหม่ของวงการดาราศาสตร์ไทย

จุดเริ่มต้น


เมื่อช่วงปลายปีพ.ศ. 2557 สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union; IAU) มีความคิดที่จะจัดกิจกรรมตั้งชื่อให้กับโลกต่างระบบ (ExoWorld) ทั้งหมด 20 ระบบ จากทั้งหมด 305 ระบบที่มาจากโครงการแพลเนตฮันเตอรส์ (Planet Hunters) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิทยาศาสตร์ซูนิเวอรส์ (Zooniverse) โดยเปิดให้องค์กร ชมรม สมาคม หรือกลุ่มกิจกรรมทางดาราศาสตร์ที่ไม่แสวงหาผลกำไรเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
สมาคมดาราศาสตร์ไทยซึ่งเป็นผู้นำทางด้านกิจกรรมทางดาราศาสตร์ในประเทศไทยเห็นว่าโอกาสนี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะนำชื่อไทยไปสู่ระดับสากล หรือระดับจักรวาลเลยก็ว่าได้ แต่ถ้าจะให้สมาคมดาราศาสตร์ไทยเป็นคนคิดชื่อเอง ส่งชื่อเองก็จะดูไม่ได้มาจากประเทศไทยสักเท่าไร ทางสมาคมดาราศาสตร์ไทยจึงไม่รอช้า เปิดตัวเว็บไซต์สำหรับประชาชนทั่วไปเสนอชื่อเข้ามาและคัดเลือกเพื่อเป็นตัวแทนจากประเทศไทยในกิจกรรมนี้

เฟ้นหาชื่อไทย


สมาคมดาราศาสตร์ไทยได้เริ่มกิจกรรม #NameExoWorldsTH ตั้งแต่วันที่ พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 – 23 มกราคม พ.ศ. 2558 โดยเปิดเว็บไซต์ที่ http://thaiastro.nectec.or.th/NameExoWorlds และให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งด้วยการเสนอชื่อ หลังจากนั้นก็รวบรวมชื่อที่มีการเสนอมาทั้งหมดได้ 240 ชื่อ โดยมีทั้งชื่อที่เป็นคำไทยผสมแท้ คำไทยผสมกับภาษาอื่น คำไพรัชภาค ชื่อพันธุ์พืช ชื่อจากวรรณคดี ชื่ออาหาร หรือแม้กระทั่งสัญลักษณ์ ตัวอย่างชื่อที่ส่งมาได้แก่ อิสรลักษณ์ สยามฤกษ์ ตะเภาแก้ว กัลปพฤกษ์ ข้าวสวย ยิ้ม เป็นต้น หลังจากคัดไปคัดมา ตัดชื่อที่ส่งมาเล่น หรือชื่อที่เหตุผลไม่เพียงพอที่จะเสนอไปออก ก็เหลือ 73 ชื่อที่เหมาะสมกับการแข่งขันในระดับเวทีโลก

เฟ้นหาดาว


หลังจากได้ชื่อ 73 ชื่อมาแล้ว ทีมงานก็มานั่งหาดาวดวงเด่นจาก 20 ดวงเพื่อจะตั้งชื่อ เพราะทางสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลบอกไว้ว่า องค์กรส่งได้เพียง ชื่อเท่านั้น เราเลยต้องมาคัดว่าดาวดวงนี้เหมาะสมที่สุด โดยเกณฑ์ที่ตั้งไว้ก็คือ

ต้องมองเห็นจากประเทศไทย ในฤดูหนาว
สว่างพอที่มองเห็นด้วยตาเปล่า
เชื่อมโยงระหว่างชื่อกับดาวได้

หลังจากคัดกันไปคัดกันมาด้วยความเข้มข้น เราก็ได้ดาวดวงเด็ดพระเอกของเรา ซึ่งก็คือเจ้า 47 หมีใหญ่ (47 Ursae Majoris) นั่นเอง นอกจาก 47 หมีใหญ่จะเข้าเกณฑ์ข้างต้นแล้ว เรายังสามารถสังเกตจากประเทศไทยได้ตลอดทั้งปีเลยด้วย (ยกเว้นช่วงกลางเดือนถึงปลายเดือนกันยายน)

หาชื่อให้ดาว


พอเราได้เจ้า 47 หมีใหญ่มาเป็นดาวที่เราจะตั้งชื่อแล้ว เราก็กลับไปมองรายชื่อทั้ง 73 รายชื่อนั้น และก็สะดุดตากับชื่อ ตะเภาแก้ว ซึ่งเสนอโดย เด็กหญิงศกลวรรณ ตระการรังสี ด้วยเหตุผลที่ว่า

ชื่อตะเภาแก้ว อยู่ในวรรณคดีเรื่องไกรทอง ซึ่งเกี่ยวกับชาละวันที่เป็นจระเข้คู่ปรับ
ชาละวันเป็นจระเข้ และคนไทยก็มองกลุ่มดาวหมีใหญ่เป็นดาวจระเข้เหมือนกัน
ชื่อตัวละครจากวรรณคดีเรื่องนี้อ่านไม่ยากเกินไปสำหรับชาวต่างชาติ

ทีมงานจึงตบเข่าดังป๊าบ ตกลงกันว่าชื่อนี้แหละเหมาะสมที่สุดแล้ว แต่คราวนี้ระบบดาว 47 หมีใหญ่มันมีตั้ง ดวง แล้วอีก ดวงจะตั้งว่าอะไรดี เพราะทางสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลบอกว่า ถ้าจะตั้ง ก็ต้องตั้งให้ครบ ให้เข้ากันด้วย เราจึงคิดว่างั้นเอาตัวละครอื่นมาด้วยกันเลยสิ จึงเอาชื่อชาละวัน และตะเภาทองผู้พี่มาอยู่ในระบบด้วย

ไกรทองหายไปไหน?


ท่านผู้อ่านคงมีความสงสัยว่าแล้วทำไมไกรทองพระเอกเรื่องไม่ถูกเลือกไปเป็นชื่อดาวล่ะ? เป็นเพราะว่าชาละวันเป็นจระเข้ และกลุ่มดาวหมีใหญ่ก็คือดาวจระเข้สำหรับคนไทย ดังนั้นถ้าเราตั้งไปว่าไกรทอง คนทั่วไปก็จะงงเอาได้ว่า อ้าว ทำไมดาวจระเข้ เกี่ยวกับตำนานจระเข้ แต่ไม่เอาชื่อจระเข้มาตั้งล่ะ

นิทานเรื่องไกรทอง ที่ไม่มีไกรทอง


ไกรทองเป็นนิทานพื้นบ้านภาคกลาง เนื้อเรื่องเป็นเรื่องที่จังหวัดพิจิตร โดยมีเนื้อเรื่องอย่างย่อดังนี้

พญาชาละวันเป็นจระเข้ขนาดใหญ่อาศัยอยู่ในถ้ำใต้น้ำ ในถ้ำนั้นมีแก้ววิเศษที่บันดาลให้จระเข้ที่เข้าไปในถ้ำกลายร่างเป็นมนุษย์ วันหนึ่งพญาชาละวันออกหาเหยื่อ พอดีนางตะเภาทองกับนางตะเภาแก้ว ลูกสาวแฝดของเศรษฐีเมืองพิจิตรไปเล่นน้ำ พญาชาละวันเห็นนางตะเภาทองก็ชอบใจ ว่ายไปคาบนางลงสู่ถ้ำใต้น้ำเป็นคู่ครอง ฝ่ายเศรษฐีจึงจ้างหมอจระเข้มาจับพญาชาละวัน แต่พญาชาละวันมีเขี้ยวแก้วกายสิทธิ์ อาวุธฟันแทงไม่เข้า หมอจระเข้ที่ไปจับถูกพญาชาละวันฆ่าตายหมด จนเศรษฐีประกาศว่าจะยกนางตะเภาแก้วและทรัพย์สมบัติครึ่งหนึ่งให้แก่คนที่ปราบพญาชาละวันได้

คนที่มารับอาสาคือไกรทอง คนนนทบุรีที่ไปค้าขายในเมืองพิจิตร เป็นคนมีวิชาและมีหอกสัตโลหะที่แทงพญาชาละวันได้ ไกรทองทำพิธีเรียกพญาชาละวันขึ้นมาต่อสู้ด้วย พญาชาละวันสู้ไม่ได้จึงหนีเข้าถ้ำ ไกรทองตามไปจับตัวได้ และพานางตะเภาทองกลับมาคืนเศรษฐีสำเร็จ พญาชาละวันถูกหอกสัตโลหะแทงตาย ส่วนเศรษฐีก็ทำตามสัญญา ยกนางตะเภาแก้วกับสมบัติให้ไกรทองครึ่งหนึ่ง และเพราะไกรทองช่วยนางตะเภาทองกลับมาได้ เศรษฐีจึงยกนางตะเภาทองให้ไกรทองด้วย


47 หมีใหญ่


ชาละวัน (47 หมีใหญ่)ดวงอาทิตย์
ระยะห่างจากโลก45.9 ปีแสงหน่วยดาราศาสตร์
434,250,000,000,000 กิโลเมตร (สี่ร้อยสามสิบสี่ล้านสองแสนห้าหมื่นล้าน)149,597,870.7 กิโลเมตร
โชติมาตรปรากฏ+5.1-26.74
โชติมาตรสัมบูรณ์+4.3+4.83
สเปกตรัมG0VG2V
สีเหลืองเหลือง
อุณหภูมิ5,900 เคลวิน5,778 เคลวิน
มวล1.1 เท่าของมวลดวงอาทิตย์เท่าของมวลดวงอาทิตย์


47 หมีใหญ่ บี และ ซี


ตะเภาทอง (47 หมีใหญ่ บี)ตะเภาแก้ว (47 หมีใหญ่ ซี)โลก
มวล (เท่าของโลก)804.1171.61
คาบการโคจร (วันโลก)1,0782,391365.25
ระยะกึ่งแกนเอก (หน่วยดาราศาสตร์)2.13.61


โหวต


ตั้งแต่ที่ทางสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลเริ่มให้ทำการโหวต สมาคมดาราศาสตร์ไทยก็ได้เดินหน้าประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะทางแฟนเพจบนเฟซบุ๊คของสมาคมดาราศาสตร์ไทย หรือจะทางสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ โดยได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยจากพลังการโหวตของคนไทยทำให้ชื่อ ชาละวัน ได้รับการโหวตเป็นชื่อสามัญให้ดาว 47 หมีใหญ่

ชื่อภาษาไทยอื่น ๆ ในอวกาศ


นอกจากชื่อดาวภาษาไทยแล้ว ยังมีชื่อวัตถุ สถานที่บนท้องฟ้าอีกเช่นกัน เช่น ชื่อหลุมอุกกาบาตบนดาวอังคาร กันตัง (Kantang) ซึ่งเป็นชื่ออำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ดาวเคราะห์น้อย 151834 มงกุฎ (151834 Mongkut) ซึ่งตั้งชื่อตามพระนามของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เจ้าอยู่หัว และตอนนี้ก็มีดาวฤกษ์ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นมีชื่อสามัญเป็นภาษาไทยแล้ว

ต่อไปนี้คนไทยก็จะมีชื่อภาษาไทยอีกชื่อบนทางฟ้า หวังว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้หลาย ๆ คนหันมาสนใจดาราศาสตร์ และผมก็หวังว่าทุกคนจะหันมาทางดาวจระเข้และชี้ว่า “นั่นไง ชาละวัน”

ขอให้สนุกกับการดูดาวครับ


บทความนี้เป็นงานเขียนของสมาคมดาราศาสตร์ไทย หากท่านต้องการนำไปใช้ กรุณาใส่ที่มาพร้อมยังลิงก์กลับมาที่หน้านี้ด้วย