สมาคมดาราศาสตร์ไทย

โศกนาฏกรรม ยานขนส่งอวกาศโคลัมเบีย

1 มีนาคม 2546 โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 1 กุมภาพันธ์ 2566
เช้าวันที่ กุมภาพันธ์ 2546 เวลา 9.00 น. ตามเวลาตะวันออกของสหรัฐฯ ยานขนส่งอวกาศโคลัมเบียขององค์การนาซา ต้องพบกับอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงที่สุดอย่างไม่คาดคิด ด้วยการระเบิดเป็นลูกไฟพวยพุ่งเหนือท้องฟ้าของสหรัฐฯ ขณะกำลังเดินทางกลับสู่พื้นโลก อุบัติเหตุครั้งนี้คร่าชีวิตนักบิน คน ซึ่งมีนักบินชาวอิสราเอลหนึ่งคนรวมอยู่ด้วย ยานขนส่งอวกาศโคลัมเบียระเบิดเมื่อเวลา 16 นาทีก่อนที่จะได้ร่อนลงจอดที่ศูนย์อวกาศเคเนดีในฟลอริดาตามกำหนดการ โคลัมเบียเพิ่งจะกลับจากการปฏิบัติภารกิจในวงโคจรรอบโลกเป็นเวลานาน 16 วัน ซึ่งมีเป้าหมายในการทดลองทางวิทยาศาสตร์หลายสิบรายการ นักบินอวกาศบนยานขนส่งอวกาศโคลัมเบียประกอบด้วย ผู้บังคับการริค ฮัสแบนด์ นักบินนำร่องวิลเลียม แม็คคูล ผู้เชี่ยวชาญภารกิจ เดฟ บราวน์ คาลพานา ชอว์ลา ลอเรล คลาร์ค ผู้บังคับการสัมภาระ ไมค์ แอนเดอร์สัน และผู้เชี่ยวชาญสัมภาระ อิลาน รามอน ชาวอิสราเอล อุบัติเหตุในครั้งนี้ นับเป็นการสูญเสียนักบินอวกาศระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นครั้งแรกนับจากการระเบิดของยานขนส่งอวกาศชาลเลนเจอร์ในปี 2529

ยานขนส่งอวกาศโคลัมเบียทะยานขึ้นจากฐานเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2546 

ก่อนที่สัญญาณสื่อสารระหว่างยานขนส่งอวกาศกับสถานีควบคุมภาคพื้นดินจะตัดขาดจากกันนั้น นักบินในยานและศูนย์ควบคุมได้รับสัญญาณเตือนเกี่ยวกับสิ่งผิดปกติในปีกซ้ายของยาน ขณะนั้นยานขนส่งอวกาศอยู่สูง 207,135 ฟิตจากพื้นดิน และกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 12,500 ไมล์ต่อชั่วโมง หน่วยสื่อสารของศูนย์ควบคุมพยายามติดต่อกับนักบินเกี่ยวกับสัญญาณเตือนดังกล่าว ซึ่งปรากฏว่าสัญญาณจากนักบินเริ่มขาดหายไปในเวลานี้ เจ้าหน้าที่ของนาซาระบุว่า อุปกรณ์ตรวจวัดและบันทึกอุณหภูมิในระบบไฮดรอลิกหยุดทำงานเมื่อเวลา 8.53 น. โดยที่อุณหภูมิในเกียร์ลงจอดเริ่มสูงขึ้น เวลา 8.58 น. อุปกรณ์ตรวจวัดและบันทึกอุณหภูมิในปีกซ้ายซึ่งฝังอยู่ในโครงสร้างของยานหยุดทำงานอย่างฉับพลัน จากนั้นเวลา 8.59 น. อุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิและแรงดันในยางทั้งสองของเกียร์ลงจอดหลักก็หยุดทำงานเช่นกัน ตลอดช่วงเวลานี้ยานขนส่งอวกาศเคลื่อนผ่านบรรยากาศชั้นบนด้วยความเร็ว 18 เท่าของความเร็วเสียง ขณะที่มีสัญญาณเตือนเกี่ยวกับความผิดปกติเหล่านี้ในห้องนักบินด้วย


นักบินอวกาศทั้งเจ็ดของยานขนส่งอวกาศโคลัมเบีย
 สาเหตุของการระเบิด 


สาเหตุของการระเบิด


ไม่ว่าสาเหตุในการระเบิดของยานโคลัมเบียจะเป็นอะไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นคือ อุณภูมิด้านซ้ายของยานเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ยานสูญเสียสมดุลในระบบแอโรไดนามิก จนระบบการบินอัตโนมัติสั่งให้มีการจุดจรวดเพื่อปรับวิถีของยาน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถควบคุมได้จนนำไปสู่การระเบิดในที่สุด นับถึงบัดนี้ สาเหตุของอุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับยานโคลัมเบียยังคงเป็นปริศนา และอยู่ในระหว่างการสืบสวนและวิเคราะห์ของนาซา ภาพวิดีโอในการส่งยานเมื่อวันที่ 16 มกราคม เมื่อเวลา 81 วินาทีหลังจากขึ้นจากฐานส่ง มีชิ้นส่วนของโฟมที่เป็นฉนวนหุ้มถังเชื้อเพลิงภายนอกได้หลุดออกมาปะทะกับกระเบื้องกันความร้อนที่อยู่ทางด้านล่างของปีกซ้ายของยานขนส่งอวกาศโคลัมเบีย แต่เหตุการณ์นี้อาจไม่ใช่สาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดกับโคลัมเบียก็ได้ เนื่องจากเคยมีเหตุการณ์ทำนองนี้กับยานขนส่งอวกาศแอตแลนติสเมื่อเดือนตุลาคม 2545 ซึ่งไม่ได้เกิดความผิดปกติใดๆ ซึ่งต่อมาวิศวกรของนาซาออกมาให้ความเห็นสนับสนุนว่า จากการวิเคราะห์น้ำหนักของโฟม ความเร็ว และมุมชนที่ดูจากภาพเคลื่อนไหวแล้ว เหตุการณ์นี้ไม่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแต่อย่างใด ขณะที่รายงานล่าสุดระบุว่าภาพถ่ายความละเอียดสูงจากฐานทัพอากาศที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ที่ถ่ายภาพยานขณะผ่านเหนือน่านฟ้า ซึ่งเป็นเวลา 60 วินาทีก่อนหน้าที่ยานโคลัมเบียจะระเบิดแสดงว่าปีกซ้ายได้รับความเสียหายอย่างมาก นอกเหนือจากสาเหตุหลักที่ได้รับความสนใจมากที่สุดดังกล่าวแล้ว สาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ คือ ยานโคลัมเบียเคลื่อนเข้าสู่บรรยากาศในมุมที่ผิดปกติ ทำให้ยานมีความร้อนสูงเกินขีดจำกัด นอกจากนี้ยังมีความเห็นว่ายานอาจเสียหายจากการชนของสะเก็ดดาวหรือขยะอวกาศ โดยที่นาซากำลังติดตามเก็บเศษซากของยานที่ตกลงในสหรัฐฯ และหวังว่าชิ้นส่วนเหล่านี้จะนำมาสู่หลักฐานที่ชี้ไปถึงสาเหตุของการระเบิดที่แท้จริงได้

ภาพจากวิดีโอเมื่อวันที่ 16 มกราคม แสดงว่าโฟมหุ้มถังเชื้อเพลิงภายนอกหลุดมากระแทกกับปีกซ้ายของยานขนส่งอวกาศโคลัมเบีย 

เหตุใดจึงต้องส่งมนุษย์ไปในอวกาศ?


สามวันหลังจากหายนะของยานขนส่งอวกาศโคลัมเบียและความตายของนักบินอวกาศทั้งเจ็ด นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักการเมืองกำลังตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้น? ทำไมไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้น? เราสามารถป้องกันได้หรือไม่? ขณะที่ประชาชนบางส่วนอาจตั้งคำถามอีกแบบหนึ่งว่า พวกเขาขึ้นไปทำอะไรในอวกาศ? อเมริกาใช้งบประมาณมหาศาลในการส่งนักบินอวกาศไปยังที่ๆ ไม่คุ้นเคยและเสี่ยงต่ออันตราย นักวิทยาศาสต์อธิบายว่าพวกเขาออกไปเพื่อขยายองค์ความรู้ของพวกเรา ขณะที่นักวิจารณ์บางคนกล่าวว่า ในยุคที่มีดาวเทียมโคจรอยู่รอบโลกจำนวนมาก และเราสามารถส่งหุ่นยนต์ไปยังดาวอังคารได้แล้ว เหตุใดจึงต้องนำมนุษย์ออกไปเสี่ยงในอวกาศอีก อย่างไรก็ดี มีชาวอเมริกันเพียงส่วนน้อยที่ตั้งคำถามนี้ เพราะผลการสำรวจความเห็นของชาวอเมริกันหลังจากเกิดอุบัติเหตุกับยานโคลัมเบียพบว่า ร้อยละ 82 เห็นด้วยที่อเมริกาควรจะส่งมนุษย์ออกไปในอวกาศ ซึ่งใกล้เคียงกับผลสำรวจหลังจากการระเบิดของยานชาลเลนเจอร์เมื่อปี พ.ศ. 2529 ความจริงก็คือ ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ การสำรวจและการผจญภัยไปยังที่ๆ เราไม่เคยพบเห็นนั้นเป็นสิ่งที่เราทำเสมอมา นอกจากนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสหรัฐฯ ใช้ความก้าวหน้าทางด้านอวกาศ เพื่อแสดงศักยภาพและความยิ่งใหญ่ทางการเมือง รวมทั้งนโยบายระหว่างประเทศ นีล อาร์มสตรองและเอ็ดวิน อัลดรินบนยานอะพอลโล 11 ไม่ได้ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์เพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่เพื่อแสดงถึงชัยชนะในสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ กับอดีตสหภาพโซเวียต

ยานขนส่งอวกาศโคลัมเบีย


ยานขนส่งอวกาศโคลัมเบียเป็นยานขนส่งอวกาศที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของนาซา
การก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2518 จากนั้นโคลัมเบียกลายเป็นยานขนส่งอวกาศลำแรกที่ขึ้นปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศ
เที่ยวบินแรกเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2524 มีนักบินสองคน คือ จอห์น ยัง และโรเบิร์ต คริปเพน เป็นการเปิดศักราชใหม่ในการสำรวจอวกาศ
ยานขนส่งอวกาศโคลัมเบียเป็นอวกาศยานลำแรกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้
ในเที่ยวบินที่สอง พฤศจิกายน 2524 นักบินนำอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ขึ้นไปเป็นครั้งแรก และมีการทดสอบการใช้แขนหุ่นยนต์เป็นครั้งแรก
ก่อนหน้านี้ยานโคลัมเบียขึ้นบิน 27 เที่ยวบิน ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งหมด นอกเหนือจากโคลัมเบียแล้ว นาซามียานขนส่งอวกาศอีก ลำ คือ ชาลเลนเจอร์ ดิสคัฟเวอรี แอตแลนติส และเอนดีฟเวอร์
ปี พ.ศ. 2539 โคลัมเบียได้รับการบันทึกว่าเป็นยานขนส่งอวกาศที่ปฏิบัติงานในวงโคจรเป็นเวลานานที่สุดถึง 35 วัน

นักบินอวกาศที่เสียชีวิตในประวัติศาสตร์ของการสำรวจอวกาศ

27 มกราคม 2510 เวอร์จิล กริสซอม เอ็ดเวิร์ด ไวท์ และโรเจอร์ แชฟฟี เสียชีวิตเนื่องจากเกิดเพลิงไหม้ในยานบังคับการของอะพอลโล ขณะทำการทดสอบที่ศูนย์อวกาศเคเนดี
24 เมษายน 2510 วลาดิเมียร์ โคมารอฟ นักบินรัสเซียเสียชีวิตในยานโซยุส ขณะกลับสู่โลก
30 มิถุนายน 2514 กอร์กี โดโบรโวลสกี วลาดิสลาฟ วอลคอฟ และวิกเตอร์ แพตซาเยฟ เสียชีวิตขณะยานโซยุส 11 เข้าสู่บรรยากาศโลก เนื่องจากวาล์วปรับความดันในยานทำงานผิดพลาด
28 มกราคม 2529 ยานขนส่งอวกาศชาลเลนเจอร์ระเบิดหลังจากขึ้นจากฐาน 73 วินาที นักบินเจ็ดคนเสียชีวิต หนึ่งในนั้นคือ คริสตา แม็คคอลิฟฟ์ ครูคนแรกในอวกาศ นักบินอีก คน ได้แก่ ฟรานซิส สโคบี ไมเคิล สมิท เอลิสัน โอนิซุกะ จูดิท เรสนิก โรแนลด์ แม็คแนร์ และเกรกอรี จาร์วิส

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง


http://spaceflight.nasa.gov/
http://spaceflightnow.com/
http://www.space.com/
http://www.cnn.com/