สมาคมดาราศาสตร์ไทย

โศกนาฏกรรมอวกาศ

โศกนาฏกรรมอวกาศ

บันทึกความตายจากประวัติศาสตร์การเดินทางสู่ดวงดาว

24 พฤศจิกายน 2567 โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 5 ธันวาคม 2567
เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2504 ชาวโซเวียตชื่อ ยูริ กาการิน เป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ขึ้นสู่อวกาศและได้โคจรรอบโลก เหตุการณ์นั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งการเดินทางสู่อวกาศ หลังจากกาการินก็ตามมาด้วยคนที่สองที่สามต่อมาไม่ขาดสาย นับจนถึงปัจจุบัน (2567) มีมนุษย์ที่ได้เดินทางขึ้นสู่อวกาศแล้วไม่ต่ำกว่า 650 คน 

การเดินทางไปยังอวกาศเป็นการเดินทางที่อันตรายมาก เพราะต้องเกี่ยวข้องกับยานที่มีเชื้อเพลิงมหาศาล ความเร็วสูงมากในระดับหลายหมื่นกิโลเมตรต่อชั่วโมง ในตอนกลับสู่โลกก็กลับด้วยความเร็วสูงยิ่งกว่าขาขึ้น ต้องพบกับความร้อนสูงจนแม้แต่โลหะก็ยังต้องหลอมละลาย วิศวกรรมการบินอวกาศจึงมีความท้าทายอย่างมาก มีอุปสรรคหลายด้านที่ต้องเอาชนะ หากเกิดความผิดพลาดแม้เพียงน้อยนิด อาจหมายถึงชีวิตมนุษย์ต้องสูญเสียไป

ในเส้นทางของการบุกเบิกการเดินทางสู่อวกาศ มีเหล่าผู้กล้าที่ต้องสังเวยชีวิตไปในระหว่างการเดินทางไปแล้วถึง 21 คน คิดเป็น 3.23 เปอร์เซ็นต์ของมนุษย์ที่ได้ขึ้นสู่อวกาศทั้งหมด ถือว่าสูงที่สุดในบรรดาการเดินทางทุกรูปแบบ

ในปี 2510 ซึ่งอยู่ในช่วงที่สงครามชิงดวงจันทร์ของฝ่ายโซเวียตและสหรัฐอเมริกากำลังร้อนระอุ ฝ่ายโซเวียตได้ปิดโครงการวอสฮอดและเริ่มดำเนินโครงการโซยุซซึ่งจะเป็นยานที่ใช้ในการพาชาวโซเวียตไปดวงจันทร์ ส่วนสหรัฐอเมริกาก็ปิดโครงการเจมีนีและเริ่มต้นโครงการอะพอลโลซึ่งจะใช้ในการเดินทางไปดวงจันทร์เช่นกัน 

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2510 สหรัฐอเมริกาดำเนินการทดสอบระบบสื่อสารของมอดูลสั่งการที่จะใช้ในภารกิจอะพอลโล โดยมีลูกเรือสามคนอยู่ในยานด้วย ได้แก่ เวอร์จิล กริสซัมเอ็ดเวิร์ด ไวต์ และ รอเจอร์ แชฟฟี ระหว่างการทดสอบได้เกิดประกายไฟขึ้นในห้องนักบิน ทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ ออกซิเจนบริสุทธิ์ที่อยู่ในยานบวกกับวัสดุในยานที่ติดไฟได้ง่ายทำให้ไฟลุกลามไปอย่างรวดเร็ว ที่ร้ายที่สุดก็คือ ประตูของยานเป็นชนิดเปิดเข้า เมื่อเกิดเพลิงไหม้ ความดันที่เพิ่มขึ้นจากความร้อนภายในยานก็ดันให้ประตูปิดแน่นยิ่งขึ้น หมดโอกาสที่คนข้างในจะเปิดหนีออกมาได้ และเนื่องจากการทดสอบครั้งนี้ไม่มีการเติมเชื้อเพลิงขับดัน ทางผู้ควบคุมการทดสอบประเมินว่าเป็นการทดสอบที่ไม่มีความเสี่ยงเรื่องเพลิงไหม้ จึงไม่ได้เตรียมความพร้อมสำหรับกรณีเพลิงไหม้เอาไว้ เงื่อนไขทั้งหมดจึงกลายเป็นส่วนผสมมรณะที่คร่าชีวิตลูกเรือทั้งสาม 

ลูกเรืออะพอลโล  จากซ้ายไปขวา เอ็ดเวิร์ด ไวท์, เวอร์จิล กริสซัม, รอเจอร์ แชฟฟี (จาก NASA)


อีกเพียงสี่เดือนต่อมา ในวันที่  24 เมษายน โซเวียตได้ทดสอบการปล่อยยานโซยุซ ยานโซยุซลำแรกนี้ได้รับเกียรติจาก วลาดิมีร์ โคมารอฟ วีรบุรุษของชาติจากภารกิจวอสฮอด มาเป็นลูกเรือเพียงหนึ่งเดียว ยานโซยุซขึ้นสู่อวกาศและโคจรรอบโลกได้สำเร็จ แต่ประสบปัญหาต่าง ๆ มากมายตั้งแต่อยู่ในวงโคจร ทั้งการกางแผงเซลสุริยะ ระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร ระบบวัดความสูง แต่ปัญหาหนักที่สุดเกิดขึ้นในขากลับสู่โลก เมื่อร่มชูชีพของยานไม่กางออก การกลับสู่โลกของโซยุซ จึงเป็นการพุ่งกระแทกพื้น โคมารอฟเสียชีวิตทันที

วลาดิมีร์ โคมารอฟ 

การสูญเสียอีกครั้งของโซเวียตเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2514 และเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดของโซเวียต ภารกิจในครั้งนั้นเป็นการส่งมนุษย์อวกาศไปปฏิบัติงานบนสถานีซัลยุต   ยานโซยุซ 11 ออกเดินทางจากโลกไปเมื่อวันที่ มิถุนายน 2514 มนุษย์อวกาศสามคนในยานได้แก่ จีออร์กี โดโบรวอลสกีวลาดิสลัฟ วอลคอฟ และ วิคตอร์ ปัสซาเยฟ การเดินทางขาขึ้นและภารกิจในสถานีอวกาศประสบความสำเร็จด้วยดี จนกระทั่งถึงขากลับโลก สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น หลังจากที่ยานสลัดมอดูลโคจรและมอดูลบริการที่หมดประโยชน์แล้วออก วาล์วระบายอากาศในยานได้เปิดเอง ขณะนั้นยานยังอยู่สูงถึง 168 กิโลเมตรซึ่งอยู่นอกชั้นบรรยากาศ อากาศในยานจึงไหลออกยานทั้งหมด ยานลงจอดบนพื้นโลกได้อย่างสมบูรณ์เพราะเป็นระบบอัตโนมัต แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินเปิดประตูออก ลูกเรือทั้งสามก็หมดลมหายใจไปแล้ว สาเหตุการตายคือการตกเลือดภายในซึ่งเกิดจากการสูญเสียความดันอย่างเฉียบพลัน

ลูกเรือของโซยุซ 11   จีออร์กี โดโบรวอลสกี (หน้าซ้าย), วลาดิสลัฟ วอลคอฟ (ขวา) และ วิคตอร์ ปัสซาเยฟ (หลัง)
 


ความตายของลูกเรือในเที่ยวบินโซยุซ 11 ถือว่าเป็นเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่เป็นความตายที่เกิดขึ้นในอวกาศ เพราะเกิดขึ้นที่ระดับเหนือเส้นคาร์มันขึ้นไปมาก ซึ่งเป็นเส้นพรมแดนที่กั้นขอบเขตของบรรยากาศโลกกับอวกาศ ความตายในกรณีอื่นทั้งหมดล้วนแต่เกิดขึ้นในบรรยากาศโลกทั้งสิ้น

ความตายของลูกเรือของโซยุซ 11 ทำให้โซเวียตเปลี่ยนแปลงมาตรการความปลอดภัยเสียใหม่ ยานโซยุซถูกออกแบบใหม่เกือบทั้งลำ มนุษย์อวกาศในยานจะต้องสวมชุดอวกาศด้วย ซึ่งแต่ละชุดมีหน่วยจ่ายอากาศสำหรับหายใจเป็นของตัวเอง หากเกิดความเปลี่ยนแปลงความดันในยาน ลูกเรือจะได้ใช้อากาศของชุดแทน มาตรการใหม่นี้ทำให้เที่ยวบินโซยุซในช่วงถัดมาต้องลดจำนวนของลูกเรือเหลือเที่ยวละสองคนแทนสามคน เนื่องจากชุดอวกาศที่ใส่กินที่มากขึ้น 

หลังจากศึกชิงดวงจันทร์สิ้นสุดลงพร้อมกับความตึงเครียดของสงครามเย็นก็ค่อย ๆ คลี่คลาย โซเวียตมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีสถานีอวกาศ ส่วนสหรัฐอเมริกาก็หันไปเอาดีทางระบบขนส่งอวกาศด้วยโครงการกระสวยอวกาศ โครงการอวกาศของทั้งสองประเทศจึงไม่ได้อยู่ในภายใต้แรงกดดันจากฝ่ายการเมืองมากอย่างที่เคยเป็น นี่อาจเป็นเหตุที่ไม่มีอุบัติเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นเลยมาอีกเกือบยี่สิบปีนับจากเหตุการณ์ของโซยุซ 11  แต่แล้วฝันร้ายของการเดินทางสู่อวกาศก็กลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง

ในปี 2529 กระสวยอวกาศแชลเลนเจอร์เที่ยวบินเอสทีเอส-51 ได้ออกเดินทางขึ้นสู่อวกาศ เที่ยวบินนี้เป็นที่จับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีครูขึ้นไปสอนหนังสือทางไกลจากอวกาศด้วย นั่นคือ คริสตา แมคคอลีฟฟ์ แต่ครูคริสตาและเพื่อนลูกเรืออีกหกคนไปไม่ถึงอวกาศ หลังจากที่แชลเลนเจอร์ทะยานขึ้นจากพื้นได้เพียง 73 วินาที กระสวยก็ระเบิดกลายเป็นลูกไฟมหึมา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นขณะที่ยานยังสูงจากพื้นไม่มาก ใกล้พอที่ผู้คนนับหมื่นบนพื้นดินที่แหลมแคนาเวอรัลในวันนั้นจะเห็นภาพเหตุการณ์สยดสยองต่อหน้าต่อตา ยังไม่รวมถึงผู้คนอีกนับล้านที่เฝ้ามองการถ่ายทอดสดจากโทรทัศน์ที่บ้าน ภาพที่ติดตาผู้คนทั่วโลกมากที่สุดรองจากภาพการระเบิดก็คือ ภาพสีหน้าของพ่อแม่ของครูคริสตาที่อยู่ในกลุ่มผู้ชมที่แหลมแคนาเวอรัลในวันนั้นที่ต้องเห็นยานที่ลูกสาวตัวเองนั่งจมอยู่ในลูกไฟต่อหน้าต่อตา

ลูกเรือของเที่ยวบินเอสทีเอส-51 แอล ได้แก่ ฟรานซิส ริชาร์ด สกอบีไมเคิล เจ. สมิทโรนัลด์ แมกแนร์เอลลิสัน โอนิซูกะจูดิท เรสนิกเกรกอรี จาร์วิสคริสตา แมคคอลีฟฟ์

ลูกเรือของแชนเลนเจอร์ เที่ยวบิน เอสทีเอส-51 แอล แถวหลังจากซ้ายมาขวา  เอลลิสัน โอนิซูกะ, คริสตา แมคคอลีฟฟ์, เกรกอรี จาร์วิส, จูดิท เรสนิก แถวหน้าจากซ้ายมาขวา ไมเคิล เจ. สมิท, ฟรานซิส ริชาร์ด สกอบี, โรนัลด์ แมกแนร์ 

อีก 17 ปีต่อมา หายนะก็มาเยือนโครงการกระสวยอวกาศอีกครั้ง ในวันที่ กุมภาพันธ์ 2546 กระสวยอวกาศโคลัมเบียเที่ยวบินที่เอสทีเอส-107 กลับมาจากการปฏิบัติภารกิจนาน 16 วันในอวกาศ ขณะที่ยานโคจรกำลังฝ่าบรรยากาศเข้ามายังพื้นโลก ภาพสัญญาณโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดสดจากยานแสดงบรรยากาศภายในห้องนักบินที่แสดงสีหน้าเบิกบานของลูกเรือที่กำลังตื่นตากับแสงพลาสมาสีส้มนอกหน้าต่างที่เกิดจากความร้อนสูงของการปะทะบรรยากาศโลก แต่จู่ ๆ ภาพจากการถ่ายทอดจากยานก็หายวับไปพร้อมกับการสื่อสารทางวิทยุกับศูนย์ควบคุมการบิน ขณะที่เจ้าหน้าที่ควบคุมการบินยังสับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผู้คนข้างนอกที่อยู่ใกล้ชายฝั่งตะวันออกก็ได้คำตอบ เมื่อเขาเห็นลูกไฟดวงมหึมาบนท้องฟ้าและแตกสลายออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย โคลัมเบียและลูกเรือทั้งเจ็ดคนมอดไหม้เป็นผุยผงไปแล้ว

ลูกเรือทั้งเจ็ดได้แก่ ริก ดี. ฮัสแบนด์วิลเลียม ซี. แมกคูลเดวิด เอ็ม. บราวน์กัลปนา ชวาลาไมเคิล พี. แอนเดอร์สันลอเรล บี. คลาร์ก และ อีลาน รามอน 

ลูกเรือของยานโคลัมเบียเที่ยวบิน เอสทีเอส-107 จากซ้ายมาขวา เดวิด เอ็ม. บราวน์, ริก ดี. ฮัสแบนด์, ลอเรล บี. คลาร์ก, กัลปนา ชวาลา, ไมเคิล พี. แอนเดอร์สัน, วิลเลียม ซี. แมกคูล, อีลาน รามอน  

ความสูญเสียกับยานโคลัมเบียเป็นครั้งสุดท้ายที่มีการเสียชีวิตในการเดินทางสู่อวกาศ รวมแล้วมีชีวิตคนต้องสูญเสียไปในการเดินทางสู่อวกาศมาแล้วถึง 21 คน 



สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ อุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาทและหลีกเลี่ยงได้ โซยุซ ถูกรีบนำขึ้นท้องฟ้าเพราะต้องการนำฝ่ายสหรัฐอเมริกา แรงกดดันจากฝ่ายการเมืองทำให้โซเวียตต้องรีบส่งโซยุซ ทั้งที่มีรายงานความบกพร่องหลายอย่าง อีกทั้งยังละเลยการทดสอบที่จำเป็น สุดท้ายก็ต้องจ่ายด้วยชีวิตของโคมารอฟ 

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับแชลเลนเจอร์ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่นาซาทำตามคำเตือนของผู้ผลิตโอริงที่จะไม่นำกระสวยขึ้นในภาวะหนาวจัด แต่นาซาเลือกที่จะรักษาหน้า ให้ความสำคัญกับเป้าหมายของภารกิจมากกว่าความปลอดภัยของลูกเรือ บวกกับมั่นใจเกินเหตุ จนยอมเสี่ยงนำกระสวยขึ้น ในวันนั้นอากาศที่ฟลอริดาหนาวจัดผิดปกติ โอริงในภาวะหนาวจัดจะเสื่อมคุณสมบัติ เมื่อมีการจุดจรวดในภาวะเช่นนั้น ทำให้เกิดเชื้อเพลิงรั่วที่รอยต่อที่โคนจรวดเชื้อเพลิงแข็ง ความผิดพลาดนี้ต้องจ่ายถึงเจ็ดชีวิต

กรณีของยานโคลัมเบียอาจซับซ้อนกว่า สาเหตุหลักของหายนะเกิดจากจุดอ่อนในการออกแบบเองที่ยานโคจรต้องเปิดเผยส่วนใต้ยานที่แสนเปราะบาง เปิดโอกาสให้ถูกทำลายเสียหายได้ง่าย การที่กระสวยอวกาศประสบความสำเร็จต่อเนื่องมาหลายเที่ยวบินโดยไม่มีเหตุร้ายแรงก็ถือว่ามีเรื่องโชคช่วยส่วนหนึ่ง ในขณะที่โคลัมเบียขึ้นสู่อวกาศ มีชิ้นส่วนโฟมชิ้นใหญ่ที่เคลือบถังเชื้อเพลิงภายนอกหลุดมากระแทกปีกด้านซ้ายจนมีรอยแตกเป็นรูโหว่ รูรั่วนี้ไม่ก่อปัญหาในขาขึ้น แต่ในขากลับ อากาศร้อนจัดได้รั่วไหลเข้าไปในปีกและทำลายยานจนแหลกสลาย อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะยังไม่ใช่คำสั่งประหารเสียทีเดียว สิ่งที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกเรือต้องจบชีวิตคือการตัดสินใจของนาซา โดยเฉพาะการเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบแผลถูกชน หากผู้บริหารของนาซายอมลดอัตตาลงบ้าง ฟังวิศวกรบ้าง ยอมให้มีการตรวจสอบความเสียหาย วิศวกรก็จะมีโอกาสประเมินสถานการณ์และหาทางแก้ได้ ลูกเรืออาจมีโอกาสได้ซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย หรือแม้แต่การดำเนินภารกิจกู้ชีพโดยกระสวยอวกาศลำอื่นก็ทำได้ แต่นาซาหน้าใหญ่เลือกหนทางอื่น ลูกเรือทั้งเจ็ดจึงต้องกลับบ้านแบบไม่มีลมหายใจ เป็นอีกเจ็ดชีวิตที่ต้องเซ่นสังเวยให้แก่สิ่งที่ผู้สอบสวนเรียกว่า "วัฒนธรรมนาซา"

"ฟอลเลนแอสโทรนอต" ตุ๊กตาอะลูมินัมรูปมนุษย์อวกาศและแผ่นอะลูมินัม วางอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์โดยลูกเรือของอะพอลโล 15 เพื่อเป็นการไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตในโครงการอวกาศ  แผ่นอะลูมินัมจารึกชื่อมนุษย์อวกาศ 14 คนที่ได้เสียชีวิตไปแล้วในขณะนั้น รายชื่อมีทั้งชาวอเมริกันและโซเวียต ทั้งที่เสียชีวิตในภารกิจและนอกภารกิจ
 


ปัจจุบัน เราได้เข้าสู่ยุคทองของการเดินทางในอวกาศ ประเทศที่เข้ามาร่วมในสมรภูมิอวกาศไม่ได้มีแค่สองมหาอำนาจยักษ์ใหญ่อีกต่อไป ยังมีจีน อินเดีย อิสราเอล และอีกหลายประเทศ นอกจากนี้ยังมีบริษัทเอกชนอีกนับสิบที่เข้าร่วมสมรภูมิอวกาศด้วย ไม่ใช่สมรภูมิรบราฆ่าฟัน แต่เป็นสมรภูมิการท่องอวกาศ ในอนาคตอันใกล้ เราอาจเห็นมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศทุกเดือนหรือทุกสัปดาห์ สิ่งที่เห็นในภาพยนต์ไซไฟอาจกลายเป็นความจริงในไม่ช้า

หวังเพียงว่า พวกเขาจะไม่ลืมบทเรียนที่ต้องแลกมาด้วยชีวิต 21 ชีวิต

ขอให้การสูญเสียที่เกิดกับยานโคลัมเบียเป็นครั้งสุดท้าย

อ่านเพิ่มเติม

 How many astronauts have died in space?
 List of spaceflight-related accidents and incidents
 How many people have died in space?
 Has anyone ever died in space?