สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สุริยุปราคาเต็มดวง: 21 มิถุนายน 2544

2 มิถุนายน 2544 โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 5 มกราคม 2560

วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน 2544 เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง มองเห็นได้จากพื้นที่ภายในเส้นทางแคบๆ ที่พาดผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ ทวีปแอฟริกา และบางส่วนของมหาสมุทรอินเดีย เงามืดของดวงจันทร์เริ่มสัมผัสผิวโลกในมหาสมุทรแอตแลนติก ขึ้นฝั่งที่แองโกลา พาดผ่านซิมบับเว แซมเบีย โมแซมบิก และมาดากาสการ์ สุริยุปราคาบางส่วนครอบคลุมถึงบางส่วนของอเมริกาใต้ และส่วนใหญ่ของทวีปแอฟริกา จุดที่มองเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงนานที่สุดอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกทางทิศตะวันตกของทวีปแอฟริกา ด้วยระยะเวลานาน นาที 56 วินาที

ภาพวิดีโอสุริยุปราคาเต็มดวง


สุริยุปราคาเต็มดวงในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์แหวนเพชร  

เงาของดวงจันทร์จากภาพถ่ายดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาของ EUMETSAT  

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงเงาของดวงจันทร์ที่ตกลงบนผิวโลกขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง 21 มิถุนายน 2544 Copyright 2001 EUMETSAT 

ภาพชุดสุริยุปราคาเต็มดวง 21 มิถุนายน 2544


ไม่กี่วินาทีก่อนที่ดวงอาทิตย์จะหายไปเบื้องหลังดวงจันทร์ ส่วนสว่างของดวงอาทิตย์ปรากฏให้เห็นเป็นปรากฏการณ์แหวนเพชร โดยมีคอโรนาส่องแสงสลัวๆ อยู่รอบๆ ตัวดวง ด้านบนที่เป็นสีชมพู คือ โพรมิเนนซ์หรือเปลวสุริยะ จอห์นนี ฮอร์น ถ่ายภาพนี้ด้วยกล้องถ่ายภาพดิจิตอล Nikon Coolpix 990 เลนส์ 700 มม. (Sky&Telescope/Johnny Horne) 
คอโรนา บรรยากาศชั้นนอกที่มีอุณหภูมิสูงของดวงอาทิตย์ แสดงเส้นสายที่ไม่สม่ำเสมอ ลักษณะของคอโรนาที่แผ่ออกไปรอบทั้งดวงและปราศจากคอโรนาที่ยืดยาวออกไปในแนวศูนย์สูตร เป็นลักษณะของคอโรนาในช่วงที่ดวงอาทิตย์มีปฏิกิริยารุนแรงสูงสุด (Sky&Telescope/Johnny Horne) 
โพรมิเนนซ์ที่ขอบดวงเกิดขึ้นในบริเวณกัมมันต์ของดวงอาทิตย์ (Sky&Telescope/Dennis di Cicco) 
ภาพถ่ายที่ใช้เวลาเปิดหน้ากล้องไม่นาน ถ่ายผ่านฟิลเตอร์ที่จับภาพการแผ่แสงเขียวจากไอออนของเหล็กที่มีอุณหภูมิสูงมาก เจ พาซาชอฟฟ์ นักดาราศาสตร์ด้านดวงอาทิตย์และทีมของเขาสามารถบันทึกภาพรายละเอียดสูงของคอโรนาชั้นในนี้ได้ (Sky&Telescope/Jay Pasachoff) 
ภาพถ่ายสุริยุปราคาในขั้นตอนต่างๆ ตามลำดับจากขวาไปซ้ายและบนลงล่าง ถ่ายจากมาวูราโดนาฮิลส์ ห่างจากเมืองฮาแรไปทางเหนือประมาณ 150 กิโลเมตร ภาพ ภาพแรกถ่ายผ่านแผ่นกรองแสง อีกสองภาพไม่ใช้แผ่นกรองแสง (REUTERS/Howard Burditt) 
ปรากฏการณ์แหวนเพชร (Diamond ring effect) เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่ดวงจันทร์กำลังจะบังดวงอาทิตย์มิดหมดดวง (REUTERS/Howard Burditt) 
แสงอาทิตย์ส่องออกมาเบื้องหลังดวงจันทร์ขณะเกิดปรากฏการณ์แหวนเพชร ในช่วงที่สิ้นสุดคราสเต็มดวงที่ลูซาคา ประเทศแซมเบีย นักท่องเที่ยวหลายพันคนจากทั่วโลกเดินทางไปดูสุริยุปราคาครั้งนี้ในตอนใต้ของแอฟริกา (AP Photo/Themba Hadebe)  
ประชาชนในเมืองเซนต์พอล ของเกาะลารูเนียนในมหาสมุทรอินเดีย กำลังดูสุริยุปราคาบางส่วนด้วยแว่นดูสุริยุปราคา (REUTERS/Richard Bouhet) 
เด็กๆ ชาวซิมบับเวในมาวูราโดนาฮิลส์ กำลังดูคราสบางส่วน ไม่นานก่อนที่จะเกิดเป็นคราสเต็มดวง (REUTERS/Howard Burditt) 
เด็กนักเรียนชาวซิมบับเวเข้าแถวรอดูสุริยุปราคาด้วยแว่นกรองแสงที่มีจำนวนจำกัด (REUTERS/Howard Burditt) 

เวลาและเส้นทางการเกิดสุริยุปราคา

สุริยุปราคาเต็มดวงเริ่มต้นขึ้นเมื่อเงามืดของดวงจันทร์สัมผัสผิวโลกในบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ ห่างจากอุรุกวัยประมาณ 400 กิโลเมตร ซึ่งเกิดขึ้น ณ เวลา 17.36 น. ตามเวลาในประเทศไทย ระหว่างสองชั่วโมงถัดมา เงามืดของดวงจันทร์เคลื่อนไปทางทิศตะวันออก จนถึงเวลา 19.04 น. จึงไปถึงจุดที่มองเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงนานที่สุดภายในเส้นทาง โดยเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงด้วยระยะเวลานาน นาที 56 วินาที ขณะนี้เงามืดมีความกว้าง 200 กิโลเมตร จากนั้นเงามืดเคลื่อนต่อไปจนแตะพื้นผิวโลกที่เป็นพื้นดินบริเวณชายฝั่งประเทศแองโกลาในเวลา 19.36 น. ผู้สังเกตบริเวณกึ่งกลางของเส้นทางจะเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงนาน นาที 36 วินาที จากนั้นเวลาประมาณ 19.57 น. จึงเข้าสู่แซมเบีย ผ่านเมืองหลวงลูซาคา แล้วเคลื่อนต่อไปยังซิมบับเวและโมแซมบิก ก่อนที่จะลงสู่มหาสมุทรอินเดียในเวลาประมาณ 20.20 น. พร้อมกับพาดผ่านมาดากาสการ์ จนเงามืดของดวงจันทร์หลุดออกจากผิวโลกในเวลา 20.32 น. รวมเวลาที่เงามืดผ่านผิวโลกนาน ชั่วโมง 54 นาที เป็นเส้นทางยาวประมาณ 12,000 กิโลเมตร