สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สีดาวเคราะห์ในนาฬิกาคอลเล็กชัน ไบโอเซรามิกมูนสวอตช์

สีดาวเคราะห์ในนาฬิกาคอลเล็กชัน ไบโอเซรามิกมูนสวอตช์

26 มีนาคม 2565 โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 22 พฤษภาคม 2565
เมื่อสวอตช์ และ โอเมกา ผู้ผลิตนาฬิกาชื่อดังของโลกจับมือกันวางจำหน่ายนาฬิกาข้อมือคอลเล็กชันใหม่ชื่อ ไบโอเซรามิกมูนสวอตช์ (Bioceramic Moonswatch Collection) โดยประกาศวางขายในวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ก็ทำให้ผู้นิยมหลงใหลในนาฬิกาต่างแห่กันไปเข้าคิวยาวเหยียดข้ามวันข้ามคืนราวกับจะมีงานทิ้งกระจาดหน้าห้างเลยทีเดียว 

นาฬิกาในคอลเล็กชันนี้มี 11 เรือน แต่ละเรือนออกแบบให้มีสีสันสอดคล้องกับดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ (แถมดวงจันทร์และดวงอาทิตย์) ตรงกับคำขวัญของคอลเล็กชันว่า "เอื้อมไปให้ถึงดาวเคราะห์" และที่ด้านใต้เรือนมีรูปของดาวเคราะห์อยู่ด้วย


นาฬิกาคอลเล็กชันไบโอเซรามิกมูนสวอตช์ 

นาฬิกาคอลเล็กชันนี้มีวางขายที่ไหน ขายเรือนละเท่าไหร่ ไม่ใช่เรื่องที่เราจะมาเล่ากัน แต่เรื่องที่อยากมาชวนคุยก็คือเรื่อง สี ของนาฬิกาแต่ละเรือนที่สื่อถึงดาวแต่ละดวง

เริ่มกันที่รุ่น มิชชันทูเดอะซัน มีสีเหลืองทองอร่าม สีนี้ตรงกับสีจริงของดวงอาทิตย์ไหมนะ? จะว่าไปก็นับว่าตรงอยู่ เพราะหากเราแหงนมองดูดวงอาทิตย์ตอนกลางวันโดยผ่านแผ่นกรองแสงที่ไม่ย้อมสี จะเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีเหลืองอ่อน 

แต่เชื่อไหมเล่าว่า นั่นไม่ใช่สีจริงของดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์เมื่อมองจากพื้นโลกจะมีสีอมเหลืองเนื่องจากการกระเจิงของแสงในบรรยากาศ ดังที่ทราบกันดีว่า แสงอาทิตย์มีองค์ประกอบครบทุกสีตามสีของรุ้งกินน้ำซึ่งสีทั้งหมดเมื่อรวมกันจะกลายเป็นสีขาว แต่เมื่อแสงอาทิตย์ผ่านบรรยากาศโลก แสงที่มีความยาวคลื่นสั้น เช่นสีม่วง สีน้ำเงิน จะกระเจิงไปในบรรยากาศ (ซึ่งเป็นสาเหตุที่ท้องฟ้าเป็นสีฟ้า) สีของดวงอาทิตย์จึงมีสีออกไปทางเหลือง ยิ่งยามใกล้ขอบฟ้าซึ่งแสงอาทิตย์ต้องส่องผ่านชั้นบรรยากาศหนากว่าเวลาอื่น การกระเจิงแสงก็จะมากขึ้น สีดวงอาทิตย์ก็ขยับไปทางแดงมากขึ้นจนกลายเป็นสีส้มหรือแสด

ดังนั้นหากอยากทราบสีจริงของดวงอาทิตย์ ก็คงต้องขึ้นไปมองดวงอาทิตย์จากอวกาศ ปราศจากบรรยากาศโลกขวางกั้น ซึ่งสีของดวงอาทิตย์เมื่อมองจากเหนือชั้นบรรยากาศโลกคือ สีขาว 

มิชชันทูซัน ดวงอาทิตย์สีจริง (ผ่านแผ่นกรองแสง) (จาก Matúš Motlo)

รุ่นมิชชันทูเมอร์คิวรี มีสีเทาเข้ม ตรงกับสีของดาวพุธจริง ๆ เพราะพื้นผิวดาวพุธมีแต่ซิลิเกต จึงมีสีเทาทึม ๆ ทั้งดวง 

มิชชันทูเมอร์คิวรี กับ ดาวพุธสีจริง 

รุ่นมิชชันทูวีนัส เป็นตัวแทนดาวศุกร์ มีสีชมพูหวานแหวว เป็นรุ่นที่ทำมาเพื่อผู้หญิงใส่โดยเฉพาะ จึงมีหน้าปัดเล็กกว่าเรือนอื่นในคอลเล็กชัน แต่ดาวศุกร์ไม่ได้มีสีชมพูหรอกนะ ดาวศุกร์มีสีขาวอมเหลืองเล็กน้อย และสีนี้ก็ไม่ใช่สีของพื้นผิว แต่เป็นสีของเมฆบนดาวศุกร์ เป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นพื้นผิวดาวศุกร์ เพราะดาวเคราะห์ดวงนี้มีเมฆหนาทึบมาก เหตุที่นาฬิการุ่นนี้ทำเป็นสีชมพูโดยไม่สนใจสีจริงของดาวศุกร์ก็คงเพราะต้องการสื่อความเป็นผู้หญิงของวีนัส ซึ่งเป็นเทพีแห่งความรักของโรมันมากกว่าสื่อถึงสีจริงของดาวศุกร์ 

มิชชันทูวีนัส (ซ้าย) ดาวศุกร์สีจริง ถ่ายโดยยานแมสเซนเจอร์  (จาก NASA)

มิชชันทูเอิร์ธ เป็นตัวแทนโลก ดาวเคราะห์บ้านเรา มีสีเขียวอ่อนตัดกับหน้าปัดสีน้ำเงินเข้ม ก็ดูสวยดี แล้วก็สอดคล้องกับสีจริงของโลกด้วย เมื่อมองจากบรรยากาศจะเห็นสีน้ำเงินของมหาสมุทรมากกว่าส่วนสีเขียวของป่าไม้

มิชชันทูเอิร์ธ กับ โลกสีจริง (จาก planetary.org)

มิชชันทูมูน เป็นตัวแทนดวงจันทร์ของโลก มีสีเทาเรียบ ดูสุขุมและองอาจ สีนี้อาจทำให้คนชอบดวงจันทร์หลายคนผิดหวังที่ไม่ได้เห็นนาฬิกาสีเหลืองนวลตา แต่จงเชื่อเถิดว่า พื้นผิวดวงจันทร์ก็สีนี้ เป็นสีเทาจืด ๆ แทบไม่ต่างจากดาวพุธ นอกจากจะไร้สีสันแล้วยังเข้มพอ ๆ กับถนนราดยางอีกด้วย 

มิชชันทูมูน (ซ้าย) ภาพดวงจันทร์ที่มีโลกเป็นฉากหลัง ถ่ายโดย บิล แอนเดอรส์ จากยานอะพอลโล (จาก NASA)

มิชชันทูมาร์ส เป็นตัวแทนดาวอังคาร โดดเด่นกว่าใครด้วยสีแดงแจ๋จัดจ้าน ภาษาอังกฤษเรียกดาวอังคารว่า มาร์ส ซึ่งนำมาจากชื่อของเทพแห่งสงคราม ฉะนั้น อะไรที่เกี่ยวข้องกับดาวอังคารก็มักมีความหมายไปในทางความรุนแรง โชกเลือด สีแดงนี่แหละเหมาะที่สุดแล้ว 

และก็เป็นอีกครั้งที่สีของนาฬิกาไม่ตรงกับสีจริง แม้ดาวอังคารได้ชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์สีแดง และบนพื้นผิวดาวอังคารจะเต็มไปด้วยสนิมเหล็กซึ่งมีสีน้ำตาลแดง  แต่ดาวอังคารก็ไม่ได้มีสีแดง ดาวเคราะห์ดวงนี้มีสีออกไปทางส้มหรือเหลืองเสียมากกว่า 

เรื่องควรทราบอย่างหนึ่งเมื่อมองดูภาพถ่ายดาวเคราะห์ตามสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ โปสเตอร์ หรือภาพในเว็บไซต์ หลายภาพที่เราเห็นนั้น เป็นภาพที่ผ่านการปรุงแต่งมาแล้ว ไม่ว่าเป็นการเร่งความอิ่มสีเพื่อให้ดูฉูดฉาดไม่จืดชืด การเร่งคอนทราสต์เพื่อเน้นรายละเอียดบางอย่าง หรืออาจเป็นการย้อมสีให้มีโทนสีเด่นไปทางใดทางหนึ่ง ดาวอังคารก็เป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่มักถูกย้อมสีให้แดงเกินจริงอยู่เสมอ เพื่อให้สื่อถึงความเป็นเทพมาร์ส การกระทำเช่นนี้อาจทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดไปได้ว่าดาวอังคารของจริงต้องแดง แม้แต่เมื่อมองดาวอังคารบนท้องฟ้าด้วยตาเปล่า ก็ยังบอกตัวเองว่านั่นดาวอังคารสีแดง ทั้งที่เมื่อพิจารณาสีจริง ๆ แล้วจะเห็นว่าดาวอังคารบนท้องฟ้ามีสีเหลืองส้ม ไม่ใช่แดง 

มิชชันทูมารส์ กับ ดาวอังคารสีจริง (จาก hubblesite.org)

ปกวารสารทางช้างเผือก ฉบับเดือนกันยายน 2543 เป็นภาพพื้นผิวดาวอังคาร ถูกวิจารณ์ว่าสีไม่แดงสมเป็นดาวอังคาร เพราะคนทำภาพปกลืมย้อมสีเร่งแดง 

มิชชันทูจูปีเตอร์ ฝาครอบและหน้าปัดมีสีทองแดง ไม่ได้มีสีส้มอย่างที่คนทั่วไปมองสีดาวพฤหัสบดี เป็นทราบกันดีว่า ดาวพฤหัสบดีมีแถบสีส้มหลายแถบ จุดแดงใหญ่ที่เป็นเอกลักษณ์ของดาวพฤหัสบดีก็มีสีส้มเข้ม สีส้มบนดาวพฤหัสบดีเกิดจากสารจำพวกฟอสฟอรัส กำมะถัน และไฮโดรคาร์บอนบางชนิดปะปนกัน แต่ความจริงดาวพฤหัสบดีมีส่วนสีขาวมากกว่าสีส้ม หากนำสีบนดาวพฤหัสบดีมาผสมกันตามสัดส่วนอาจจะได้สีคล้ายสีทองแดงอย่างนาฬิการุ่นนี้ก็ได้ 

 (จาก sun.org)

มิชชันทูแซตเทิร์น แทนดาวเสาร์ ดาวเสาร์มีสีรวมใกล้เคียงกับดาวพฤหัสบดี เพราะมีองค์ประกอบใกล้เคียงกัน แต่มีส่วนสีส้มน้อยกว่า การให้นาฬิการุ่นนี้มีสีเบจคล้ายทรายที่ชายหาด ก็ดูจะเหมาะสมและใกล้เคียงดี

มิชชันทูแซตเทิร์นกับดาวเสาร์สีจริง (จาก universetoday.com)

มิชชันทูยูเรนัส มีสีฟ้าอ่อนอมเขียวเล็กน้อยคล้ายพลอยสีขี้นกการเวก นับว่าใกล้เคียงสีจริงของดาวยูเรนัสมาก 

มิชชันทูเนปจูน มีเรือนสีฟ้าเข้มและหน้าปัดสีน้ำเงินเข้ม เป็นอีกรุ่นหนึ่งทีแสดงสีใกล้เคียงดาวเคราะห์จริง สมกับเป็นเทพแห่งท้องทะเล 

มิชชันทูพลูโต หลายคนเห็นชื่อพลูโตอาจนึกแย้งในใจว่าพลูโตไม่ใช่เคราะห์แล้วนะ มาอยู่ในคอลเล็กชันได้ยังไง อย่าคิดมากถึงขนาดนั้น ดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์ก็ไม่ใช่ดาวเคราะห์ยังเอามาอยู่ในคอลเล็กชันได้เลย ดาวพลูโตเคยเป็นดาวเคราะห์มาตั้งเจ็ดสิบปี เพิ่งจะถูกถอดจากการเป็นดาวเคราะห์เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ใจคอจะกีดกันถึงกับไม่ให้อยู่ร่วมวงเชียวหรือ อย่าใจดำไปหน่อยเลยครับ

พื้นผิวดาวพลูโตมีสีเด่นสองสีคือ สีครีมอ่อน เป็นพื้นที่ที่มีไนโตรเจนแข็งเป็นส่วนใหญ่ กับสีน้ำตาลเข้มซึ่งเป็นสีของทอลิน นาฬิการุ่นนี้ก็แทนสีของพลูโตด้วยฝาครอบสีเทาอ่อนกับวงแหวนแดงสีเบอร์กันดี ก็พอกล้อมแกล้มไปได้

มิชชันทูพลูโตกับดาวพลูโตสีจริง (จาก NASA)

ที่เอาเรื่องสีนาฬิกามาเล่านี้ มิใช่เพื่อวิจารณ์ว่าผู้ผลิตนาฬิกาใช้สีตรงหรือไม่ตรงตามจริงแต่อย่างใด การออกแบบผลิตภัณฑ์ย่อมใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ประกอบกัน การเลือกสีนาฬิกาว่าให้รุ่นใดมีสีใดย่อมมีเหตุผลมากมายเกื้อหนุนอยู่ แต่ด้วยเหตุว่านาฬิกาคอลเล็กชันนี้เกี่ยวข้องกับดาวเคราะห์ และสีของดาวเคราะห์ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ จึงขอถือโอกาสเกาะกระแสมาเล่าสู่กันฟัง 

และสุดท้ายก็หวังว่า หากใครได้มีโอกาสเป็นเจ้าของนาฬิกาในคอลเล็กชันนี้ ทุกครั้งที่มองดูนาฬิกา จะนึกถึงดวงดาวบนฟากฟ้าบ้าง