สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ขบวนดาวตกแห่งปี 1913

ขบวนดาวตกแห่งปี 1913

ปริศนาดาวตกข้ามศตวรรษ

โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) 9 กุมภาพันธ์ 2568
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 3 มิถุนายน 2568
หากจะนึกถึงปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับดาวตก ปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจมากที่สุดครั้งหนึ่งในอดีต ทุกคนคงจะนึกถึงเหตุการณ์พายุฝนดาวตกครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2509 เมื่อฝนดาวตกสิงโตกระหน่ำสาดดาวตกใส่โลกราวกับห่าฝน ในครั้งนั้นมีการประเมินอัตราตกได้ถึง 150,000 ดวงต่อชั่วโมง ทำให้ฝนดาวตกสิงโตเป็นที่จดจำมากที่สุดจนถึงปัจจุบัน



การศึกษาฝนดาวตกและดาวหางมาอย่างต่อเนื่องทำให้นักดาราศาสตร์เข้าใจถึงกลไกการเกิดฝนดาวตก และเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างฝนดาวตกกับดาวหาง รวมถึงสามารถพยากรณ์การเกิดฝนดาวตกได้ล่วงหน้าได้

แต่ยังมีปรากฏการณ์เกี่ยวกับดาวตกอีกชนิดหนึ่ง ที่แม้จะเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานกว่าศตวรรษแล้ว แต่จนบัดนี้ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเกิดจากอะไรกันแน่

เมื่อค่ำของวันที่ กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1913 มีผู้พบเห็นสิ่งคล้ายดาวตกจำนวนมากบนท้องฟ้าเคลื่อนที่ตามกันไปเป็นแถว เหมือนขบวนพาเหรดของดาวตก แต่ดาวตกในคืนนั้นดูไม่เหมือนปกติทั่วไป หนึ่งในความแปลกก็คือ ดาวตกเหล่านั้นเคลื่อนที่ช้าอย่างผิดสังเกต ดาวตกปกติจะพุ่งเข้าใส่บรรยากาศโลกก่อนระเหิดออกจนหายไปหมด ส่องสว่างเป็นเวลาแค่ไม่กี่วินาที แต่ดาวตกที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์นั้นจะเคลื่อนที่ช้ากว่า แต่ละดวงส่องสว่างเป็นเวลาประมาณหนึ่งนาที 

ภาพแสดงเหตุการณ์ขบวนดาวตกปี 1913 วาดโดย กุสตาฟ ฮัห์น ศิลปินชาวแคนาดา  


เส้นทางการเกิดขบวนดาวตกแห่งปี 1913 ตามบันทึกการพบเห็นที่มาจากประชาชนชาวแคนาดา สหรัฐอเมริกา เรือที่อยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก จนถึงชายฝั่งประเทศบราซิล  


ขบวนดาวตกนั้น เคลื่อนที่จากตะวันตกเฉียงเหนือไปทางตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเข้ามาใกล้จะปรากฏว่ามีการเกาะกลุ่มเป็นสองกลุ่มเคลื่อนที่ตามกันมาในแนวเดียวกัน และยังพบว่าดาวตกแต่ละดวงมีสะเก็ดดาวตกแตกออกมาแล้วสะเก็ดนั้นก็พุ่งไปข้างหน้าเร็วกว่าดาวตกที่มันแตกออกมา นอกจากนี้บางคนกล่าวว่าได้ยินเสียงครืน ๆ และเสียงแปลก ๆ มาพร้อมกับขบวนดาวตกนั้นด้วย 

เหตุการณ์ทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นขบวนจนจบท้ายขบวนก็กินเวลานานราวห้านาที  หลังจากที่ขบวนดาวตกผ่านพ้นไป ก็มีสิ่งคล้ายลูกไฟสว่างเคลื่อนที่ผ่านไปตามแนวทางดาวตกที่เพิ่งผ่านไป ลูกไฟนั้นดูคล้ายดาวฤกษ์สว่างมากกว่าดาวตก มีสีเหลือง ไม่มีหาง ไม่มีการแตกสะเก็ด 

เหตุการณ์นี้มีผู้พบเห็นที่แคนาดา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา จากท้องทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติก และที่บราซิล 

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ขบวนดาวตกแห่งปี 1913 แม้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมากว่าศตวรรษแล้ว แต่นักดาราศาสตร์ก็ยังหาคำอธิบายที่ชัดเจนไม่ได้ว่าเกิดจากอะไรกันแน่ สมมุติฐานที่พอจะเป็นไปได้ก็คือ เกิดจากวัตถุที่เข้ามาโคจรรอบโลกเป็นเวลาสั้น ๆ หรือที่เรียกว่า วัตถุคล้ายบริวาร (quasi-satellite) ดวงหนึ่งตกเข้ามาในบรรยากาศโลกและแตกสลายไป

ที่มา :
 The Great Meteor Procession 112 years ago