สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวพระเจ้าจอร์จ

ดาวพระเจ้าจอร์จ

19 สิงหาคม 2567 โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 28 กันยายน 2567
วิลเลียม เฮอร์เชล นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 มีผลงานโดดเด่นมาก เขาเป็นผู้สร้างกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ ศึกษาเรื่องดาวคู่ ค้นพบกระจุกดาวหลายแห่ง เรียบเรียงบัญชีเนบิวลา  เมื่อคืนวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1781 เฮอร์เชลได้ใช้กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6.2 นิ้วที่ทำขึ้นเองสำรวจท้องฟ้าเพื่อค้นหาดาวหาง ในคืนนั้นเขาค้นพบวัตถุดวงหนึ่งในกลุ่มดาวคนคู่ แต่ไม่ใช่ดาวหาง ต่อมาการค้นพบนี้จะกลายเป็นผลงานที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเฮอร์เชลและเป็นการค้นพบทางดาราศาสตร์ที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในศตวรรษที่ 18 

ในช่วงแรกเฮอร์เชลไม่แน่ใจนักว่าสิ่งที่พบเป็นวัตถุประเภทใดกันแน่ เพราะวัตถุดวงนั้นมีขอบดวงไม่คมชัด จึงบันทึกไว้ว่าเป็น "ดาวที่เป็นปุย" เฮอร์เชลได้ลองเพิ่มกำลังขยายของกล้องแล้วพบว่าภาพของดาวปุยดวงนั้นมีขนาดใหญ่ขึ้นตาม จึงแน่ใจได้ว่าไม่ใช่ดาวฤกษ์ เพราะหากเป็นดาวฤกษ์จะไม่ใหญ่ขึ้นตามกำลังขยาย เฮอร์เชลค่อนข้างเชื่อว่าน่าวัตถุนั้นเป็นดาวหางมากกว่า 

วิลเลียม เฮอร์เชล 

เมื่อการค้นพบวัตถุดวงใหม่ของเฮอร์เชลเผยแพร่ออกไป นักดาราศาสตร์คนอื่นจึงตามไปสังเกตวัตถุดวงนี้บ้าง และบางคนก็เริ่มสงสัยว่าวัตถุดวงนี้อาจมีความพิเศษยิ่งกว่าเป็นแค่ดาวหาง เช่น อันเดอรส์ เล็กเซลล์ และ โยฮันน์ โบเดอ ที่คำนวณวงโคจรแล้วพบว่ามีวงโคจรเกือบกลม ซึ่งผิดวิสัยดาวหาง วัตถุที่มีวงโคจรเช่นนี้น่าจะเป็นดาวเคราะห์มากกว่า  

เป็นเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ นักดาราศาสตร์ก็ยืนยันได้ว่าวัตถุที่เฮอร์เชลพบดวงนั้นเป็นดาวเคราะห์ดวงใหม่ของระบบสุริยะจริง  นับเป็นครั้งแรกที่มนุษย์ได้รับรู้ว่ายังมีดาวเคราะห์ดวงอื่นอีกนอกจากหกดวงที่รู้จักกันมาแต่ครั้งโบราณกาล และนับว่าเป็นดาวเคราะห์ดวงแรกที่ค้นพบด้วยกล้องโทรทรรศน์ด้วย 

เมื่อทราบแน่ชัดแล้วว่าวัตถุดวงใหม่เป็นดาวเคราะห์ ก็ต้องมีการตั้งชื่อเอาไว้เรียกกัน

เฮอร์เชลตั้งชื่อดาวเคราะห์ดวงใหม่ของเขาว่า ดาวพระเจ้าจอร์จ (George's Star) เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระเจ้าจอร์จที่ กษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่ ผู้อุปถัมภ์ตน 

พระเจ้าจอร์จที่ แห่งบริเตนใหญ่ (จาก Wikimedia Commons)

พระเจ้าจอร์จที่ เป็นกษัตริย์ของบริเตนใหญ่ จึงไม่แปลกที่ชื่อนี้ถูกใจนักดาราศาสตร์ในอังกฤษ แต่นอกเกาะอังกฤษกลับตรงกันข้าม จะมีใครที่ไหนอยากเรียกดาวเคราะห์ซึ่งเป็นวัตถุบนท้องฟ้าที่ไม่ใช่สมบัติของใครคนใดคนหนึ่งตามชื่อของกษัตริย์ชาติอื่นกัน ส่วนใหญ่อยากจะเรียกว่าดาวเฮอร์เชล (Herschel's star) มากกว่า นอกจากนี้ก็ยังมีการเสนอชื่ออื่นขึ้นมาบ้าง เช่น ดาวเนปจูน ดาวบริเตนใหญ่ (Planet Great Britain) 

โยฮันน์ โบเดอ นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้มีบทบาทสำคัญในการวางกฎเกณฑ์การตั้งชื่อวัตถุในระบบสุริยะให้ความเห็นว่า ดาวเคราะห์ที่รู้จักก่อนหน้านี้ ได้แก่ เมอร์คิวรี (ดาวพุธ) วีนัส (ดาวศุกร์) มาร์ส (ดาวอังคาร) จูปีเตอร์ (ดาวพฤหัสบดี) และแซตเทิร์น (ดาวเสาร์) ล้วนแต่ตั้งชื่อขึ้นตามเทพในประมวลเรื่องปารัมปรา การตั้งชื่อดาวเคราะห์ดวงใหม่ก็ควรใช้ธรรมเนียมเดียวกัน และยังอธิบายต่อว่า ในเมื่อแซตเทิร์นเป็นพ่อของจูปีเตอร์ ดังนั้นดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่อยู่ถัดจากดาวเสาร์ก็ควรตั้งชื่อตามพ่อของแซตเทิร์นซึ่งก็คือ ยูเรนัส ซึ่งเป็นชื่อเทพจากประมวลเรื่องปารัมปราเหมือนกัน 

เป็นชื่อยูเรนัสนี่เองที่ได้รับการยอมรับกันทั่วไป และกลายมาเป็นชื่อสามัญที่เป็นทางการของดาวเคราะห์ดวงที่เจ็ดของระบบสุริยะ

ที่มาของชื่อยูเรนัสต่างจากดาวเคราะห์ดวงอื่นอยู่อย่างหนึ่งคือ ยูเรนัสเป็นเทพของกรีก ส่วนชื่อดาวเคราะห์หกดวงก่อนหน้าเป็นเทพของโรมัน เทพของโรมันที่เทียบเท่ายูเรนัสคือ ซีลัส (Caelus) 

ดาวพระเจ้าจอร์จ ชื่อในปัจจุบันคือ ดาวยูเรนัส  


ดาวยูเรนัสมีชื่อไทยเหมือนกัน ชื่อไทยของดาวยูเรนัสคือดาวมฤตยู แต่น่าแปลกที่มักพบว่ามีแต่โหรที่ใช้ชื่อนี้ วงการดาราศาสตร์แทบหาคนใช้คำนี้ไม่มีเลย เรียกดาวยูเรนัสกันทั้งหมด 

แม้คำว่ายูเรนัสจะไม่ใช่ชื่อไทย แต่คนไทยก็ไม่ค่อยมีปัญหาในการออกเสียงคำว่ายูเรนัส ก็แค่ออกเสียงว่า /ยู-เร-นัด/ หรือจะให้มีเสียงซู่ซ่าตามหลังพยางค์ที่สามก็ไม่ใช่เรื่องยาก ฝรั่งต่างหากที่ดูจะมีปัญหาในการออกเสียงชื่อดาวเคราะห์ดวงนี้ 

ดังที่เข้าใจกันดีว่าการออกเสียงของฝรั่งมีการลงเสียงหนักเบาไม่เท่ากันในแต่ละพยางค์ ฝรั่งทั่วไปอ่านคำว่า Uranus โดยเน้นเสียงที่พยางค์กลาง ทำให้เสียงคล้ายจะพูดว่า your anus ซึ่งฟังแล้วชวนสะดุ้ง ลองคิดดูว่าถ้าคำนี้ไปอยู่ในบทสนทนาภาษาอังกฤษที่กำลังถกกันเรื่องปริมาณของแก๊สมีเทนในดาวยูเรนัส หรือถามว่าดาวยูเรนัสร้อนแรงแค่ไหน หรือคุยกันว่าคืนนี้อยากดูดาวยูเรนัสจัง? คงจะจั๊กจี้หูพิลึก นักดาราศาสตร์ส่วนใหญ่จึงออกเสียงโดยเน้นเสียงที่พยางค์แรกแทน และดูเหมือนจะมีเพียงคนในวงการวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่ออกเสียงแบบนี้ เรื่องการออกเสียงชื่อยูเรนัสเคยถึงกับเป็นประเด็นอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในเว็บบอร์ดของฝรั่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็ให้ความเห็นกันในแนวทะลึ่งตึงตังเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามหากไปตรวจสอบในพจนานุกรมออนไลน์ต่าง ๆ จะพบว่ามีการออกเสียงได้ทั้งสองแบบ คือเน้นพยางค์แรกก็ได้ เน้นพยางค์สองก็ได้ 

ฟังเสียงนักดาราศาสตร์ออกเสียงคำว่า Uranus


หลายปีก่อนในบ้านเรามีคำอุทานที่พูดกันติดปากกันอยู่พักนึงว่า "โอ้พระเจ้าจอร์จ!" ได้ยินทีไรก็นึกถึงดาวพระเจ้าจอร์จของ วิลเลียม เฮอร์เชล ทุกที จึงคิดว่าจะเอาเรื่องดาวพระเจ้าจอร์จมาเล่าให้อ่านกันเพลิน ๆ สักหน่อยน่าจะดี แต่กว่าจะได้ลงมือเขียนจริงก็ตลาดวายแล้ว จะเหลือคนที่ยังอุทานคำนี้อยู่สักกี่คนก็ไม่รู้

อ่านเพิ่มเติม

https://www.etymologynerd.com/blog/georges-star
https://www.space.com/18704-who-discovered-uranus.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Uranus
https://spaceplace.nasa.gov/uranus/en/
https://www.nasa.gov/history/240-years-ago-astronomer-william-herschel-identifies-uranus-as-the-seventh-planet/