เตรียมรับมือยุคดาวเทียมล้นฟ้า ในวันที่ดาวเทียมมีมากกว่าดาวแท้
เมื่อเย็นวันที่ 16 ธันวาคม 2567 มีรายงานจากหลายสถานที่ในประเทศไทยว่ามีผู้พบเห็นแสงไฟประหลาดบนท้องฟ้า แสงดังกล่าวมีลักษณะคล้ายดาวหางที่สว่างมาก เคลื่อนที่ไปบนฟ้าอย่างช้า ๆ มีคนถ่ายรูปและเผยแพร่ในเฟซบุ๊กจำนวนมาก การตรวจสอบเวลาและทิศทางที่ปรากฏ ชี้ชัดว่า ไม่ใช่แสงยูเอฟโอที่ไหน แต่เป็นแสงจากจรวดลองมาร์ช 5 บี ของจีนซึ่งเพิ่งขึ้นจากแท่นส่งจรวดเมื่อเกือบสองชั่วโมงก่อน
ปรากฏการณ์แสงไฟจากจรวดของจีนที่เพิ่งส่งขึ้นท้องฟ้าปรากฏให้เห็นในบ้านเราทุกครั้งก็ทำให้ผู้คนแตกตื่นกันเสมอ แต่เชื่อว่าอีกไม่นานก็จะเริ่มชินไปเองเพราะการส่งจรวดมีมากขึ้นทุกปี และจีนก็กระโจนลงมาเป็นผู้เล่นหลักในธุรกิจขนส่งอวกาศด้วย แถมประเทศไทยก็อยู่ไม่ไกลจากศูนย์ส่งจรวดเหวินชางของจีน ซึ่งอยู่ในเกาะไหหลำนี่เอง
ปริศนาแสงลึกลับถูกไขในเวลาอันรวดเร็วการส่งจรวดก็ผ่านพ้นไปด้วยดี ไม่มีเรื่องอะไรให้ตกใจ เหลือเพียงประเด็นน่ากังวลใจเอาไว้ จรวดลำดังกล่าวเป็นเที่ยวบินสำคัญของจีน เพราะเป็นการส่งดาวเทียมชื่อแซ็ตเน็ตขึ้นไปบนอวกาศจำนวน 10 ดวง ซึ่งเป็นชุดแรกจากจำนวนที่ตั้งเป้าหมายไว้ประมาณ 13,000 ดวง แซ็ตเน็ตเป็นเครือข่ายให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านฝูงดาวเทียมของจีน ซึ่งจะใช้ดาวเทียมจำนวนมากสร้างเครือข่ายบนวงโคจรให้ครอบคลุมทั่วโลก
การสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยฝูงดาวเทียมต่างจากการใช้ดาวเทียมสื่อสารที่ใช้ดาวเทียมเพียงสามดวงโคจรอยู่ที่วงโคจรค้างฟ้าซึ่งสูงจากพื้นดินมาก ระบบฝูงดาวเทียมจะใช้ดาวเทียมโคจรในระดับต่ำเพื่อลดการหน่วงเวลา แต่การที่โคจรอยู่ในระดับต่ำทำให้แต่ละดวงครอบคลุมพื้นที่ได้แคบ และเป็นดาวเทียมค้างฟ้าไม่ได้ ต้องโคจรไปรอบโลกตลอดเวลา วิธีแก้ไขคือ ใช้ดาวเทียมหลายดวงสร้างเครือข่ายการสื่อสารในวงโคจร แต่ละดวงจะสื่อสารกันเองพร้อมกับสื่อสารกับผู้ใช้บริการบนพื้นโลกด้วย ระบบนี้จึงใช้ดาวเทียมจำนวนมาก บริษัทแรกที่ดำเนินกิจการแบบนี้คือ สตาร์ลิงก์ ของสเปซเอกซ์ จนถึงขณะนี้ (2567) สตาร์ลิงก์ส่งดาวเทียมขึ้นฟ้าไปแล้วไม่ต่ำกว่าหกพันดวง
เครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมมีข้อดีหลายอย่างข้อแรกคือ ให้บริการครอบคลุมได้แทบทุกตารางนิ้วบนผิวโลก ไม่ว่าจะอยู่กลางป่า กลางทะเลทราย หรือมหาสมุทร ก็เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน หลายพื้นที่ในสมรภูมิของยูเครนถูกตัดขาดจากอินเทอร์เน็ตเพราะการเชื่อมต่อถูกรัสเซียทำลาย ก็ได้สตาร์ลิงก์มาทดแทน ช่วยให้คนในพื้นที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แม้เครือข่ายยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม
สตาร์ลิงก์ไม่ใช่บริษัทเดียวที่ดำเนินกิจการอินเทอร์เน็ตด้วยฝูงดาวเทียมยังมีแซ็ตเน็ตของจีนที่เพิ่งกล่าวถึงเมื่อตอนต้น วันเว็บของยูเทลแซต สเปซเซลคอนสเตลเลชันของจีน ไคเปอร์ของแอมะซอน สเฟราของรัสเซีย แต่ละโครงการมีแผนจะส่งดาวเทียมตั้งแต่หลายร้อยดวงจนถึงหลายหมื่นดวง สตาร์ลิงก์เมื่อเสร็จสมบูรณ์คาดว่าจะมีดาวเทียมมากถึง 42,000 ดวง แซ็ตเน็ตก็วางแผนจะใช้ดาวเทียม 13,000 ดวง วันเว็บกับสเฟราก็จะใช้ดาวเทียมราว 640 ดวง ฝูงดาวเทียมไคเปอร์ของแอมะซอนก็มีดาวเทียม 3,236 ดวง ในที่นี้นับเฉพาะบริษัทรายใหญ่เท่านั้น ยังจะมีบริษัทเอกชนอีกจำนวนมากที่จะทยอยเปิดตัวในอนาคต
นั่นหมายความว่าในอนาคตอีกไม่ถึงสิบปี บนท้องฟ้าจะมีดาวเทียมหลายหมื่นดวงผ่านหัวเราไปตลอดเวลา จำนวนนี้มีมากกว่าจำนวนดาวที่เราจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเสียอีก
อินเทอร์เน็ตมีประโยชน์อย่างไรและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญอย่างไรคงไม่ต้องพูดถึง แต่การให้บริการอินเทอร์เน็ตด้วยฝูงดาวเทียมมีราคาต้องจ่ายที่แพงมาก ราคาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเงินทุนที่ต้องใช้ในการดำเนินการ แต่หมายถึงผลกระทบทางลบหลายด้านที่เกิดขึ้น
วงการที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดหนีไม่พ้นวงการดาราศาสตร์โดยเฉพาะการศึกษาดาราศาสตร์จากภาคพื้นดิน ปกตินักดาราศาสตร์ก็มีอุปสรรคหลายอย่างที่รบกวนการศึกษาท้องฟ้าอยู่แล้ว เช่นแสงรบกวนจากเมือง ดวงจันทร์ เมฆ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังหลีกเลี่ยงได้ หากเมื่อไหร่ฝูงดาวเทียมเข้าประจำการครบตามเป้าหมายเมื่อไหร่ ก็อาจไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นฟ้าใส ๆ อีกเลย อย่าว่าแต่ถึงวันโครงการเสร็จสมบูรณ์เลย แม้แต่ปัจจุบันที่ดาวเทียมสตาร์ลิงก์ขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้าไม่ถึงหนึ่งในสี่ของเป้าหมายก็รบกวนการศึกษาทางดาราศาสตร์มากอยู่แล้ว นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวแองโกล-ออสเตรเลียเคยเปิดเผยเมื่อปีก่อนว่า ทุกวันนี้ภาพถ่ายท้องฟ้าที่ถ่ายมาราวครึ่งหนึ่งถ่ายติดภาพของสตาร์ลิงก์จนใช้ศึกษาอะไรไม่ได้
วงการหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากฝูงดาวเทียมคือระบบเฝ้าระวังวัตถุแปลกปลอมจากท้องฟ้า เพราะการทำงานของระบบนี้คือการถ่ายภาพท้องฟ้าเป็นพื้นที่กว้างอย่างสม่ำเสมอ เพื่อค้นหาจุดของวัตถุแปลกปลอมในภาพถ่าย เมื่อพบจุดแปลกปลอมแล้ว ก็จะมีการติดตามวัตถุนั้นเพื่อคำนวณว่ามีวงโคจรอย่างไร มีโอกาสคุกคามโลกหรือไม่ และถ้ามีจะต้องรับมืออย่างไร แต่การที่ภาพถ่ายท้องฟ้าจำนวนมากเต็มไปด้วยขีดสว่างจากดาวเทียม การตรวจหาจุดแปลกปลอมในภาพถ่ายจึงทำได้ยากมาก จะเกิดอะไรขึ้นหากมีวัตถุอันตรายพุ่งมายังโลกที่อยู่ในพิสัยที่ระบบนี้จะตรวจจับได้ แต่กลับถูกมองข้ามไปเพราะจุดของวัตถุนั้นถูกขีดแสงรบกวนในภาพถ่าย นั่นอาจหมายความว่าชีวิตของคนนับล้านต้องได้รับอันตรายไปด้วย
นอกจากการรบกวนที่มองเห็นในรูปของแสงแล้วดาวเทียมเหล่านี้ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อการศึกษาดาราศาสตร์วิทยุ ซึ่งเป็นการศึกษาอวกาศในย่านความถี่วิทยุ เพราะดาวเทียมสื่อสารกันเองผ่านความถี่วิทยุ แม้จะมีช่องความถี่เฉพาะตัว แต่ดาวเทียมสตาร์ลิงก์ก็มีปัญหาเรื่องสัญญาณ "ล้น" ออกไปยังย่านความถี่อื่นด้วย
ที่น่าเป็นห่วงก็คือการตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจากผู้ให้บริการมีน้อยมาก สตาร์ลิงก์ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกตลาดนี้เคยมีความพยายามแก้ปัญหาบ้างแต่ก็มากเท่าที่ควร ในบางครั้งก็แสดงความไม่แยแสออกมาอย่างชัดเจน อีลอน มัสก์ เจ้าของสเปซเอกซ์ยังเคยทวิตว่า "ไม่เห็นเป็นไร ยังไงการศึกษาดาราศาสตร์ก็จะใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศอยู่แล้วนี่" ผู้ให้บริการรายอื่นก็ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะป้องกันปัญหาจากการรบกวนของฝูงดาวเทียมของตนเองอย่างไร ส่วนสนธิสัญญาอวกาศที่เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้ประโยชน์ในดินแดนนอกโลกที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ยังไม่ครอบคลุมและทันสมัยมากพอที่จะป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากฝูงดาวเทียมได้ อย่างไรก็ตามสนธิสัญญานี้ก็เป็นความหวังเดียวที่จะช่วยแก้ปัญหาใหญ่นี้ได้ ซึ่งต้องรอให้มีการแก้ไขและปรับปรุงเนื้อหาให้ครอบคลุมกันต่อไป
ตอนนี้ก็ต้องถอนหายใจรอไปก่อน
ปรากฏการณ์แสงไฟจากจรวดของจีนที่เพิ่งส่งขึ้นท้องฟ้าปรากฏให้เห็นในบ้านเรา
ปริศนาแสงลึกลับถูกไขในเวลาอันรวดเร็ว
การสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยฝูงดาวเทียม
เครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมมีข้อดีหลายอย่าง
สตาร์ลิงก์ไม่ใช่บริษัทเดียวที่ดำเนินกิจการอินเทอร์เน็ตด้วยฝูงดาวเทียม
แนวคิดในการสร้างฝูงดาวเทียมโคจรรอบโลกเพื่อสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในวงโคจรที่ครอบคลุมพื้นที่บริการได้ทั่วโลก (จาก Economic Times )
นั่นหมายความว่า
อินเทอร์เน็ตมีประโยชน์อย่างไร
วงการที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดหนีไม่พ้นวงการดาราศาสตร์
ภาพถ่ายท้องฟ้าโดยเปิดหน้ากล้องเป็นเวลานาน ปรากฏขีดแสงที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของดาวเทียมสตาร์ลิงก์ สร้างปัญหาให้แก่การสำรวจอวกาศมาก (จาก GMN)
วงการหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากฝูงดาวเทียมคือ
นอกจากการรบกวนที่มองเห็นในรูปของแสงแล้ว
ที่น่าเป็นห่วงก็คือ
ตอนนี้ก็ต้องถอนหายใจรอไปก่อน