สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวมิรามีหาง

ดาวมิรามีหาง

21 ส.ค. 2550
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ดาวที่มีหางไม่ได้มีแต่ดาวหางเท่านั้น ดาวเทียมของนาซาที่ชื่อว่า กาเล็กซ์ (Galaxy Evolution Explorer (GALEX)) ได้ส่องสำรวจท้องฟ้าและพบว่า ดาวฤกษ์ชื่อ ดาวมิรา ก็มีหางเหมือนกัน 

มิรา เป็นภาษาละติน แปลว่า มหัศจรรย์ เป็นดาวที่น่าพิศวงและชวนหลงใหลดวงหนึ่งบนท้องฟ้า นักดาราศาสตร์ก็สนใจดาวดวงนี้มานานร่วม 400 ปีแล้ว อยู่ห่างจากโลก 350 ปีแสง เป็นดาวยักษ์แดงที่มีความพิเศษอย่างหนึ่งก็คือ เคลื่อนที่เร็วมาก และขณะเดียวกันก็สลัดมวลสารจำนวนมากออกสู่อวกาศ

หางของดาวมิรามีความยาว 13 ปีแสง หรือยาวกว่าความยาวของระบบสุริยะของเรานับพันเท่า จนดูเผิน ๆ คล้ายดาวหางยักษ์ที่มีหัวเป็นไฟ

"นี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เรากำลังศึกษากันอยู่ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร" มาร์ก ไซเบิร์ตจากหอดูดาวคาร์เนกีในพาซาดีนา แคลิฟอร์เนีย กล่าว "เราตั้งใจจะใช้ดาวมิรานี้เป็นต้นแบบในการศึกษาวิวัฒนาการของดาวฤกษ์"

หางของดาวมิราเป็นเครื่องมือเพียงหนึ่งเดียวที่ช่วยการศึกษาดาวฤกษ์แบบดวงอาทิตย์ของเราว่าจะมีจุดจบเช่นใด และจะมีส่วนช่วยในการให้กำเนิดระบบสุริยะใหม่ได้อย่างไร เมื่อดาวมิราเคลื่อนที่ผ่านไปจะทิ้งสสารเอาไว้เป็นทางยาวที่ประกอบด้วยคาร์บอน ออกซิเจน และธาตุสำคัญอื่นอีกหลายชนิดที่จำเป็นต่อการสร้างดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ และแม้แต่สร้างชีวิต

การที่ดาวมิราปล่อยสสารออกมาพร้อมกับเคลื่อนที่ไปอย่างต่อเนื่อง หางของดาวมิราจึงเป็นเสมือนแถบบันทึกที่แสดงองค์ประกอบของสสารที่พ่นออกมาในช่วงเวลาต่าง ๆ นักดาราศาสตร์พบว่าสสารที่ปลายหางซึ่งเป็นส่วนที่อายุมากที่สุดถูกสลัดออกมาจากดาวเมื่อ 30,000 ปีก่อน 

หากย้อนหลังไปหลายพันล้านปีก่อน ดาวมิราก็เป็นดาวฤกษ์ธรรมดาเช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ของเรา เมื่อเวลาผ่านไป ดาวดวงนี้ได้ค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นดาวยักษ์สีแดงและส่องแสงวูบวาบไม่คงที่ หรือเป็นดาวที่เรียกว่าดาวแปรแสง ช่วงที่สว่างที่สุด ดาวมิราจะสว่างมากจนมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

มิราจะพ่นสสารออกมาทั่วบริเวณที่มันอยู่เหมือนหนอนไหมที่พ่นใยออกมาจนเป็นรังไหมห่อหุ้มตัวเอง รังไหมแก๊สนี้ก็คือเนบิวลาดาวเคราะห์ที่มีสีสันสดใสนั่นเอง เนบิวลานี้จะจางลงไปทีละน้อยจนกระทั่งสุดท้ายจะเหลือเพียงแกนดาวที่เปลือยเปล่าของดาวดั้งเดิม ซึ่งก็คือดาวแคระขาว

เทียบกับดาวยักษ์แดงดวงอื่นแล้ว มิราเคลื่อนที่เร็วมาก บางทีอาจเป็นเกิดจากดาวได้รับแรงโน้มถ่วงจากดาวดวงอื่นที่เคยผ่านเข้ามาใกล้จึงมีเร่งความเร็วขึ้น ปัจจุบันเคลื่อนที่ดาวความเร็ว 130 กิโลเมตรต่อวินาที 

ดาวมิราไม่ได้เคลื่อนที่โดยลำพัง เพราะมีดาวสหายอีกดวงหนึ่งอยู่ข้างเคียง เป็นดาวแคระขาวชื่อว่า มิราบี (Mira B) ทั้งสองดวงโคจรรอบกันอย่างเชื่องช้าครบรอบทุก 500 ปี นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวมิราบีไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำเนิดหางนี้

นอกจากหางของดาวมิราแล้ว กาเล็กซ์ยังตรวจพบบาวช็อกซึ่งเป็นแนวปะทะของลมร้อนจากดาวกับแก๊สในอวกาศ และสายของสสารสองสายพ่นออกจากดาวทางด้านหน้าและด้านหลัง นักดาราศาสตร์เชื่อว่าแก๊สร้อนในบาวช็อกทำให้แก๊สที่พ่นออกมาจากดาวร้อนขึ้นจนเรืองแสงอัลตราไวโอเลต เมื่อสารร้อนเรืองแสงนี้ถูกดาวปล่อยทิ้งไว้ข้างหลัง จะบิดไปมาเหมือนริ้วคลื่นบนผิวน้ำเมื่อเรือเคลื่อนผ่านไป

"กาเล็กซ์เป็นกล้องที่มีความไวแสงอัลตราไวโอเลตมากและมีมุมภาพกว้างมาก จึงสามารถถ่ายภาพกิจกรรมทางอัลตราไวโอเลตของดาวที่ไม่เคยมีใครพบเห็นมาก่อนนี้ได้" แบร์รี เอฟ. แมดอร์ นักวิจัยจากหอดูดาวคาร์เนกีกล่าว 

ปัจจุบันดาวมิราเป็นดาวที่อายุมากจนใกล้สิ้นอายุขัยแล้ว เป็นดาวที่ในทางฟิสิกส์ดาวฤกษ์เรียกว่าดาวกิ่งยักษ์แอซิมป์ทอติก มีสีแดงและพองบวมจนมีขนาดใหญ่มหึมา หากนำดาวมิรามาวางแทนที่ดวงอาทิตย์ ขนาดของมันจะล้ำไปจนถึงวงโคจรของดาวอังคารเลยทีเดียว คาดว่าดวงอาทิตย์ของเราก็จะกลายเป็นเช่นนี้ในอีกราวห้าพันล้านปีข้างหน้า

ดาวยักษ์แดงเช่นดาวมิรานี้จะพ่นมวลสารออกสู่อวกาศด้วยอัตราเร็วมาก ประมาณว่าทุกสิบปีดาวจะพ่นสสารออกมาเท่ากับโลกทั้งดวง ดังนั้นตลอดเวลา 30,000 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นอายุต่ำสุดของหางของมิรานี้ ดาวมิราได้พ่นสสารออกมาเท่ากับโลก 3,000 ดวง หรือดาวพฤหัสบดี ดวง

ดาวมิราเป็นดาวแปรแสงที่น่าสนใจที่สุดดวงหนึ่งบนท้องฟ้า เพราะมีคาบยาวถึง 332 วัน และมีช่วงความสว่างต่างกันถึง 1,500 เท่า ในขณะนี้ดาวมิรายังมองไม่เห็น แต่จะเริ่มเห็นได้ด้วยตาเปล่าในราวเดือนพฤศจิกายนปีนี้

ภาพจากดาวเทียมกาเล็กซ์ของนาซา แสดงหางซึ่งเกิดจากสสารที่พ่นออกมาจากดาวมิรา ดาวไมราคือจุดสีขาวที่อยู่ทางขวา กำลังเคลื่อนที่จากทางซ้ายของภาพมาทางขวา จุดเล็กมากมายในพื้นหลังของภาพคือดาวดวงอื่นและดาราจักรอื่นที่อยู่ไกลออกไป ดาวสว่างทางซ้ายเป็นดาวดวงอื่นที่อยู่ใกล้โลกมากกว่าดาวมิรา ภาพนี้ถ่ายไว้ระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายน ถึง 15 ธันวาคม 2549 (ภาพจาก NASA/JPL-Caltech)

ภาพจากดาวเทียมกาเล็กซ์ของนาซา แสดงหางซึ่งเกิดจากสสารที่พ่นออกมาจากดาวมิรา ดาวไมราคือจุดสีขาวที่อยู่ทางขวา กำลังเคลื่อนที่จากทางซ้ายของภาพมาทางขวา จุดเล็กมากมายในพื้นหลังของภาพคือดาวดวงอื่นและดาราจักรอื่นที่อยู่ไกลออกไป ดาวสว่างทางซ้ายเป็นดาวดวงอื่นที่อยู่ใกล้โลกมากกว่าดาวมิรา ภาพนี้ถ่ายไว้ระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายน ถึง 15 ธันวาคม 2549 (ภาพจาก NASA/JPL-Caltech)

ดาวเทียมกาเล็กซ์

ดาวเทียมกาเล็กซ์

ที่มา: