สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาราจักรจิ๋ว

ดาราจักรจิ๋ว

10 พ.ย. 2550
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์ได้พบดาราจักรแคระแห่งใหม่ที่อยู่ห่างไกลถึงครึ่งทางของเอกภพ เป็นดาราจักรที่เล็กที่สุดที่เคยพบมาในระยะเดียวกัน

การค้นพบนี้เป็นผลงานของคณะนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เเนีย นักดาราศาสตร์คณะนี้ได้ใช้ข้อมูลที่สะสมไว้โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลและหอดูดาวดับเบิลยู. เอ็ม. เคก ในฮาวาย ดาราจักรแห่งใหม่นี้มีมวลเพียงหนึ่งในร้อยของทางช้างเผือกเท่านั้น และเมื่อเทียบกับดาราจักรขนาดเล็กที่มักพบที่ระยะไกลดาราจักรอื่นแล้ว ดาราจักรใหม่นี้ยังเล็กกว่าถึงเท่าตัวและมีมวลเพียงหนึ่งในสิบเท่านั้น

แม้ดาราจักรนี้จะอยู่ห่างออกไปกว่าหกพันล้านปีแสง แต่ภาพดาราจักรที่ได้ยังมีความคมชัดเหมือนกับภาพดาราจักรอยู่ในกระจุกดาราจักรหญิงสาวที่อยู่ใกล้ที่สุดเลยทีเดียว นั่นเป็นเพราะดาราจักรนี้อยู่หลังดาราจักรมวลมากแห่งหนึ่งพอดี แรงโน้มถ่วงมหาศาลของดาราจักรที่บังอยู่ข้างหน้าจะเบนให้แสงจากดาราจักรด้านหลังเข้ามาหาโลกเหมือนกับเป็นเลนส์ตัวหนึ่ง เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า แหวนไอนส์ไตน์ ซึ่งทำให้แสงอันริบหรี่จากดาราจักรข้างหลังสว่างขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าสิบเท่า เนื่องจากแสงจากดาราจักรเบื้องหลังมีการหักเห ภาพของดาราจักรจึงเป็นวงรอบดาราจักรหน้า หรืออาจวงที่ไม่สมบูรณ์เช่นเป็นขีดโค้งเหมือนรอยเล็บล้อมรอบวัตถุที่ขวางหน้าอยู่ หรือบางครั้งก็เป็นรูปดาราจักรซ้ำหลายดาราจักร

การประมวลข้อมูลสำรวจจากกล้องโทรทรรศน์เชิงแสงร่วมกับภาพถ่ายในย่านรังสีอินฟราเรดใกล้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลและภาพที่ความยาวคลื่นยาวกว่าจากกล้องโทรทรรศน์เคก ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถประเมินมวล และทราบได้ว่าดาวจำนวนมากในดาราจักรจิ๋วนี้เป็นดาวที่เพิ่งเกิดมาได้ไม่นาน คาดว่าดาราจักรนี้อาจเป็นโครงสร้างตั้งต้นของดาราจักรชนิดก้นหอย หรืออาจเป็นต้นกำเนิดของดาราจักรแคระในปัจจุบัน 

การสำรวจครั้งนี้มีการนำวิธีอแดปทีฟออปติกแบบเลเซอร์มาใช้  วิธีอแดปทีฟออปติกแบบพื้นฐานเป็นการนำจุดภาพของดาวสว่างที่อยู่ในกรอบภาพเดียวกับวัตถุที่สำรวจ มาเป็นตัวแสดงปริมาณการพลิ้วไหวจากบรรยากาศโลกแล้วนำค่านี้ไปปรับแก้ความพลิ้วของภาพของวัตถุเป้าหมายตามเวลาจริง แต่อแดปทีฟออปติกแบบเลเซอร์ที่ติดตั้งบนกล้องเคกจะใช้แสงเลเซอร์ยิงขึ้นไปบนฟ้าเพื่อให้อะตอมโซเดียมในบรรยากาศเรืองแสงขึ้นแทนดาวจริง จึงไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับพื้นที่สำรวจ เทคโนโลยีนี้ทำให้ภาพจากกล้องเคกคมชัดขึ้นมากจนเป็นที่มาของการค้นพบครั้งนี้

ภาพนี้ได้จากการผนวกภาพจากเลนส์ความโน้มถ่วงจากกล้องฮับเบิล และภาพจากกล้องโทรทรรศน์เคก ขีดโค้งที่เรียงเป็นวงคือแสงจากดาราจักรที่อยู่เบื้องหลัง จุดกลมกลางภาพคือดาราจักรที่ขวางหน้าอยู่ (ภาพจาก Marshall & Treu (UCSB))

ภาพนี้ได้จากการผนวกภาพจากเลนส์ความโน้มถ่วงจากกล้องฮับเบิล และภาพจากกล้องโทรทรรศน์เคก ขีดโค้งที่เรียงเป็นวงคือแสงจากดาราจักรที่อยู่เบื้องหลัง จุดกลมกลางภาพคือดาราจักรที่ขวางหน้าอยู่ (ภาพจาก Marshall & Treu (UCSB))

ที่มา: