สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ปีใหม่นี้ไม่มีของแถม

ปีใหม่นี้ไม่มีของแถม

25 ม.ค. 2547
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ในช่วงวินาทีรอยต่อของปีช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ผู้คนกำลังตื่นเต้นสนุกสนานอยู่กับงานเลี้ยงฉลองและนับถอยหลังขึ้นปีใหม่ มองดูนาฬิกาบอกเวลาเข้าสู่ปีใหม่วินาทีต่อวินาที 57.. 58.. 59.. 00 ปี 2547 เริ่มต้นขึ้นนับแต่บัดนั้น

ลำดับของเวลาที่แสดงนี้ดูเหมือนปรกติ แต่สำหรับนักดาราศาสตร์ นี่คือความไม่ปรกติ และเป็นความไม่ปรกติที่เกิดต่อเนื่องกันมาหลายปีแล้ว

เวลามาตรฐานสากลปัจจุบันกำหนดโดยนาฬิกาอะตอม ซึ่งคงที่กว่าการเทียบกับการหมุนของโลกอย่างแต่ก่อน แต่เวลาของนาฬิกาอะตอมไม่ลงตัวกับคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลกซึ่งนาน 365.24219 วัน ดังนั้นจึงต้องมีการเพิ่มวินาทีพิเศษเรียกว่า อธิกวินาที เพื่อรักษาเวลาฤดูกาลจริงให้สอดคล้องกับเวลาของนาฬิกาสากล ทำนองเดียวกับการเพิ่มอธิกวารเพื่อให้วันที่ปฏิทินสอดคล้องกับคาบปีปฏิทิน

เวลา วันตามนาฬิกาสากล กับเวลา วันตามการหมุนของโลกแตกต่างกันเล็กน้อยประมาณ 2-3 มิลลิวินาทีต่อวัน ในเวลาหนึ่งปีความแตกต่างนี้ก็จะมากถึง 0.9 วินาที จึงต้องมีการเพิ่มอธิกวินาทีเกือบทุกปี ซึ่งการเพิ่มอธิกวินาทีกำหนดให้เกิดขึ้นในวันที่ 30 มิถุนายน หรือ 31 ธันวาคมเท่านั้น เวลาช่วงสิ้นวันที่มีอธิกวินาทีจะบอกเป็น ..., 23:59:57, 23:59:58, 23:59:59, 23:59:60, 00:00:00, ... วินาทีที่ 23:59:60 คืออธิกวินาที

เวลามาตรฐานสากลกำหนดโดยสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติหรือนิสต์ (NIST) ซึ่งนำนาฬิกาอะตอมมาใช้ตั้งแต่ปี 2492 ส่วนการเพิ่มอธิกวินาทีครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2515 และหลังจากนั้นก็มีการเพิ่มอีกเกือบทุกปี

แต่นับจากปี 2542 เป็นต้นมาไม่มีการเพิ่มอธิกวินาทีเลย ทั้งนี้เนื่องจากโลกหมุนรอบตัวเองเร็วขึ้นในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา

ทอม โอไบรอัน นักฟิสิกส์จากนิสต์อธิบายว่า อัตราหมุนของโลกมีการเปลี่ยนแปลงได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ของแกนโลก การเปลี่ยนแปลงของน้ำขึ้นลงในมหาสมุทร และลมฟ้าอากาศ และการเปลี่ยนรูปร่างของโลก อัตราการหมุนของโลกในแต่ละปีจึงมีการเปลี่ยนได้ทั้งเร็วขึ้นและช้าลง อย่างไรก็ตาม แม้ห้าปีที่ผ่านมาโลกหมุนเร็วขึ้น แต่แนวโน้มระยะยาวของอัตราหมุนของโลกจะช้าลงเสมอ เหตุการณ์อย่างนี้จึงไม่ใช่ความวิปริตแต่อย่างใด

ที่มา: