สมาคมดาราศาสตร์ไทย

29 มิถุนายน วันที่สั้นที่สุด

29 มิถุนายน วันที่สั้นที่สุด

4 ส.ค. 2565
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
โลกหมุนรอบตัวเองครบรอบใช้เวลา 24 ชั่วโมง หนึ่งวันจึงมีระยะเวลา 24 ชั่วโมง

แต่เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 โลกหมุนครบรอบใช้เวลาเพียง 23 ชั่วโมง 59 นาที 59.99841 วินาที ขาดไป 1.59 มิลลิวินาที เป็นวันที่สั้นที่สุดนับจากที่มีการใช้นาฬิกาอะตอมเป็นนาฬิกามาตรฐาน

โลกหมุนรอบตัวเองในอัตราไม่คงที่ อัตราการหมุนขึ้นลงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอจากหลายปัจจัย ดังนั้นวงการวิทยาศาสตร์จึงเลิกใช้อัตราหมุนของโลกเป็นตัวกำหนดเวลามาตรฐาน โดยหันไปใช้นาฬิกาอะตอมที่เที่ยงตรงมากกว่าแทนตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เมื่อใช้นาฬิกาอะตอมแล้วจึงอาจเกิดการเหลื่อมเวลาระหว่างนาฬิกาอะตอมและอัตราการหมุนของโลก นักวิทยาศาสตร์แก้ปัญหาความเหลื่อมนี้โดยการเพิ่มอธิกวินาทีซึ่งเป็นวินาทีพิเศษที่เพิ่มเข้าไปในวันสิ้นปีหรือ 30 มิถุนายน เพื่อรักษาจังหวะของเวลามาตรฐานสากลให้สอดคล้องกับการหมุนของโลก โดยสถิติแล้ว มีการเพิ่มอธิกวินาทีประมาณทุกสองปีโดยเฉลี่ย 

โดยปกติ โลกจะหมุนรอบตัวเองช้าลงทีละน้อย โลกหมุนช้าลงศตวรรษละ มิลลิวินาที หากคิดแบบคร่าว ๆ ในระยะยาวก็น่าจะต้องมีการเพิ่มอธิกวินาทีบ่อยขึ้น แต่ในทางความเป็นจริงกลับพบว่าหลายปีที่ผ่านมาโลกหมุนเร็วกว่าเดิม จึงไม่มีการเพิ่มอธิกวินาทีมาหลายปีแล้ว ครั้งล่าสุดที่มีการเพิ่มอธิกวินาทีคือวันที่ 31 ธันวาคม 2559 หรือเกือบหกปีก่อน 

แผนภูมิแสดงระยะเวลาของวันนับจากที่มีการใช้นาฬิกาอะตอม ปี 2565 นี้เป็นปีที่มีวันที่สั้นที่สุดที่เคยบันทึก เส้นหยักละเอียดแสดงความผันแปรที่เกิดขึ้นเป็นรายเดือน ซึ่งเกิดจากการโคจรของดวงจันทร์ ส่วนแนวโน้มที่ขึ้นลงเป็นรายปีเป็นผลจากการไหลเวียนของบรรรยากาศโลก สังเกตว่าช่วงวันที่สั้นที่สุดในรอบปีจะเกิดขึ้นราวเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม
 (จาก timeanddate.com)


ในปี 2563 มีสถิติใหม่วันที่สั้นที่สุดมากถึง 28 วัน  โดยวันที่สั้นที่สุดในปีนั้นคือวันที่ 19 กรกฎาคม มีระยะเวลาสั้นกว่า 24 ชั่วโมงไป 1.47 มิลลิวินาที

ในปี 2564 โลกก็ยังหมุนเร็วกว่าปกติ แม้จะไม่มีการสร้างสถิติใหม่ขึ้นก็ตาม แต่ในปี 2565 โลกก็ยังหมุนเร็วขึ้นอีกโดยสร้างสถิติใหม่ในวันที่ 29 มิถุนายนดังที่กล่าวมาแล้ว อีกเดือนต่อมา ในวันที่ 26 กรกฎาคม โลกก็หมุนเร็วเกือบจะทำสถิติใหม่ได้อีกด้วยเวลา -1.50 มิลลิวินาที

สาเหตุที่โลกหมุนเร็วขึ้นในช่วงที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ยังคงไร้คำตอบที่แน่ชัด อาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการบางอย่างที่แกนโลก หรือในมหาสมุทร การเกิดน้ำขึ้นลง หรือแม้แต่ลมฟ้าอากาศ ณ ขณะนี้ยังไม่อาจสรุปได้ 

ในที่ประชุมสมาคมวิทยาศาสตร์โลกเอเชียโอเชียเนียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เลโอนิด โซตอฟ และ คริสเตียน บิซูวาร์ด นิโคไล ซิโดเรนคอฟ เสนอความเห็น่า สาเหตุที่โลกหมุนเร็วขึ้นอาจเกี่ยวข้องกับการส่ายชานเดลอร์

การส่ายชานเดลอร์ (Chandler's wobble) คือการส่ายของขั้วโลกเป็นระยะทางสั้น การส่ายนี้ทำให้อัตราหมุนรอบตัวเองของโลกเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยปกติการส่ายชานเดลอร์มีค่าประมาณปีละ 3-4 เมตรที่ผิวโลก แต่ในช่วงปี 2560-2563 การส่ายนี้กลับหายไป

หากโลกหมุนเร็วขึ้นอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ อาจไม่มีอธิกวินาทีอีก ในทางตรงข้าม อาจเป็นไปได้ที่จะต้องริเริ่มให้มีการตัดวินาทีออกไปแทนที่จะเพิ่มวินาทีเข้ามาก็เป็นได้ ซึ่งหากต้องมีการตัดวินาที อาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับวงการสารสนเทศ เพราะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงระบบต่าง ๆ ครั้งมโหฬาร

อย่างไรก็ตาม ดร.โซตอฟกล่าวว่า ถึงตอนนี้ตนค่อนข้างมั่นใจว่าอัตราหมุนของโลกจะกลับไปสู่ภาวะปกติในไม่ช้า ดังนั้นแนวคิดเรื่องการตัดวินาทีคงไม่ต้องมีการนำมาใช้

ที่มา: