สมาคมดาราศาสตร์ไทย

แสงสุดท้ายก่อนถูกดูดเข้าหลุมดำ

แสงสุดท้ายก่อนถูกดูดเข้าหลุมดำ

2 ธ.ค. 2546
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์จากองค์การอวกาศยุโรปได้พบเห็นแสงที่แผ่ออกมาจากวัตถุในช่วงสุดท้ายก่อนถูกดูดเข้าไปในหลุมดำยักษ์เป็นครั้งแรก

เมื่อวันที่ พฤษภาคม ขณะที่นักสำรวจจากคณะสำรวจแกนดาราจักรทางช้างเผือกจากนานาชาติที่หอดูดาวพารานัลในชิลีสำรวจหลุมดำที่ใจกลางดาราจักรทางช้างเผือก ได้ตรวจพบการลุกจ้าที่ส่องสว่างในย่านรังสีอินฟราเรดจากบริเวณหลุมดำนั้น หลังจากพบไม่กี่นาที แสงนั้นก็หายวับไป 

การลุกจ้าในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้จากสองสาเหตุ สาเหตุหนึ่งคือการลัดสนามเม่เหล็ก (magnetic reconnection) ของดาวฤกษ์เช่นเดียวกับที่เกิดบนดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดพายุสุริยะ แต่นักสำรวจคณะนี้เชื่อว่าน่าจะเกิดมาจากอีกสาเหตุหนึ่ง นั่นคือเกิดจากก๊าซที่ถูกดูดเข้าไปสะสมในจานพอกพูนมวล สสารเข้าใกล้ผิวของหลุมดำมากขึ้น อุณหภูมิจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนแผ่รังสีอินฟราเรดออกมา 

ตามรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร เนเจอร์ ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม 2546 บันทึกว่าการลุกจ้าอินฟราเรดที่เกิดขึ้นนี้มีการเกิดขึ้นซ้ำเป็นคาบ ๆ ละ 17 นาที เชื่อว่าการกะพริบนี้เกิดจากการหมุนรอบตัวเองของหลุมดำ หากเป็นเช่นนั้นจริงก็แสดงว่าหลุมดำนี้หมุนรอบตัวเองเร็วมาก จากการคำนวณพบว่า หลุมดำนี้หมุนรอบตัวเองรอบละ 30 วินาที

การค้นพบครั้งนี้นับว่าเป็นการค้นพบครั้งสำคัญ ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์สามารถวัดได้เพียงมวลของหลุมดำเท่านั้น แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สามารถวัดการหมุนควงของหลุมดำได้

การลุกจ้าอินฟราเรด (ในวงกลม) ใกล้เคียงกับใจกลางดาราจักรทางช้างเผือก ถ่ายโดยกล้องเยปันขนาด 8.2 เมตรของหอดูดาววีแอลที เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2546 (ภาพจาก ESO)

การลุกจ้าอินฟราเรด (ในวงกลม) ใกล้เคียงกับใจกลางดาราจักรทางช้างเผือก ถ่ายโดยกล้องเยปันขนาด 8.2 เมตรของหอดูดาววีแอลที เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2546 (ภาพจาก ESO)

ที่มา: