สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดวงอาทิตย์สลับขั้วแม่เหล็ก

ดวงอาทิตย์สลับขั้วแม่เหล็ก

24 ก.พ. 2544
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์ได้สังเกตพบว่าสนามแม่เหล็กของขั้วดวงอาทิตย์มีการสลับขั้วเปลี่ยนทิศไปในทางตรงกันข้าม เป็นสิ่งที่แสดงว่าวัฏจักรปัจจุบันของดวงอาทิตย์ได้มาถึงช่วงสูงสุดแล้ว 

เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ขั้วเหนือแม่เหล็กของดวงอาทิตย์อยู่ที่ซีกเหนือของดวงอาทิตย์ และขั้วใต้แม่เหล็กอยู่ที่ขั้วใต้ของดวงอาทิตย์ แต่ขณะนี้ได้สลับไปเป็นตรงกันข้ามแล้ว 

"ปรากฏการณ์การสลับขั้วแม่เหล็กนี้จะเกิดขึ้นในช่วงสูงสุดของดวงอาทิตย์ (solar maximum) ถือเป็นสัญญาณแสดงจุดสูงสุดของวัฏจักรของดวงอาทิตย์ที่ดี" เดวิด แฮธาเวย์ นักสุริยฟิสิกส์จากศูนย์การบินอวกาศมาร์แชลกล่าว 

การสลับขั้วแม่เหล็กไม่ได้เกิดขึ้นเพียงบนดวงอาทิตย์เท่านั้น บนโลกเราก็มีการสลับขั้วแม่เหล็กเหมือนกัน แต่เกิดขึ้นในคาบที่ยาวนานกว่าตั้งแต่ 5,000 ปีจนถึง 50 ล้านปี การสลับขั้วแม่เหล็กครั้งสุดท้ายของโลกเกิดขึ้นเมื่อ 740,000 ปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าโลกอาจถึงเวลาสลับขั้วอีกครั้งหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นจริง ๆ เมื่อใด 

การเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์จะค่อย ๆ แพร่ออกไปสู่อวกาศโดยการพาของลมสุริยะ และจะใช้เวลาประมาณ ปีกว่าจะถึงขอบนอกของเฮลิโอสเฟียร์ หรือชั้นที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์ซึ่งแผ่ไกลออกไปราว 50-100 หน่วยดาราศาสตร์ 

แม้ว่านักดาราศาสตร์ได้เห็นการสลับขั้วสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์มาหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่เคยมีโอกาสที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นที่บริเวณขั้วดวงอาทิตย์ในขณะที่การสังเกตการณ์จากโลกจะเห็นได้ชัดเจนเพียงบริเวณแถบศูนย์สูตรเท่านั้น แต่ในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีของนักดาราศาสตร์ เพราะว่ายานยูลิสซีส ยานสำรวจดวงอาทิตย์ กำลังอยู่ที่ละติจูด 80.2 องศาใต้ของดวงอาทิตย์ ซึ่งถือว่าอยู่บริเวณแนวขั้วพอดี 

ยานยูลิสซีส เป็นโครงการร่วมระหว่างองค์การนาซาและองค์การอวกาศยุโรป ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศในปี 2533 เพื่อศึกษาดวงอาทิตย์ เป็นยานเพียงลำเดียวที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ในแนวเหนือ-ใต้ จึงมีโอกาสที่จะศึกษาบริเวณขั้วของดวงอาทิตย์มากกว่ายานลำอื่น ๆ หรือการสังเกตการณ์จากโลก ก่อนหน้านี้ยูลิสซีสเคยผ่านแนวขั้วดวงอาทิตย์มาแล้วสองครั้ง ทั้งสองครั้งนั้นเกิดขึ้นในช่วงต่ำสุดของดวงอาทิตย์ (solar minimum) แต่ในครั้งนี้ยูลิสซีสอยู่ในแนวขั้วตรงกับช่วงสูงสุดของดวงอาทิตย์ จึงเป็นโอกาสอันแสนวิเศษที่ทำให้นักดาราศาสตร์ได้ข้อมูลของดวงอาทิตย์ครบวัฏจักรพอดี 

แผนภูมิแสดงจำนวนจุดดำบนดวงอาทิตย์ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าขณะนี้ดวงอาทิตย์อยู่ในช่วงสูงสุดของวัฏจักรพอดี

แผนภูมิแสดงจำนวนจุดดำบนดวงอาทิตย์ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าขณะนี้ดวงอาทิตย์อยู่ในช่วงสูงสุดของวัฏจักรพอดี

"แผนภูมิแม่เหล็กรูปผีเสื้อ" บริเวณสีเหลืองแสดงขั้วแม่เหล็กใต้ สีน้ำเงินคือขั้วแม่เหล็กเหนือ สังเกตว่าสนามแม่เหล็กบริเวณศูนย์สูตรจะมีการสลับขั้วในช่วงต่ำสุดของวัฏจักร ส่วนสนามแม่เหล็กบริเวณขั้วเหนือใต้จะมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงสูงสุดของวัฏจักร

"แผนภูมิแม่เหล็กรูปผีเสื้อ" บริเวณสีเหลืองแสดงขั้วแม่เหล็กใต้ สีน้ำเงินคือขั้วแม่เหล็กเหนือ สังเกตว่าสนามแม่เหล็กบริเวณศูนย์สูตรจะมีการสลับขั้วในช่วงต่ำสุดของวัฏจักร ส่วนสนามแม่เหล็กบริเวณขั้วเหนือใต้จะมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงสูงสุดของวัฏจักร

ที่มา: