สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พัลซาร์ดวงที่ 1000

พัลซาร์ดวงที่ 1000

1 ธ.ค. 2541
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันศุกร์ที่ 13 เดือนพฤศจิกายน 2541 ที่ผ่านมา ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติทีมหนึ่งได้แถลงข่าวการค้นพบพัลซาร์ดวงใหม่ นับเป็นพัลซาร์ดวงที่ 1000 ที่มนุษย์รู้จัก 

การค้นพบนี้เกิดขึ้นโดยกล้องโทรทรรศน์วิทยุ พากส์ (Parkes) ในออสเตรเลีย และใช้วิธีการค้นหาพัลซาร์แบบใหม่ที่เรียกว่าระบบมัลติบีม ซึ่งทำให้ความสามารถในการค้นหาพัลซาร์เพิ่มมากขึ้นจากวิธีเดิม ๆ ถึง 10 เท่า 

พัลซาร์คือดาวนิวตรอนที่หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูง และเปล่งสัญญาณออกมาเป็นห้วง ๆ ตามจังหวะการหมุนรอบตัวเองของมัน ดาวนิวตรอนเป็นซากหลงเหลือของดาวฤกษ์ขนาดใหญ่หลังจากที่ระเบิดเป็นซูเปอร์โนวาไปแล้ว มีความหนาแน่นสูงมากจนอิเล็กตรอนกับโปรตอนบนดาวหลอมรวมกันเป็นนิวตรอน อันเป็นที่มาของชื่อดาวนิวตรอนนั่นเอง 

พัลซาร์ดวงแรกถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2510 และหลังจากนั้นเป็นต้นมา พัลซาร์ก็ถูกค้นพบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปี 2540 มีพัลซาร์ที่ค้นพบมาแล้วประมาณ 800 ดวง แต่หลังจากที่ได้มีการใช้ระบบค้นหาแบบมัลติบีมเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ค้นพบเพิ่มขึ้นมาอีก 200 ดวง นักดาราศาสตร์เชื่อว่าอาจจะพบเพิ่มขึ้นอีก 600 ดวงภายใน ปีข้างหน้านี้ 

ข้อมูลจากการสำรวจนี้จะช่วยใช้นักดาราศาสตร์ได้ศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ มากมายตั้งแต่เรื่องของดาวนิวตรอนที่โคจรรอบหลุมดำจนถึงเรื่องของคลื่นความโน้มถ่วง และยังช่วยให้นักดาราศาสตร์ค้นพบพัลซาร์แบบใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีการค้นพบหรือคาดคิดมาก่อน 

ทีมนักดาราศาสตร์ที่ค้นพบพัลซาร์ดวงที่ 1000 นี้ประกอบด้วยนักดาราศาสตร์ทั้งจากสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและอิตาลี