ดาวเสาร์ เป็นดาวเคราะห์ที่กล่าวได้ว่าสวยงามที่สุดดวงหนึ่งในระบบสุริยะ ด้วยวงแหวนล้อมรอบที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้เป็นดาวเคราะห์ที่ดูมีสง่าราศีไม่เหมือนใคร ไม่ว่าใครที่ได้เห็นดาวเสาร์ผ่านกล้องดูดาว ล้วนแต่ต้องประทับใจมิรู้ลืม
ใครที่ยังไม่เคยเห็นวงแหวนดาวเสาร์จริงๆ ก็ควรรีบหาโอกาสไปดูเสีย เพราะนักดาราศาสตร์พบว่าวงแหวนดาวเสาร์เป็นสิ่งที่มีอายุขัยสั้นนัก
วงแหวนดาวเสาร์มีมานานเท่าไหร่แล้วไม่มีใครทราบแน่ชัดนักดาราศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่าวงแหวนดาวเสาร์มีมาคู่กับดาวเสาร์ตั้งแต่ 4.5 พันล้านปีก่อนแล้ว โดยเกิดขึ้นจากเศษหินปนน้ำแข็งที่หลงเหลืออยู่รอบดาวเสาร์หลังจากที่ระบบสุริยะเริ่มก่อตัวขึ้นมา แต่บางกลุ่มเชื่อว่าวงแหวนดาวเสาร์น่าจะมีอายุน้อย โดยเกิดขึ้นมาจากวัตถุอื่นเช่นดาวหางหรือดวงจันทร์บริวารบางดวงเข้าใกล้ดาวเสาร์มากเกินไปจนถูกแรงน้ำขึ้นลงฉีกออกเป็นผุยผงและเกาะกันเป็นสายกลายเป็นวงแหวนล้อมรอบ
"วงแหวนของดาวเสาร์เมื่อแรกกำเนิดขึ้นประกอบด้วยน้ำแข็งขาวโพลนเมื่อเวลาผ่านไป วงแหวนจะเริ่มมีเศษวัตถุจากที่อื่นเข้ามาปนเปื้อนและหมองคล้ำขึ้น เมื่อไม่กี่ปีก่อน ยานแคสซีนี ซึ่งไปโคจรรอบดาวเสาร์เพื่อสำรวจในระยะใกล้ชิด พบว่าวงแหวนของดาวเสาร์มีการปนเปื้อนเพียงประมาณหนึ่งเปอร์เซ็นต์ หากเราทราบมวลของวงแหวนทั้งวง ก็จะทราบได้ว่ามวลของสิ่งปนเปื้อนหนึ่งเปอร์เซ็นต์ที่ว่านั้นมีมากน้อยเพียงใด ซึ่งนำไปคำนวณได้ว่าต้องใช้เวลานานเท่าใดจึงจะเกิดการสะสมของสิ่งปนเปื้อนจนได้ระดับนั้น ซึ่งก็คืออายุของวงแหวนนั่นเอง" ลูเซียโน ลีเอส นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จากมหาวิทยาลัยซาเปียนซาในโรม หัวหน้านักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้อธิบาย
ในช่วงท้ายภารกิจของยานแคสซีนียานได้โคจรรอบดาวเสาร์ในระยะใกล้หลายรอบโดยลอดเข้าไปในช่องว่างระหว่างดาวเสาร์กับวงแหวน การเคลื่อนที่ในลักษณะนี้จึงเปิดโอกาสคณะของลีเอสวัดมวลของดาวเสาร์และวงแหวนได้โดยวิเคราะห์การเคลื่อนที่ของยานในช่วงที่ลอดผ่านช่องว่างนั้น ส่วนการเคลื่อนที่ของยานก็วัดได้จากการวิเคราะห์คลื่นวิทยุที่ยานใช้ในการสื่อสารกับโลกที่เปลี่ยนแปลงความถี่ไปจากการเคลื่อนที่ เมื่อยานเคลื่อนที่ถอยห่างจากโลก คลื่นวิทยุก็จะยาวขึ้น เมื่อยานเคลื่อนที่เข้าหาโลก คลื่นวิทยุก็จะสั้นลง เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการเลื่อนดอปเพลอร์
ยานแคสซีนีได้พุ่งลอดช่องดาวเสาร์กับวงแหวนเป็นจำนวน6 ครั้ง โดยมีระยะเหนือระดับยอดเมฆของดาวเสาร์ตั้งแต่ 2,600 ถึง 3,900 กิโลเมตร ทำให้ลีเอสวัดการเปลี่ยนแปลงความเร็วของยานได้อย่างแม่นยำ
ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์เคยประเมินมวลของวงแหวนดาวเสาร์โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากยานวอยเอเจอร์ที่โคจรผ่านไปเมื่อสามสิบปีก่อนตัวเลขเดิมให้มวลรวมของวงแหวนของดาวเสาร์ไว้ที่ประมาณ 28 พันล้านล้านตัน แต่ข้อมูลใหม่จากยานแคสซีนีกลับให้ตัวเลขไว้ต่ำกว่ามาก โดยประเมินว่าวงแหวนดาวเสาร์มีมวลราว 15.4 พันล้านล้านตัน
จากข้อมูลเหล่านี้คณะของลีเอสประเมินว่า วงแหวนของดาวเสาร์เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อไม่ถึง 100 ล้านปีมานี้เอง และอาจมีอายุน้อยได้ถึง 10 ล้านปีเท่านั้น
วงแหวนดาวเสาร์นอกจากเพิ่งเกิดมาได้ไม่นานแล้วนักดาราศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งก็พบว่าวงแหวนของดาวเสาร์กำลังจะหายไปอีกด้วย
งานวิจัยนี้เป็นของเจมส์ โอโดโนฮิว จากศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ดของนาซา
"วงแหวนดาวเสาร์ประกอบด้วยอนุภาคน้อยใหญ่ระดับก้อนหินก้อนกรวดกระจัดกระจายเป็นแนววงเนื้อสสารเป็นน้ำแข็งเกือบทั้งหมด" โอโดโนฮิวอธิบาย
"อนุภาคในวงแหวนดาวเสาร์คงสภาพอยู่เป็นวงแหวนได้จากความสมดุลของแรงสองแรงนั่นคือแรงโน้มถ่วงจากดาวเสาร์ที่พยายามดึงอนุภาคให้ตกลงสู่ดาวเสาร์กับแรงหนีศูนย์กลางที่พยายามเหวี่ยงอนุภาคให้หลุดออกไป แต่เมื่อมีปัจจัยอื่นมาเสริม สมดุลก็จะเปลี่ยนไป ปัจจัยที่ว่านั้นก็คือ ประจุไฟฟ้า อนุภาคขนาดเล็กในวงแหวนอาจกลายเป็นประจุไฟฟ้าได้โดยการได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ หรือจากการถูกชนโดยจุลอุกกาบาต เมื่ออนุภาคในวงแหวนกลายเป็นประจุ ก็จะถูกสนามแม่เหล็กของดาวเสาร์ดึงให้หลุดจากวงแหวนและไหลไปตามเส้นแรงแม่เหล็กจนตกลงสู่ดาวเสาร์ไป"
เมื่ออนุภาคที่กลายเป็นประจุจากวงแหวนตกลงไปถึงบรรยากากาศของดาวเสาร์ไอน้ำที่เกิดขึ้นจะทำปฏิกิริยากับบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์ทำให้ไตรไฮโดรเจนแคตไอออน (H3+) มีอายุยืนขึ้น เมื่อไอออนนี้ได้รับแสงอาทิตย์ก็จะเรืองแสงอินฟราเรดออกมา ซึ่งตรวจจับได้โดยกล้องมานาเคอาในฮาวายที่โอโดโนฮิวใช้สำรวจ
นอกจากจะพบการเรืองแสงที่เกิดจาก"ฝนวงแหวน" แล้ว ยังพบบริเวณที่มีการเรืองแสงที่เกิดจาก "ฝนเอนเซลาดัส" ด้วย เป็นการเรืองแสงในบริเวณที่เส้นแรงแม่เหล็กที่ตัดผ่านดวงจันทร์เอนเซลาดัสตัดกับบรรยากาศดาวเสาร์ อนุภาคที่พ่นออกมาจากพู่ที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ดวงนี้ทำให้เกิดการเรืองแสงบนดาวเสาร์ได้เช่นเดียวกัน
คณะของโอโดโนฮิวพบการเรืองแสงดังกล่าวเป็นแถบบริเวณที่ตรงกับตำแหน่งที่เส้นแรงแม่เหล็กที่ผ่านระนาบวงแหวนตัดผ่านบรรยากาศดาวเสาร์การวิเคราะห์แสงเรืองนี้จะช่วยให้ทราบถึงปริมาณของอนุภาคจากวงแหวนที่สนามแม่เหล็กพามาได้ นักดาราศาสตร์คณะดังกล่าวประเมินว่า ฝนวงแหวนเกิดขึ้นในอัตราที่สามารถเติมสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิกได้เต็มภายในครึ่งชั่วโมง
และด้วยอัตรานี้จะทำให้วงแหวนของดาวเสาร์หายไปหมดภายใน 100 ล้าน - 300 ล้านปีจากนี้
ใครที่ยังไม่เคยเห็นวงแหวนดาวเสาร์จริง
วงแหวนดาวเสาร์มีมานานเท่าไหร่แล้วไม่มีใครทราบแน่ชัด
"วงแหวนของดาวเสาร์เมื่อแรกกำเนิดขึ้นประกอบด้วยน้ำแข็งขาวโพลน
ในช่วงท้ายภารกิจของยานแคสซีนี
ยานแคสซีนีได้พุ่งลอดช่องดาวเสาร์กับวงแหวนเป็นจำนวน
ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์เคยประเมินมวลของวงแหวนดาวเสาร์โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากยานวอยเอเจอร์ที่โคจรผ่านไปเมื่อสามสิบปีก่อน
จากข้อมูลเหล่านี้
วงแหวนดาวเสาร์นอกจากเพิ่งเกิดมาได้ไม่นานแล้ว
งานวิจัยนี้เป็นของ
"วงแหวนดาวเสาร์ประกอบด้วยอนุภาคน้อยใหญ่ระดับก้อนหินก้อนกรวดกระจัดกระจายเป็นแนววง
"อนุภาคในวงแหวนดาวเสาร์คงสภาพอยู่เป็นวงแหวนได้จากความสมดุลของแรงสองแรง
เมื่ออนุภาคที่กลายเป็นประจุจากวงแหวนตกลงไปถึงบรรยากากาศของดาวเสาร์
นอกจากจะพบการเรืองแสงที่เกิดจาก
คณะของโอโดโนฮิวพบการเรืองแสงดังกล่าวเป็นแถบบริเวณที่ตรงกับตำแหน่งที่เส้นแรงแม่เหล็กที่ผ่านระนาบวงแหวนตัดผ่านบรรยากาศดาวเสาร์
และด้วยอัตรานี้