สมาคมดาราศาสตร์ไทย

อาร์โรคอตสายหวาน

อาร์โรคอตสายหวาน

12 มิ.ย. 2567
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อต้นปี 2562 ยานนิวฮอไรซอนส์ของนาซาได้เดินทางไปถึงวัตถุเป้าหมายใหม่ และส่งภาพของวัตถุดวงนั้นกลับมายังโลก วัตถุดวงนั้นมีชื่อว่า อาร์โรคอต (Arrokoth) หรือชื่อเดิมคืออัลติมาทูลี นับเป็นวัตถุไคเปอร์ดวงที่สองที่มียานไปสำรวจในระยะใกล้
 
วัตถุไคเปอร์คือวัตถุที่มีวงโคจรอยู่ในแถบไคเปอร์ ซึ่งเป็นวงแหวนหนาที่โอบรอบระบบสุริยะ โดยมีรัศมีพ้นรัศมีวงโคจรของดาวเนปจูนออกไป บริเวณแถบไคเปอร์เป็นที่อยู่ของวัตถุน้อยใหญ่มากมาย นักดาราศาสตร์ว่าแถบไคเปอร์เป็นต้นกำเนิดของดาวหางคาบสั้น ดาวพลูโตก็เป็นวัตถุไคเปอร์ดวงหนึ่ง 

ภาพของอาร์โรคอตที่ส่งกลับมา ทำให้นักดาราศาสตร์ต้องงุนงง เพราะวัตถุดวงนี้มีลักษณะเป็นแผ่นกลมนูนเหมือนลูกสะบ้าสองลูกที่มีขอบติดกัน ซึ่งไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อนในระบบสุริยะ นอกจากนี้พื้นผิวมีสีแดงเข้มเหมือนสนิมอีกด้วย

เดิมที นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า สีแดงเข้มของอาร์โรคอตเป็นผลจากการอาบรังสีอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทั้งจากลมสุริยะและรังสีคอสมิกดาราจักร รังสีเหล่านี้ทำให้โมเลกุลของสสารจำพวกเมทานอลเปลี่ยนไปเป็นสารอินทรีย์บางอย่างที่มีสีแดง อย่างไรก็ตามนั่นก็เป็นเพียงสมมุติฐานคร่าว ๆ เท่านั้น ยังไม่อาจอธิบายรายละเอียดได้ 

ดาวอาร์โรคอต (Arrocoth) ถ่ายโดยยานนิวฮอไรซอนส์ (จาก NASA/Johns Hopkins University Applied Physics Laboratory/Southwest Research Institute/Roman Tkachenko)

ล่าสุดมีอีกทฤษฎีหนึ่งที่อาจตอบคำถามได้ดีกว่า 

นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวายนำโดย จาง เชาเจียง ได้ทดลองโดยนำตัวอย่างของเมทานอลและคาร์บอนมอนอกไซด์ไปตากรังสีที่สร้างขึ้นจากอิเล็กตรอนพลังงานสูงด้วยปริมาณรังสีเทียบเท่ากับที่อาร์โรคอตจะได้รับจากรังสีคอสมิกดาราจักรเป็นเวลา 1.8 พันล้านปี 

ผลที่ได้รับทั้งน่าพึงพอใจน่าประหลาดใจ การตากรังสีทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีในน้ำแข็ง เกิดโมเลกุลที่มีคาร์บอนเป็นส่วนประกอบอยู่มากที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อโพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอน หรือ พีเอเอช (PAH) เป็นสารประกอบที่มีอยู่ทั่วไปในเอกภพ แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ ยังพบว่าปฏิกิริยาดังกล่าวยังสร้างกลูโคส ซึ่งเป็นน้ำตาลที่เป็นแหล่งพลังงานของเราทุกคน นอกจากนี้ยังพบอัลโลส ซึ่งเป็นน้ำตาลอีกชนิดหนึ่งที่พบในผลไม้และถั่ว นอกจากนี้ยังมีกลีเซอรอลซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับที่ใช้เป็นส่วนผสมในสบู่เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ทั้งพีเอเอช กลูโคส และน้ำตาลต่าง ๆ ก็มีสีอมแดงเมื่อมองจากอวกาศ บางทีสารเหล่านี้นี่เองที่เป็นสาเหตุที่ทำให้อาร์โรคอตมีสีแดง

เป็นไปได้ว่า ในอดีต เคยมีวัตถุประเภทเดียวกับอาร์โรคอตเข้ามายังระบบสุริยะชั้นในและชนเข้ากับโลก แล้วทิ้งโมเลกุลอินทรีย์เหล่านี้พร้อมกับน้ำไว้ ซึ่งต่อมากลายเป็นวัตถุดิบสำคัญในการสร้างสิ่งมีชีวิตบนโลกก็เป็นได้