สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สถานีอวกาศกับกระสวยอวกาศ

สถานีอวกาศกับกระสวยอวกาศ

14 มิถุนายน 2551
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 21 พฤษภาคม 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ค่ำวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2551 สถานีอวกาศนานาชาติและกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรีจะเคลื่อนผ่านเหนือท้องฟ้าประเทศไทย เห็นเป็นจุดสว่างคล้ายดาวแต่เคลื่อนที่ได้ สำหรับกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง สถานีอวกาศเริ่มปรากฏเวลาประมาณ 19.26 น. บริเวณใกล้ขอบฟ้าทิศเหนือ จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นไปทางขวามือ ถึงจุดสูงสุดบนท้องฟ้าในเวลา 19.29 น. ที่มุมเงย 23 องศา ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาจะเคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลกในเวลาประมาณ 19.30 น. ทางทิศตะวันออก ส่วนกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรีจะเคลื่อนตามหลังสถานีอวกาศ เริ่มปรากฏเวลาประมาณ 19.30 น. ถึงจุดสูงสุดบนท้องฟ้าในเวลา 19.32 น. ที่มุมเงย 27 องศา และเคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลกในเวลาประมาณ 19.34 น. ทางทิศตะวันออก

กระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรีขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม ตามเวลาในสหรัฐฯ โดยไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติในวันที่ มิถุนายน เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วกระสวยอวกาศแยกตัวออกจากสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน แล้วเคลื่อนห่างออกจากกัน กระสวยอวกาศมีกำหนดกลับสู่พื้นโลกในช่วงก่อนเที่ยงของวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน ตามเวลาท้องถิ่นที่ฟลอริดา ซึ่งตรงกับเวลาประมาณ ทุ่ม ตามเวลาประเทศไทย ดังนั้นในคืนวันเสาร์นี้หากฟ้าเปิด ประเทศไทยจะมีโอกาสเห็นสถานีอวกาศนานาชาติและกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี เป็นดาวสว่างสองดวงเคลื่อนข้ามท้องฟ้าในเวลาไล่เลี่ยกัน

ภาพบนเป็นเส้นทางการเคลื่อนที่ของสถานีอวกาศนานาชาติและกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรีขณะผ่านท้องฟ้ากรุงเทพฯ ในวันที่ 14 มิถุนายน 2551 ตามข้อมูลวงโคจรล่าสุด สถานีอวกาศกับกระสวยอวกาศอยู่ห่างกันหลายองศา แผนภาพนี้ยังพอใช้ได้กับจังหวัดส่วนใหญ่ของภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก ภาคอีสานจะมีเส้นทางการเคลื่อนที่คล้ายคลึงกันแต่อยู่สูงเหนือขอบฟ้ามากกว่านี้ ส่วนภาคใต้ตอนล่างอาจเห็นได้ยากเนื่องจากอยู่ใกล้ขอบฟ้ามาก 

สถานีอวกาศนานาชาติเป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นและโคจรอยู่รอบโลกที่สว่างมากดวงหนึ่งบนท้องฟ้า (ยังมีการสว่างจ้าของดาวเทียมอิริเดียม ซึ่งสว่างกว่าหลายเท่า) แต่สถานีอวกาศไม่ได้มาปรากฏให้เห็นได้ทุกวัน เนื่องจากมันเคลื่อนที่รอบโลกด้วยคาบประมาณ 90 นาที และทุกรอบที่เคลื่อนที่ไปนั้น วงโคจรของสถานีอวกาศเมื่อเทียบกับพิกัดบนพื้นโลกจะเปลี่ยนไปทุกรอบ ประกอบกับเรามีโอกาสมองเห็นสถานีอวกาศรวมทั้งดาวเทียมดวงอื่น ๆ ได้เฉพาะเวลาหัวค่ำและก่อนรุ่งเช้าเท่านั้น อันเป็นจังหวะเวลาที่แสงอาทิตย์ตกกระทบสถานีอวกาศและท้องฟ้ามืดเพียงพอ

การเห็นกระสวยอวกาศและสถานีอวกาศนานาชาติพร้อมกันหรือในเวลาไล่เลี่ยกันสำหรับประเทศไทยไม่เกิดบ่อยนัก (ครั้งล่าสุดเกิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551) ช่วงที่กระสวยอวกาศขึ้นไปปฏิบัติภารกิจในอวกาศ โดยมากเป็นช่วงที่มันมักจะไม่โคจรผ่านท้องฟ้าประเทศไทยในเวลาที่เหมาะสม

บทความที่เกี่ยวข้อง :