สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สถานีอวกาศนานาชาติผ่านหน้าดวงจันทร์ 7 มกราคม 2568

สถานีอวกาศนานาชาติผ่านหน้าดวงจันทร์ 7 มกราคม 2568

7 มกราคม 2568
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 10 มกราคม 2568
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด
ท้องฟ้าเวลาหัวค่ำและเช้ามืดเป็นช่วงเวลาที่เราสามารถมองเห็นดาวเทียมหลายดวงเคลื่อนที่ข้ามท้องฟ้า ดาวเทียมมีลักษณะเหมือนดาว แต่ไม่อยู่นิ่ง ดาวเทียมในวงโคจรใกล้โลกจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วพอประมาณ ไม่เร็วมาก แต่ก็ไม่ช้ามาก สามารถเห็นการเคลื่อนที่ได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า ดาวเทียมไม่มีแสงในตัวเอง ส่องแสงได้จากการสะท้อนแสงอาทิตย์ สถานีอวกาศนานาชาติหรือไอเอสเอสนับเป็นวัตถุในวงโคจรรอบโลกซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นและสว่างที่สุดในปัจจุบัน ช่วงที่สว่างที่สุดอาจเทียบได้กับดาวศุกร์

ปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลวงโคจรของสถานีอวกาศและดาวเทียมต่าง ๆ ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ทำให้เราสามารถพยากรณ์การเคลื่อนที่ของดาวเทียมได้ล่วงหน้าด้วยความแม่นยำสูงในระดับวินาที มีทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชันในคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งให้บริการข้อมูลดังกล่าว

จากวงโคจรของสถานีอวกาศนานาชาติในปัจจุบัน ทำให้พบว่าค่ำวันอังคารที่ มกราคม 2568 สถานีอวกาศนานาชาติจะโคจรผ่านประเทศไทย สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าในเวลาประมาณ 19:22-19:27 น. สถานีอวกาศจะเริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงใต้ แล้วเคลื่อนสูงขึ้น เส้นทางการเคลื่อนที่ของสถานีอวกาศเทียบกับกลุ่มดาวจะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ช่วงที่สถานีอวกาศปรากฏบนท้องฟ้า มีดวงจันทร์สว่างมากกว่าครึ่งดวงเล็กน้อย (56%) อยู่บนท้องฟ้าด้วย และไม่ไกลจากแนวการเคลื่อนที่ของสถานีอวกาศ หลังจากผ่านดวงจันทร์แล้ว สถานีอวกาศจะเข้าสู่เงามืดของโลกในเวลาประมาณ 19:26:43

เส้นทางการเคลื่อนที่ของสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อสังเกตจากกรุงเทพฯ (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)
เส้นทางการเคลื่อนที่ของสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อสังเกตจากเชียงใหม่ (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)
เส้นทางการเคลื่อนที่ของสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อสังเกตจากอุบลราชธานี (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)
เส้นทางการเคลื่อนที่ของสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อสังเกตจากสงขลา (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)

การผ่านหน้าดวงจันทร์

บริเวณที่มีโอกาสเห็นสถานีอวกาศนานาชาติผ่านหน้าดวงจันทร์อยู่ในแนวเส้นทางแคบ ๆ กว้างประมาณ 4.2 กิโลเมตร เส้นกึ่งกลางของแนวดังกล่าวลากผ่านหลายจังหวัด ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ อ่าวไทย สมุทรปราการ ตะวันออกของกรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา นครนายก และนครราชสีมา (หลังจากนั้นสถานีอวกาศจะเข้าสู่เงามืดของโลก) ระยะเวลาของการเคลื่อนผ่านหน้าดวงจันทร์สั้นมาก เพียง 0.5-0.6 วินาทีเท่านั้น

แผนที่แสดงแนวซึ่งสามารถมองเห็นสถานีอวกาศนานาชาติผ่านหน้าดวงจันทร์ (จาก transit-finder)

ภาพจำลองแสดงเส้นทางการเคลื่อนที่ของสถานีอวกาศนานาชาติขณะผ่านหน้าดวงจันทร์เมื่อสังเกตจากบริเวณบางปู สมุทรปราการ (ละติจูด 13° 31′ 10″ น. ลองจิจูด 100° 39′ 42″ ต.อ.) (จาก Stellarium)

การเคลื่อนผ่านหน้าดวงจันทร์ของสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อสังเกตจากสถานที่ใดสถานที่หนึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก บางครั้งเกิดในเวลากลางวัน บางครั้งเกิดในช่วงที่สถานีอวกาศอยู่ในเงามืดของโลก แต่ครั้งนี้ถือว่าเหมาะสำหรับการสังเกตการณ์ เพราะดวงจันทร์อยู่สูงบนท้องฟ้า สถานีอวกาศถูกแสงอาทิตย์ทำให้เห็นเป็นดาวสว่างเคลื่อนที่ผ่านใกล้หรือผ่านหน้าดวงจันทร์ได้

สถานีอวกาศนานาชาติผ่านหน้าดวงจันทร์เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 (จาก Robert Sparks)

ดาวน์โหลด

 แฟ้มข้อมูลพิกัดของเส้นทางบนผิวโลก (เปิดด้วย  Google Earth คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล อุปกรณ์เคลื่อนที่)

แหล่งข้อมูล

 ISS Transit Finder
 ISS sun moon transit prediction