นานาสาระกับวันวิษุวัต
หลากหลายเรื่องราวเกี่ยวกับวันสำคัญประจำปีทางดาราศาสตร์ที่เรียกว่า วิษุวัต
วันที่ 20 มีนาคม 2568 เป็นวันวสันตวิษุวัต
วันวิษุวัตคืออะไร?วันวสันตวิษุวัตคืออะไร? คนอื่นเขาพูดกันเยอะแล้ว วันนี้ที่นี่ขอพูดในด้านที่ไม่ค่อยมีใครพูดก็แล้วกัน
ทราบหรือไม่ในทางดาราศาสตร์ คำว่า "วิษุวัต" มีความหมายต่างกันถึงสามความหมาย ดังนี้
1.เวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ตัดผ่านเส้นศูนย์สูตรฟ้า
2.จุดบนทรงกลมฟ้าที่เส้นศูนย์สูตรฟ้าตัดกับเส้นสุริยวิถี
3.วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านเส้นศูนย์สูตรฟ้า เรียกว่า วันวิษุวัต
ในปีนี้วสันตวิษุวัตเกิดขึ้นในวันที่ 20 มีนาคม เวลา 16:01 น. ตามเวลาประเทศไทย
เรียนมานมนาน
ใครบอกเล่าว่ามีเฉพาะวันที่21 มีนาคม วันวสันตวิษุวัตอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 19-21 มีนาคม หากสังเกตดูวันวิษุวัต (รวมถึงวันอายัน) หลาย ๆ ปีติดต่อกัน จะพบว่าวันวิษุวัตจะขยับมาเร็วขึ้นอย่างช้า ๆ ทั้งนี้เนื่องจากความยาวของปีตามปฏิทินยาวกว่าความยาวของปีฤดูกาลที่เกิดจากการโคจรของโลกจริง ๆ เล็กน้อย ดังนั้นจะสังเกตว่าช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ วันวสันตวิษุวัตมักตกเอาวันที่ 20-21 มีนาคม แต่พอไปท้ายคริสต์ศตวรรษวันวสันตวิษุวัตจะไปตกเอาวันที่ 19-20 มีนาคม เมื่อขึ้นศตวรรษใหม่ วันวสันตวิษุวัตก็จะกลับไปตกที่วันที่ 20-21 มีนาคมตามเดิม ทั้งนี้เป็นผลจากกลไกการทดวันของปฏิทินสากลนั่นเอง
ในคริสต์ศตวรรษนี้มีวันวสันตวิษุวัตที่ตรงกับวันที่21 มีนาคมไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะตรงกับวันที่ 20 มีนาคมมากกว่า ยิ่งถ้าคิดที่เวลาสากลแล้ว จะพบว่านับจากปี 2550 เป็นต้นมาไปจนสิ้นศตวรรษจะไม่มีวันวสันตวิษุวัตที่ตรงกับวันที่ 21 มีนาคมเลย
ในหมู่ชาวจีนและชาวตะวันตกมีความเชื่อว่าถ้าจะตั้งไข่ไก่บนโต๊ะได้ ต้องเป็นวันวิษุวัต เป็นความเชื่อที่มีมาอย่างยาวนาน ถึงกับมีเป็นประเพณีแข่งตั้งไข่กันในวันวิษุวัต เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง วันไหนก็ตั้งไข่ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นวันวิษุวัต เปลือกไข่ไก่ไม่เรียบสนิท แต่มีความขรุขระเล็กน้อย ความขรุขระนี้ทำให้เมื่อวางไข่บนพื้นราบเช่นโต๊ะ จะทำให้เกิดจุดสัมผัสสามจุดเหมือนสามเส้าเล็ก ๆ ที่ค้ำไข่ไว้ หากวางไข่ให้ได้มุมพอดีที่จุดศูนย์ถ่วงของไข่ตกลงภายในสามเส้านั้นพอดี ไข่นั้นก็จะตั้งขึ้นได้ ไม่เกี่ยวกับดวงอาทิตย์แต่อย่างใด
วันวิษุวัตที่เกิดในเดือนมีนาคมเรียกว่า วสันตวิษุวัต ภาษาอังกฤษเรียกว่า vernal equinox ส่วนวิษุวัตที่เกิดในเดือนกันยายนเรียกว่า ศารทวิษุวัต ภาษาอังกฤษเรียกว่า autumnal equinox ความหมายทั้งไทยและอังกฤษสอดคล้องตรงกันคือ วสันต์ กับ vernal แปลว่า ฤดูใบไม้ผลิ ศารท กับ autumn ก็แปลว่าฤดูใบไม้ร่วง ในทางดาราศาสตร์ถือเอาวันสำคัญทั้งสี่ อันได้แก่ วสันตวิษุวัต ครีษมายัน ศารทวิษุวัต และเหมายัน เป็นจุดเริ่มต้นฤดู นั่นคือ วสันตวิษุวัตเป็นจุดเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ ครีษมายันเป็นจุดเริ่มต้นฤดูร้อน ศารทวิษุวัตเป็นจุดเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง และเหมายันเป็นจุดเริ่มต้นฤดูหนาว การแบ่งฤดูกาลฟ้าแบบนี้จะไม่ตรงกับฤดูกาลจริงสักเท่าใดนัก แต่ส่วนใหญ่ก็จะไม่ถือสากัน เพราะฤดูของฟ้าไม่มีจริงอยู่แล้ว ที่เรียกชื่อกันเช่นนี้เป็นเพียงความต้องการแบ่งช่วงเวลาในรอบปีออกเป็นสี่ส่วนเท่า ๆ กันโดยอิงชื่อฤดูกาลบนโลกเท่านั้น
แม้คนไทยเราจะไม่ค่อยถือสานักเรื่องชื่อของวิษุวัตและอายันที่เหลื่อมกับฤดูกาลจริงแต่คนอีกซีกโลกหนึ่งเขาไม่คิดเช่นนั้น ดังที่ทราบกันดีว่า ฤดูกาลของซีกโลกเหนือกับซีกโลกใต้จะตรงข้ามกัน ช่วงที่ซีกโลกเหนือเป็นฤดูร้อน ซีกโลกใต้จะเป็นฤดูหนาว ดังนั้นวัน vernal equinox ที่ทางบ้านเราเริ่มจะร้อน แต่ทางซีกโลกใต้กำลังจะเข้าฤดูหนาว พอถึง autumnal equinox ที่ทางเราเริ่มจะเย็น แต่ทางซีกโลกใต้กำลังจะอุ่น อารยธรรมหลักของโลกส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ซีกโลกเหนือ ชื่อเรียกต่าง ๆ รวมถึงชื่อเรียกวิษุวัตก็อิงฤดูกาลของซีกโลกเหนือ แต่ปัจจุบันมีคนอาศัยอยู่ทั่วทั้งซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ การเรียกวิษุวัตตามฤดูกาลที่อิงซีกโลกเหนือจึงเป็นเรื่องขัดความรู้สึกคนในซีกโลกใต้เป็นอย่างมาก จึงมีความพยายามจะเรียกชื่อวิษุวัตและอายันเสียใหม่โดยอิงเดือนที่เกิดแทนการอิงฤดูกาล ซึ่งมีความเป็นสากลมากกว่า ดังนั้น vernal equinox ก็เรียกเป็น March equinox, summer solstice ก็เรียกเป็น June solstice, autumnal equinox ก็เรียกเป็น September equinox และ winter solstice ก็เรียกเป็น December solstice แบบนี้ก็ชัดเจนดี การเรียกชื่อแบบนี้จึงนิยมเรียกกันในซีกโลกใต้ เช่นในออสเตรเลีย ส่วนในซีกโลกเหนือดูจะยังนิยมเรียกแบบอิงฤดูกาลมากกว่า
ลืมบอกไปคำว่า ศารทวิษุวัต ต้องอ่านว่า /สา-ระ-ทะ-วิ-สุ-วัด/ ไม่ใช่ /สาด-วิ-สุ-วัด/ ส่วน วสันตวิษุวัต ก็อ่านว่า /วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด/
มักกล่าวกันว่าวันวิษุวัตเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงทิศตะวันออกพอดีและตกทางทิศตะวันตกพอดี หากมองให้ละเอียดก็ไม่ตรงเสียทีเดียว และเป็นไปไม่ได้ที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางตะวันออกพอดีและตกทางตะวันตกพอดีในวันเดียวกัน เพราะดวงอาทิตย์เปลี่ยนตำแหน่งบนทรงกลมฟ้าตลอดเวลา ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงจุดตะวันออกพอดีหรือตกทางจุดตะวันตกพอดีก็ต่อเมื่อการขึ้นหรือตกนั้นเกิดขึ้นในช่วงที่ดวงอาทิตย์มาอยู่ที่จุดวิษุวัตพอดี ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก และหากเกิดขึ้นจริง ก็จะตรงทิศแค่ขาขึ้นหรือขาลงเท่านั้น เช่นหากมีวันวสันตวิษุวัตใดที่ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงจุดตะวันออกพอดี พอถึงตอนพระอาทิตย์ตกก็จะตกที่ตะวันตกเฉียงเหนือเล็กน้อยเพราะระยะเวลาครึ่งวันที่ผ่านมา ดวงอาทิตย์ก็ขยับขึ้นเหนือเส้นศูนย์สูตรไปแล้ว ในทำนองเดียวกัน หากวันใดดวงอาทิตย์ตกลงจุดตะวันตกพอดี ตอนขึ้นก็จะไม่ตรงทิศตะวันออกพอดี แต่จะเป็นทิศตะวันออกเฉียงใต้เล็กน้อย ดังนั้น หากจะกล่าวให้ถูกต้องมากกว่าก็คือ วันวิษุวัตเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นใกล้จุดตะวันออกที่สุดและตกใกล้จุดตะวันตกมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ความคลาดเคลื่อนนี้ต่ำมากเพียงไม่ถึงหนึ่งองศา โดยทั่วไปจึงพูดโดยอนุโลมได้ว่าเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกทางทิศตะวันออกและตะวันตกพอดี
คำว่าวิษุวัตมีความหมายตามรากศัพท์ว่า เวลากลางวันกลางคืนเท่ากัน ซึ่งก็หมายความว่าเป็นวันที่กลางวันยาว 12 ชั่วโมงและกลางคืนยาว 12 ชั่วโมงเท่ากันพอดิบพอดี เวลามีคนถามว่าวันวิษุวัตคืออะไร ก็มักจะตอบกันว่า คือวันที่กลางวันกับกลางคืนยาวเท่ากัน ตามสื่อต่าง ๆ ที่ประชาสัมพันธ์ถึงวันวิษุวัตก็มักอธิบายขยายความให้ด้วยว่าเป็นวันที่กลางวันกับกลางคืนยาวเท่ากัน แต่เชื่อหรือไม่ ข้อความนี้ไม่จริง หากมีใครขยันไปจับเวลาช่วงตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าในวันวิษุวัต จะพบว่าช่วงเวลากลางวันก็ยังยาวนานกว่ากลางคืนอยู่หลายนาที ที่เป็นเช่นนี้มีสาเหตุสองประการ
ประการแรกการระบุเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ไม่ได้อิงที่จุดกึ่งกลางดวงอาทิตย์ แต่อิงที่ขอบบนของดวงอาทิตย์ นั่นคือ เวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้น หมายถึงเวลาที่ขอบบนของดวงอาทิตย์สัมผัสขอบฟ้าพอดี และเวลาที่ดวงอาทิตย์ตก ก็คือเวลาที่ขอบบนของดวงอาทิตย์หลุดสัมผัสขอบฟ้าพอดี ซึ่ง ณ สองเวลาดังกล่าว กึ่งกลางดวงอาทิตย์อยู่ต่ำกว่าขอบฟ้าแล้ว การกำหนดเช่นนี้ทำให้ระยะเวลากลางวันนานกว่ากลางคืนแม้ในวันวิษุวัต
ประการที่สองคือ เกิดจากการหักเหแสงของบรรยากาศโลก แสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกขณะที่อยู่ใกล้ขอบฟ้าไม่ได้เดินทางเป็นเส้นตรง แต่เดินทางเป็นเส้นโค้งเนื่องจากแสงหักเหในบรรยากาศโลก ดังนั้น แม้ดวงอาทิตย์ทั้งดวงจะอยู่ต่ำกว่าขอบฟ้าไปแล้ว แต่คนบนโลกก็ยังมองเห็นดวงอาทิตย์อยู่ ปรากฏการณ์นี้ช่วยให้ระยะเวลาของกลางวันยิ่งยาวขึ้นไปอีก
ด้วยเหตุนี้วันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันตามที่สังเกตได้จึงไม่ได้อยู่ในวันวิษุวัตพอดี แต่จะเกิดก่อนหน้าวันวสันตวิษุวัตนานราวหนึ่งสัปดาห์ และอีกครั้งหนึ่งก็คือหลังวันศารทวิษุวัตราวหนึ่งสัปดาห์เช่นเดียวกัน การหักเหแสงของบรรยากาศมีมากน้อยไม่คงที่ มีตัวแปรมากซึ่งไม่อาจคำนวณได้ ดังนั้นจึงระบุให้ชัดเจนไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นวันใด
วันวิษุวัตคืออะไร?
ทราบหรือไม่
1.
2.
3.
ในปีนี้
เรียนมานมนาน ในหนังสือเขาบอกว่าวสันตวิษุวัตต้องเป็นวันที่ 21 มีนาคม ไม่ใช่เหรอ?
ใครบอกเล่าว่ามีเฉพาะวันที่
ในคริสต์ศตวรรษนี้มีวันวสันตวิษุวัตที่ตรงกับวันที่
ตั้งไข่
ในหมู่ชาวจีนและชาวตะวันตกมีความเชื่อว่า
ชื่อนี้มีปัญหา
วันวิษุวัตที่เกิดในเดือนมีนาคม
แม้คนไทยเราจะไม่ค่อยถือสานักเรื่องชื่อของวิษุวัตและอายันที่เหลื่อมกับฤดูกาลจริง
ลืมบอกไป
ไม่ตรงนิยาม
มักกล่าวกันว่า
คำว่าวิษุวัต
ประการแรก
แผนภาพแสดงการหักเหของแสงอาทิตย์เมื่อผ่านบรรยากาศโลก ทำให้ตำแหน่งปรากฏของดวงอาทิตย์ต่างไปจากตำแหน่งจริง ขณะที่อยู่ใกล้ขอบฟ้า ตำแหน่งปรากฏของดวงอาทิตย์จะอยู่สูงกว่าความเป็นจริง แม้แต่ขณะที่ดวงอาทิตย์อยู่ต่ำกว่าขอบฟ้าแล้ว แต่คนบนโลกก็อาจยังเห็นดวงอาทิตย์อยู่ ทั้งหมดเป็นผลจากการหักเหแสง (จาก timeanddate.com)
ประการที่สอง
ด้วยเหตุนี้