สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวประกายพรึก (มิถุนายน 2547)

ดาวประกายพรึก (มิถุนายน 2547)

27 มกราคม 2547
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 23 มิถุนายน 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
นับจากปลายปีที่แล้วจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม ดาวศุกร์อยู่ในท้องฟ้าเวลาหัวค่ำทางทิศตะวันตก หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่าดาวประจำเมือง หลังจากนั้นดาวศุกร์ได้ผ่านหน้าดวงอาทิตย์เมื่อวันที่ มิถุนายนที่ผ่านมา แล้วจะกลับมาให้เห็นในท้องฟ้าเวลาเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นในปลายเดือนมิถุนายนนี้

ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์หนึ่งในห้าดวงบนท้องฟ้าที่เป็นที่รู้จักกันมานานหลายพันปี อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก ได้ชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดในท้องฟ้า บางคนอาจเรียกดาวศุกร์ว่าน้องสาวของโลก เนื่องจากมันมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าโลกเพียงเล็กน้อย และมีองค์ประกอบในบรรยากาศคล้ายกับโลกในยุคดึกดำบรรพ์

การที่ดาวศุกร์มีวงโคจรใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก เราจึงมีโอกาสเห็นดาวศุกร์ได้เวลาใดเวลาหนึ่งใน ช่วงเวลานี้ คือ เวลาหัวค่ำที่เรียกกันว่า "ดาวประจำเมือง" หรือเวลาเช้ามืดที่เรียกกันว่า "ดาวประกายพรึก" หากดาวศุกร์ปรากฏในเวลาหัวค่ำมันจะอยู่ทางทิศตะวันตก แต่หากปรากฏในเวลาเช้ามืดมันจะอยู่ทางทิศตะวันออก กาลิเลโอ นักดาราศาสตร์ชาวอิตาเลียน เป็นคนแรกที่ใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องดูดาวศุกร์ และพบว่าดาวศุกร์มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างคล้ายกับการเปลี่ยนแปลงดิถีของดวงจันทร์ นักดาราศาสตร์ในอดีตที่ส่องกล้องดูดาวศุกร์พบว่าดาวศุกร์มีร่องรอยจางๆ ปรากฏบนผิวดวง ปัจจุบันเราทราบว่าร่องรอยเหล่านั้นเป็นเมฆที่ปกคลุมรอบตัวดวง จึงไม่สามารถสังเกตเห็นพื้นผิวอย่างที่เห็นบนดาวอังคาร

ภาพถ่ายดาวศุกร์ในย่านอัลตราไวโอเลตจากยานไพโอเนียร์วีนัสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1979 แสดงให้เห็นเมฆที่ปกคลุมหนาทึบในบรรยากาศ (ภาพจาก NASA) 

ดาวศุกร์ผ่านใกล้ดาวอัลเดบารันในกลุ่มดาววัว มองเห็นได้ในเวลาเช้ามืด
 


การศึกษาดาวศุกร์ในย่านอินฟราเรดในปี ค.ศ. 1932 ทำให้พบว่าดาวศุกร์มีบรรยากาศที่ประกอบด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นส่วนใหญ่ การศึกษาด้วยคลื่นไมโครเวฟในปลายทศวรรษ 1950-1960 ทำให้พบว่าพื้นผิวดาวศุกร์มีอากาศร้อนอย่างร้ายกาจด้วยอุณหภูมิเกือบ 500 องศาเซลเซียสในด้านที่เป็นกลางวัน และยังมีฝนของกรดซัลฟิวริกที่เป็นผลผลิตจากภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่

เมื่อมีการใช้เรดาร์ศึกษาดาวศุกร์จากพื้นโลก พบว่าดาวศุกร์หมุนรอบตัวเองในทิศทางและอัตราที่ไม่ปกตินัก โลกและดาวเคราะห์ส่วนใหญ่หมุนรอบตัวเองในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาเมื่อมองลงมาจากด้านเหนือของระบบสุริยะ แต่ดาวศุกร์หมุนรอบตัวเองในทิศทางตรงกันข้าม หากเราไปยืนบนดาวศุกร์จะพบว่าดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตกและตกทางทิศตะวันออก นักวิทยาศาสตร์คาดว่าการหมุนรอบตัวเองที่แปลกประหลาดนี้ อาจมีสาเหตุจากการที่ดาวศุกร์ถูกชนโดยวัตถุขนาดใหญ่ในช่วงแรกๆ ที่มันกำลังก่อตัวเป็นดาวเคราะห์ นอกจากนี้ หนึ่งวันบนดาวศุกร์ยังมีความยาวนานถึง 243 วันโลก

ในอดีตมียานอวกาศหลายลำที่ออกเดินทางไปสำรวจดาวศุกร์ ทั้งจากสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย ที่ประสบผลสำเร็จคือยานมาริเนอร์ ยานมาริเนอร์ และยานมาริเนอร์ 10 ที่ผ่านใกล้ดาวศุกร์ในช่วงปี ค.ศ. 1962-1974 ต่อมาองค์การนาซาได้ส่งยานไพโอเนียร์วีนัสไปยังดาวศุกร์ในปี ค.ศ. 1978 ซึ่งมียานลูกถูกหย่อนลงไปในบรรยากาศของดาวศุกร์เพื่อเก็บข้อมูลองค์ประกอบและถ่ายภาพพื้นผิวของดาวศุกร์

รัสเซียส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวศุกร์จำนวนหลายลำในกลุ่มของยานเวเนรา และถือเป็นดาวเคราะห์ที่รัสเซียให้ความสนใจมากเป็นพิเศษในช่วงทศวรรษ 1960-1980 มีการส่งยานไปโคจรรอบดาวศุกร์และลงแตะพื้นผิวของดาวศุกร์ โดยเฉพาะยานเวเนรา 15 และยานเวเนรา 16 ที่สามารถถ่ายภาพความละเอียดสูงของพื้นผิวดาวศุกร์ได้

ยานอวกาศที่สามารถเก็บข้อมูลดาวศุกร์ได้มากที่สุดนับถึงปัจจุบันคือยานมาเจลันของสหรัฐฯ ที่ส่งออกจากโลกในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1989 ถึงดาวศุกร์ในเดือนสิงหาคม 1990 วงโคจรของยานที่เกือบตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรและผ่านใกล้ขั้วทั้งสองของดาวศุกร์ ทำให้สามารถใช้เรดาร์ทำแผนที่ดาวศุกร์เกือบทั่วทั้งดวง

ปลายเดือนมิถุนายนนี้เราจะเริ่มเห็นดาวศุกร์ได้ในท้องฟ้าเวลาเช้ามืด โดยที่ดาวศุกร์จะมีตำแหน่งใกล้ขอบฟ้าขณะที่ท้องฟ้าเริ่มสว่าง หากท้องฟ้าปลอดโปร่ง ขณะที่ดาวศุกร์โผล่เหนือขอบฟ้าขึ้นมา ดาวศุกร์จะมีสีเหลืองทองและมีการกะพริบแสงดูแปลกตา หากใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องดูจะเห็นว่าดาวศุกร์มีส่วนสว่างเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ ต้นเดือนกรกฎาคมดาวศุกร์จะผ่านใกล้ดาวอัลเดบารัน ดาวฤกษ์สว่างในกลุ่มดาววัว