เหตุใดดาวศุกร์จึงสว่างนัก
คนที่ชอบดูดาวเป็นประจำ จะคุ้นเคยกับดาวดวงหนึ่งที่สว่างไสวกว่าดาวดวงใดบนท้องฟ้ายามค่ำคืน สว่างนิ่งไม่กะพริบ มองเห็นได้ในช่วงหัวค่ำหรือเช้ามืด คนไทยเรียกกันมานานว่า ดาวประจำเมือง หากเห็นช่วงหัวค่ำ และเรียกว่า ดาวประกายพรึก หากเห็นช่วงเช้ามืด ไม่ว่าจะเป็นดาวประกายพรึกหรือดาวประจำเมืองก็คือดาวดวงเดียวกัน นั่นคือ ดาวศุกร์
ในบรรดาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะมีอยู่ห้าดวงที่เรามองเห็นได้ด้วยตาเปล่า นั่นคือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์
เราอาจนับรวมดาวยูเรนัสเข้าไปด้วยเป็นหกดวงก็พอได้เพราะในช่วงที่มีความสว่างมากที่สุดดาวยูเรนัสมีความสว่างได้ถึงอันดับ 5.6 ซึ่งอยู่ในระดับที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ดาวฤกษ์ที่มีความสว่างระดับใกล้เคียงกับดาวยูเรนัสมีอยู่เป็นจำนวนมากจนดูกลืนไปกับพื้นหลังจนหมด เป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติที่จะจำแนกได้ว่าจุดแสงจุดไหนคือดาวยูเรนัสด้วยตาเปล่า ดังนั้นโดยทั่วไปจึงถือว่าดาวยูเรนัสมองเห็นไม่ได้ด้วยตาเปล่า
ในบรรดาดาวเคราะห์ทั้งห้าดวงที่กล่าวมาแล้วดาวศุกร์มีความสว่างมากที่สุด โดยในช่วงที่สว่างที่สุดมีอันดับความสว่างถึง -4.7 ซึ่งสว่างกว่าดาวซิริอัสที่เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้ายามค่ำคืนถึง 16 เท่า และหากจะเทียบกับวัตถุท้องฟ้าทั้งหมดแล้ว ความสว่างของดาวศุกร์เป็นรองเพียงดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เท่านั้น
ดาวศุกร์สว่างได้มากกว่าดาวฤกษ์ทั่วไปมากประกอบกับช่วงที่ดาวศุกร์สว่างที่สุดเกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ในรอบปี ดาวศุกร์ในช่วงที่สว่างที่สุดจึงอาจเป็นสิ่งไม่คุ้นเคยสำหรับคนที่ไม่ได้สังเกตท้องฟ้าเป็นประจำ หลายคนถึงกับคิดเลยเถิดไปถึงสิ่งที่ไม่ใช่ดาว บางคนถึงขั้นเข้าใจว่าเป็นยูเอฟโอ ในหมู่นักท่องป่าของไทยเคยมีเรื่องเล่าของนายพรานสมัครเล่นที่ออกส่องไฟล่าสัตว์ตอนกลางคืน เมื่อเห็นแสงดาวศุกร์สว่างโร่ส่องแสงลอดช่องไม้ของป่าทึบเข้ามาแล้วก็เข้าใจไปว่าเป็นตากวาง ซัดเปรี้ยงเข้าให้ แต่ไม่ว่าจะยิงไปกี่นัด กวางนั่นก็ไม่ล้มไม่หนีเสียที กว่าจะรู้ว่าตนหลงไปยิงดาวศุกร์เข้าให้แล้วก็หมดกระสุนไปไม่น้อย รู้ถึงไหนอายเขาถึงนั่น
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าในช่วงที่สว่างที่สุด เราอาจมองเห็นดาวศุกร์ได้ในเวลากลางวันเลยทีเดียว ช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดในการมองหาดาวศุกร์ในเวลากลางวันคือ ในวันฟ้าใสก่อนพระอาทิตย์จะตกดิน เอามือปิดดวงอาทิตย์หรือแอบอยู่หลังสิ่งกำบังเพื่อปิดแสงจ้าของดวงอาทิตย์ไป แล้วกวาดสายตาหาจุดแสงในตำแหน่งที่ดาวศุกร์อยู่ คุณอาจใช้กล้องสองตาช่วยด้วยก็ได้ เมื่อกล้องสองตาช่วยให้พบดาวศุกร์ได้แล้วค่อยเอากล้องออกแล้วมองไปที่ตำแหน่งเดิมอีกครั้งด้วยตาเปล่า ก็จะสังเกตจุดของดาวศุกร์ได้ไม่ยาก สำหรับตำแหน่งที่แน่นอนของดาวศุกร์ ลองตรวจสอบกับเว็บไซต์หรือซอฟต์แวร์ดูดาวหรือแอปพลิเคชันแผนที่ดาวก็ได้
เคยสงสัยกันหรือไม่ดาวศุกร์มีขนาดใกล้เคียงกับโลก ในขณะที่ดาวพฤหัสบดีมีขนาดใหญ่กว่าโลกถึง 11 เท่า ดาวเสาร์ใหญ่กว่าโลก 9 เท่า แต่เหตุใดดาวยักษ์ทั้งสองกลับสว่างไม่ได้ครึ่งของดาวศุกร์ นั่นเพราะขนาดของดาวเคราะห์ไม่ใช่ปัจจัยเดียวของความสว่างนั่นเอง
ดาวเคราะห์ส่องแสงเองไม่ได้แสงจากดาวเคราะห์เกิดจากการสะท้อนแสงอาทิตย์ ความสว่างปรากฏของดาวเคราะห์ขึ้นอยู่กับสี่ปัจจัยหลัก คือ 1. ระยะห่างระหว่างดาวเคราะห์นั้นกับดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ยิ่งอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ก็จะยิ่งสว่าง 2. ระยะห่างระหว่างดาวเคราะห์นั้นกับโลก ดาวเคราะห์ยิ่งอยู่ใกล้โลก เราก็ยิ่งมองเห็นสว่างมากขึ้น 3. พื้นที่ส่องสว่าง (ดิถี) บนดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์ที่มีพื้นที่ส่องสว่างมากย่อมปรากฏสว่างมากขึ้นด้วย และ 4. อัตราสะท้อนแสงของดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์ที่พื้นผิวขาวซีดย่อมปรากฏสว่างได้มากกว่าดาวเคราะห์ที่พื้นผิวมืดคล้ำ
ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์วงในหมายความว่ามีวงโคจรอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ได้มากกว่าโลก แสงอาทิตย์ที่ดาวศุกร์ได้รับก็มีความเข้มมากด้วย นอกจากนี้ดาวศุกร์ยังมีวงโคจรถัดจากโลกเข้ามา จึงมีโอกาสเข้าใกล้โลกได้มากที่สุด ในช่วงที่เข้าใกล้โลกมาก จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเชิงมุมเกินหนึ่งลิปดา แม้ในช่วงที่เข้าใกล้โลกดิถีของดาวศุกร์จะเป็นเสี้ยวบาง ๆ ก็ตาม แต่ขนาดปรากฏที่ใหญ่ขึ้นทำให้พื้นที่ส่องสว่างปรากฏกว้างมาก ดาวศุกร์ในช่วงที่เป็นเสี้ยวจึงสว่างได้มากกว่าช่วงที่สว่างใกล้เต็มดวง
ประการสุดท้ายที่ทำให้ดาวศุกร์ครองแชมเปี้ยนด้านความสว่างอย่างไร้คู่ต่อกรก็คือดาวศุกร์สะท้อนแสงดีมาก สะท้อนแสงที่ตกกระทบได้มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์ทั้งหมด อัตราสะท้อนระดับนี้ใกล้เคียงกับอัตราสะท้อนแสงของพื้นที่หิมะปกคลุมเลยทีเดียว ความจริงสิ่งที่สะท้อนแสงบนดาวศุกร์ไม่ใช่พื้นผิว แต่เป็นชั้นเมฆ บรรยากาศของดาวศุกร์หนาแน่นมากจนเมื่อมองจากภายนอกจะมองเห็นได้เพียงชั้นเมฆเท่านั้น ไม่มีทางมองเห็นพื้นผิวได้เลย สีขาวนวลอมเหลืองของดาวศุกร์ก็คือสีของเมฆบนดาวศุกร์นั่นเอง
เมื่อพิจารณาปัจจัยทั้งสี่แล้วจะเห็นว่าดาวศุกร์ได้เปรียบเหนือกว่าดาวเคราะห์ดวงอื่นเกือบทุกข้อ จึงทำให้มีความสว่างมากที่สุด
ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์วงในขณะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ดิถีจึงเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่เป็นเสี้ยวบางเฉียบจนถึงเกือบเต็มดวง ระยะห่างระหว่างโลกกับดาวศุกร์ก็เปลี่ยนไปอย่างมากเช่นกัน ดังนั้นดาวศุกร์จึงมีความสว่างผันแปรมาก ช่วงที่ดาวศุกร์สว่างมากที่สุดคือ ณ เวลาประมาณ 36 วันก่อนและหลังตอนที่อยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ (ร่วมทิศแนววงใน) ในช่วงเวลาดังกล่าวดาวศุกร์จะอยู่ใกล้โลกมาก และเป็นรูปเสี้ยวสวยงามใกล้เคียงกับดวงจันทร์วันขึ้น 4-5 ค่ำ ดังนั้นคนที่มีกล้องสองตาหรือกล้องดูดาว อย่าลืมนำมาส่องดูดาวศุกร์ในช่วงนี้ด้วยจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างดาวศุกร์อย่างชัดเจน
เมื่อสังเกตดาวศุกร์ทุกวันจะสังเกตว่าดาวศุกร์ที่ปรากฏในตอนหัวค่ำ หรือที่เรียกว่าดาวประจำเมือง ดิถีของดาวศุกร์เป็นเสี้ยวบางลงเรื่อย ๆ หลังจากผ่านช่วงที่สว่างที่สุดแล้ว ตำแหน่งของดาวศุกร์ก็ขยับเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ไปทุกวัน จนกระทั่งจมหายไปในแสงจ้าของดวงอาทิตย์ ในช่วงที่ดาวศุกร์เข้ามาอยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ เราจะไม่มีโอกาสเห็นดาวศุกร์ จนกระทั่งดาวศุกร์แซงหน้าไปสักระยะหนึ่ง เราก็จะมีโอกาสเห็นดาวศุกร์อีกครั้ง แต่ต้องไปดูเวลาเช้ามืด กลายเป็นดาวประกายพรึก จากนั้นลำดับขั้นตอนของดิถีและการเปลี่ยนแปลงความสว่างจะเกิดย้อนทางกับช่วงก่อนหน้า
ดาวเคราะห์ในปี 2566
ในบรรดาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ
เราอาจนับรวมดาวยูเรนัสเข้าไปด้วยเป็นหกดวงก็พอได้
ในบรรดาดาวเคราะห์ทั้งห้าดวงที่กล่าวมาแล้ว
ดาวเคราะห์ | อันดับความสว่าง |
---|---|
ดาวศุกร์ | -4.7 |
ดาวอังคาร | -2.9 |
ดาวพฤหัสบดี | -2.8 |
ดาวพุธ | -1.9 |
ดาวเสาร์ | 0.7 |
ดาวศุกร์สว่างได้มากกว่าดาวฤกษ์ทั่วไปมาก
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า
เหตุใดจึงสว่างนัก
เคยสงสัยกันหรือไม่
ดาวเคราะห์ส่องแสงเองไม่ได้
ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์วงใน
ประการสุดท้ายที่ทำให้ดาวศุกร์ครองแชมเปี้ยนด้านความสว่างอย่างไร้คู่ต่อกรก็คือ
ดาวเคราะห์ | อัตราสะท้อน |
---|---|
ดาวศุกร์ | 0.69 |
ดาวพฤหัสบดี | 0.54 |
ดาวเสาร์ | 0.50 |
โลก | 0.43 |
ดาวอังคาร | 0.17 |
ดาวพุธ | 0.14 |
เมื่อพิจารณาปัจจัยทั้งสี่แล้ว
ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์วงใน
เมื่อสังเกตดาวศุกร์ทุกวัน