สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สถานีอวกาศกับกระสวยอวกาศ

สถานีอวกาศกับกระสวยอวกาศ

19 กุมภาพันธ์ 2551
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 21 พฤษภาคม 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ค่ำวันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 สถานีอวกาศนานาชาติและกระสวยอวกาศแอตแลนติสจะโคจรผ่านเหนือท้องฟ้าประเทศไทยโดยเห็นเป็นจุดสว่างคล้ายดาวแต่เคลื่อนที่ได้ สำหรับกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง สถานีอวกาศและกระสวยอวกาศเริ่มปรากฏในเวลาประมาณ 19.35 น. ตรงบริเวณใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นโดยเฉียงไปทางซ้ายมือ ถึงจุดสูงสุดบนท้องฟ้าในเวลา 19.38 น. ที่มุมเงยราว 60 องศา ต่อมามันจะจางลงเมื่อเคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลกในอีกไม่เกิน 20 วินาที สถานีอวกาศและกระสวยอวกาศหายไปที่มุมเงยประมาณ 40-50 องศา บนท้องฟ้าด้านทิศใต้

กระสวยอวกาศแอตแลนติสขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่วันที่ กุมภาพันธ์ 2551 โดยไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติในวันที่ กุมภาพันธ์ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว กระสวยอวกาศแยกตัวออกจากสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ หลังจากนั้นทั้งคู่เคลื่อนห่างออกจากกัน กระสวยอวกาศมีกำหนดกลับสู่พื้นโลกในเช้าวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ตามเวลาท้องถิ่นที่ฟลอริดา นั่นหมายความว่าในคืนวันอังคารนี้หากฟ้าเปิด ประเทศไทยจะมีโอกาสเห็นสถานีอวกาศนานาชาติและกระสวยอวกาศแอตแลนติส เป็นดาวสว่างสองดวงเคลื่อนข้ามท้องฟ้าโดยจะเห็นกระสวยอวกาศเคลื่อนนำหน้าสถานีอวกาศหลายองศา และห่างจากกันมากขึ้นเมื่อมีมุมเงยสูงขึ้น

สถานีอวกาศจัดว่าเป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นและโคจรอยู่รอบโลกที่สว่างมากดวงหนึ่งบนท้องฟ้า (ยังมีการสว่างจ้าของดาวเทียมอิริเดียม ซึ่งสว่างกว่าหลายเท่า) แต่สถานีอวกาศไม่ได้มาปรากฏให้เห็นได้ทุกวัน เนื่องจากมันเคลื่อนที่รอบโลกด้วยคาบประมาณ 90 นาที และทุกรอบที่เคลื่อนที่ไปนั้น วงโคจรของสถานีอวกาศเมื่อเทียบกับพิกัดบนพื้นโลกจะเปลี่ยนไปทุกรอบ ประกอบกับเรามีโอกาสมองเห็นสถานีอวกาศรวมทั้งดาวเทียมดวงอื่น ๆ ได้เฉพาะเวลาหัวค่ำและก่อนรุ่งเช้าเท่านั้น อันเป็นจังหวะเวลาที่แสงอาทิตย์ตกกระทบสถานีอวกาศและท้องฟ้ามืดเพียงพอ

การเห็นกระสวยอวกาศและสถานีอวกาศนานาชาติพร้อมกันสำหรับประเทศไทยไม่ค่อยเกิดบ่อยนัก ช่วงที่กระสวยอวกาศขึ้นไปปฏิบัติภารกิจในอวกาศ โดยมากเป็นช่วงที่มันมักจะไม่โคจรผ่านท้องฟ้าประเทศไทยในเวลาที่เหมาะสม

ภาพบนเป็นเส้นทางการเคลื่อนที่ของสถานีอวกาศนานาชาติและกระสวยอวกาศแอตแลนติสขณะผ่านท้องฟ้ากรุงเทพฯ ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 แผนภาพนี้ยังพอใช้ได้กับจังหวัดส่วนใหญ่ของภาคกลางและภาคตะวันออก ส่วนภาคเหนือและภาคอีสานมีเส้นทางการเคลื่อนที่คล้ายคลึงกันแต่ต่ำกว่านี้ ในส่วนของภาคใต้ตอนล่างจะเห็นสถานีอวกาศและกระสวยอวกาศเริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศเดียวกัน แต่เคลื่อนเฉียงไปทางขวามือและใกล้ขอบฟ้ามากกว่าภาคกลาง 

บทความที่เกี่ยวข้อง :