สมาคมดาราศาสตร์ไทย

อุกกาบาตในประเทศไทย

อุกกาบาตในประเทศไทย

24 กรกฎาคม 2550 โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 7 ธันวาคม 2559
วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม 2550 เวลาประมาณ 19.40 น. ได้มีรายงานการเห็นลูกไฟขนาดใหญ่ ส่องแสงสว่างสีเขียวอมน้ำเงินเจิดจ้าสวยงามมาก เคลื่อนผ่านท้องฟ้าโดยสามารถเห็นได้ในพื้นที่ภาคกลางตอนบนถึงภาคเหนือ วันรุ่งขึ้นมีชาวบ้านที่ จ.ตาก อ้างว่าเก็บก้อนหินที่เชื่อว่าเป็นอุกกาบาตได้ เป็นข่าวที่สร้างความแตกตื่นอยู่ไม่กี่วันจนกระทั่งกรมทรัพยากรธรณีได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเดินทางไปตรวจพิสูจน์ พบก้อนหินดังกล่าวเป็นสีขาว ผิวขรุขระ มีรูพรุนทั่วทั้งก้อน เส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้ว น้ำหนัก 4.5 กิโลกรัม ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีได้วิเคราะห์และสรุปว่าเป็นทูฟา (Tufa) ตะกอนเคมีที่ประกอบด้วยแคลเซียมคาร์บอเนต เกิดจากการตกตะกอนทางเคมีหรือการระเหยของน้ำจนทำให้เกิดการพอกเป็นเปลือกชั้นบาง ๆ โดยมักพบบริเวณน้ำพุ ธารน้ำไหล หรือในถ้ำ ไม่มีลักษณะที่แสดงว่าเป็นอุกกาบาตจากนอกโลกแต่อย่างใด

ลูกไฟจากฝนดาวตกสิงโต 2541 (ภาพโดย Lorenzo Lovato) 

ดาวตกที่สว่างมากซึ่งนักดาราศาสตร์เรียกว่าลูกไฟหรือทับศัพท์ว่าไฟร์บอล (fireball) อย่างที่เห็นในคืนวันที่ 14 กรกฎาคมนั้นโดยปกติไม่ค่อยมีให้เราได้เห็นบ่อย ๆ ส่วนอุกกาบาตที่ตกลงสู่พื้นโลกยิ่งมีพบเห็นได้น้อยมาก แต่ถ้าพิจารณาดูแล้วทั้งสองอย่างอาจมีอยู่พอสมควรแต่ส่วนใหญ่ไปตกในพื้นที่ป่า มหาสมุทร หรือสถานที่ที่ไม่มีคนอาศัยอยู่

หลุมอุกกาบาตขนาด 1,186 เมตร ลึก 200 เมตร ที่แอริโซนา สหรัฐอเมริกา ประเมินว่าเกิดจากการชนของอุกกาบาตขนาด 30 เมตร ด้วยอัตราเร็ว 20 กิโลเมตรต่อวินาที เมื่อราว 49,000 ปีก่อน (ภาพจาก D. Roddy (U.S. Geological Survey), Lunar and Planetary Institute) 

ก้อนหินจากอวกาศที่ตกลงบนพื้นโลกซึ่งเราเรียกว่าอุกกาบาตนั้นเป็นชิ้นส่วนของวัตถุในระบบสุริยะ เช่น ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ อุกกาบาตเหล่านี้ช่วยนักวิทยาศาสตร์ในการศึกษาการก่อกำเนิดและความเป็นมาของระบบสุริยะที่เราอยู่ อาจแบ่งประเภทของอุกกาบาตที่พบได้เป็น ประเภทใหญ่ ๆ คือ อุกกาบาตหิน อุกกาบาตเหล็ก และอุกกาบาตเหล็กปนหิน นับถึงปัจจุบันประเทศไทยมีรายงานการค้นพบก้อนอุกกาบาตที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นของจริงบันทึกไว้ ครั้ง ได้แก่ อุกกาบาตนครปฐม (2466) อุกกาบาตเชียงคาน (2524) และอุกกาบาตบ้านร่องดู่ (2536) ข้อมูลด้านล่างนี้บางส่วนนำมาจากบทความของคุณพิชิต อิทธิศานต์ ตีพิมพ์ในนิตยสารอัพเดท ฉบับกรกฎาคม 2536 และจากฐานข้อมูลอุกกาบาตของสหรัฐอเมริกาที่ค้นได้จากอินเทอร์เน็ต

อุกกาบาตนครปฐม

อุกกาบาตนครปฐมตกลงมาจากฟ้าเมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. ของคืนวันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2466 โดยทะลุผ่านหลังคายุ้งข้าวของนายยอด ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครปฐม อุกกาบาตนครปฐมมีสองก้อน ก้อนเล็กหนัก 9.6 กิโลกรัม รวมสองก้อนหนักถึง 32.2 กิโลกรัม จัดเป็นอุกกาบาตหิน มีเหล็กเป็นส่วนผสมประมาณ 22% รัฐบาลไทยได้อนุญาตให้สหรัฐอเมริกาขอยืมก้อนเล็กไปศึกษา และได้บริจาคชิ้นส่วนหนัก 413 กรัมให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสหรัฐฯ
จุดตกของอุกกาบาตในประเทศไทย (ภาพ วรเชษฐ์ บุญปลอด) 

อุกกาบาตเชียงคาน

อุกกาบาตเชียงคานเป็นอุกกาบาตหิน ประกอบด้วยอุกกาบาตก้อนเล็ก ๆ หลายก้อน ค้นพบหลังจากมีลูกไฟขนาดใหญ่สว่างกว่าแสงจันทร์ พุ่งผ่านท้องฟ้าภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเมื่อเวลา 5.30 น. ของเช้ามืดวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2524 ลูกไฟนั้นไประเบิดเหนือท้องฟ้าอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ใกล้พรมแดนไทย-ลาว มีเสียงดังกึกก้องกัมปนาทได้ยินไปทั่วจังหวัดเลยและจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียง อุกกาบาตตกกระจัดกระจายในพื้นที่ประมาณ 24 ตารางกิโลเมตร

ทีมสำรวจจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ดร.ระวี ภาวิไล เก็บรวบรวมอุกกาบาตได้ 31 ก้อน น้ำหนักรวม 367 กรัม ลูกใหญ่ที่สุดหนัก 51.3 กรัม มีข้อสันนิษฐานว่าหากอุกกาบาตเชียงคานไม่ได้เป็นชิ้นส่วนจากแถบดาวเคราะห์น้อยหลักซึ่งโคจรอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี มีความเป็นไปได้ว่ามันอาจจะเป็นชิ้นส่วนของดาวหางเทมเพล-ทัตเทิล ต้นกำเนิดของฝนดาวตกสิงโต ฝนดาวตกที่เกิดเป็นประจำในวันที่ 16-17 พฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งประเทศไทยและเอเชียมองเห็นได้มากและชัดเจนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2541 และ 2544

อุกกาบาตบ้านร่องดู่

อุกกาบาตบ้านร่องดู่เป็นอุกกาบาตลูกสุดท้ายที่มีรายงานพบในประเทศไทย ตกลงมาในคืนวันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน 2536 เวลาประมาณ 20.45 น. บริเวณพื้นที่ใกล้บ้านของนายสาลีและนางคำหล้า รักก้อน บ้านร่องดู่ ตำบลลานบ่า อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ การตรวจสอบโดยนายสิโรตม์ ศัลยพงษ์ และ ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล ฝ่ายวิจัยธรณีวิทยา กองธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ยืนยันว่าเป็นอุกกาบาตเหล็ก มีประกายโลหะและความถ่วงจำเพาะสูง พบริ้วโลหะเป็นทางบนผิวอุกกาบาตซึ่งเกิดจากการเสียดสีกับบรรยากาศโลก ผิวนอกสุดมีรอยไหม้ ด้านหนึ่งมีรอยยุบบุบแบบก้นหม้อ อีกด้านฉีกขาดเป็นร่องหลืบ ลักษณะทั่วไปคล้ายตะกรันโลหะ ต่างกันที่ไม่มีรูพรุน

รูปร่างของอุกกาบาตบ้านร่องดู่คล้ายลูกสะบ้า กว้าง 7.5 นิ้ว ยาว 10 นิ้ว หนา 4.5 นิ้ว น้ำหนัก 16.7 กิโลกรัม ความถ่วงจำเพาะ 8.08 บริเวณที่พบอุกกาบาตเป็นที่ดอนดินปนทราย เนื้อแน่นปานกลาง ความชื้นต่ำ ลูกอุกกาบาตมุดลงไปในดิน ขณะไปตรวจสอบซึ่งเป็นเวลาหลังจากเอาลูกอุกกาบาตออกมาแล้วพบว่าบริเวณนั้นเป็นหลุมลึก 110 เมตร ประเมินได้คร่าว ๆ ว่าอุกกาบาตพุ่งมาจากทิศใต้เฉียงไปทางตะวันตก 15 องศา และพุ่งลงมาโดยทำมุมประมาณ 80 องศากับพื้นราบ

อุกกาบาตบ้านร่องดู่ (ภาพจากนิตยสารอัพเดท กรกฎาคม 2536) 

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นอุกกาบาต?

เบื้องต้นมีวิธีสังเกตก้อนหินที่อาจเป็นลูกอุกกาบาตได้ง่าย ๆ เช่น ลักษณะแตกต่างจากก้อนหินที่อยู่ในบริเวณข้างเคียง น้ำหนักของวัตถุนั้นผิดปกติ มีความแข็งมากเป็นพิเศษ ผิวไหม้เกรียมคล้ายถูกเผา อุกกาบาตส่วนใหญ่มีปฏิกิริยากับแม่เหล็กเนื่องจากมีส่วนผสมของเหล็กและนิกเกิล

ที่มา

     พิชิต อิทธิศานต์, อุกกาบาต อาคันตุกะจากอวกาศ, นิตยสารอัพเดท, กรกฎาคม 2536
     Meteoritical Bulletin Database The Meteoritical Society/USGS


ข้อมูลเพิ่มเติม (4 มิถุนายน 2552)


วันที่ 21 พฤษภาคม 2552 มีรายงานข่าวการค้นพบวัตถุสีดำ ลักษณะคล้ายอุกกาบาต ตกทะลุหลังคาบ้านของนายสมศักดิ์ เชี่ยววิจิตร เขตเทศบาล จังหวัดพิษณุโลก ได้มีการตรวจสอบจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และยืนยันเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าเป็นอุกกาบาตจริง โดยพบว่าเป็นอุกกาบาตหินเนื้อเม็ด (chondrite) คาดว่ามาจากแถบดาวเคราะห์น้อย ซึ่งเป็นซากที่เหลือจากการก่อกำเนิดระบบสุริยะ