สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เสียงจากดาวตก เรื่องจริงหรือคิดไปเอง?

เสียงจากดาวตก เรื่องจริงหรือคิดไปเอง?

12 เมษายน 2566 โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 20 สิงหาคม 2567
ดาวตก เป็นปรากฏการณ์ท้องฟ้าที่เกิดขึ้นทุกวัน การแหงนมองท้องฟ้ายามค่ำคืน รอคอยว่าจะเกิดดาวตกขึ้นที่ใด เป็นกิจกรรมที่เพลิดเพลิน เจริญตา และน่าประทับใจ

ดาวตกเกิดจากสะเก็ดดาวซึ่งเป็นวัตถุแข็งขนาดเล็กจากอวกาศพุ่งเข้ามายังโลก เมื่อปะทะเข้ากับบรรยากาศ จะเกิดความร้อนขึ้นจนสว่างจ้า ดาวตกจึงมองเห็นเป็นแสงสว่างพุ่งผ่านไปบนท้องฟ้า ยิ่งถ้าดาวตกลูกใดมีเสียงด้วยก็จะยิ่งน่าตื่นเต้นยิ่งขึ้นไปอีก 

เดี๋ยวนะ ดาวตกมีเสียงด้วยเหรอ?


โดยปกติ ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เป็นปรากฏการณ์แบบหนังเงียบ มีเพียงภาพให้มองเห็นเท่านั้น ไม่ว่าปรากฏการณ์นั้นจะมีความรุนแรงหรือทรงพลังเพียงใด ไม่มีใครเคยได้ยินเสียงสุริยุปราคา เสียงซูเปอร์โนวา เสียงแสงวาบรังสีแกมมา หรือเสียงดาราจักรชนกัน เรารับรู้ปรากฏการณ์เหล่านั้นผ่านทางแสงและคลื่นอื่น ๆ ที่ไม่ใช้ตัวกลางเท่านั้น เสียงเป็นคลื่นที่ต้องใช้ตัวกลางจึงเดินทางผ่านอวกาศมาถึงหูเราไม่ได้ เหตุการณ์ต่าง ๆ ในอวกาศจึงไม่มีเสียงมาถึงเรา ดาวตกก็เช่นกัน เรามักมองเห็นดาวตกท่ามกลางความเงียบสงัด ไม่มีเสียงใด ๆ หากจะมีก็คงเป็นเสียงวี้ดว้ายของเพื่อนที่ดูดาวตกอยู่ด้วยกันเท่านั้น

แต่น่าแปลกใจที่มีคนจำนวนไม่น้อยยืนยันว่าตนเคยเห็นได้ยินเสียงดาวตกด้วย ตัวอย่างที่มีบันทึกไว้เช่น บันทึกจากจีนที่มีคนได้ยินเสียงที่มาพร้อมฝนดาวตกใน ค.ศ. 817  เอ็ดมันด์ แฮลลีย์ ก็เคยบันทึกถึงเสียงที่ได้ยินพร้อมกับดาวตกในปี ค.ศ. 1719 

บันทึกการได้ยินเสียงดาวตกส่วนใหญ่บรรยายว่าเสียงเกิดขึ้นกับดาวตกดวงใหญ่ ส่วนใหญ่มีเสียงซู่ซี่เหมือนทอดไก่ บางครั้งก็มีเสียงหวือเหมือนบางอย่างพุ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว หรือคล้ายบางอย่างปริแตก

เสียงดาวตกเกิดขึ้นได้อย่างไร เราได้ยินเสียงจากดาวตกได้จริงหรือ?


ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ดาวตกเกิดจากสะเก็ดดาวที่เป็นของแข็งขนาดเล็กพุ่งเข้าใส่โลกด้วยความเร็วสูง สะเก็ดดาวเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าความเร็วเสียงมาก บางครั้งอาจเร็วถึงหลายสิบกิโลเมตรต่อวินาที การพุ่งเข้ามาในบรรยากาศด้วยความเร็วสูงทำให้เกิดซอนิกบูมดังสนั่นหวั่นไหว จึงมิต้องสงสัยว่า ดาวตกทำให้เกิดเสียงได้อย่างแน่นอน ดาวตกเกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นตัวกลางนำเสียง เสียงที่เกิดจากดาวตกจึงมีตัวกลางในการเดินทางมาสู่หูคนบนพื้นโลกได้

อย่างไรก็ตาม เสียงเดินทางได้ไม่เร็วเท่าแสง ดังจะสังเกตได้ว่าเราได้ยินเสียงฟ้าร้องตามหลังฟ้าแลบเสมอ สำหรับดาวตกซึ่งเกิดขึ้นที่ระดับสูงประมาณ 80-120 กิโลเมตร ความเบาบางของอากาศชั้นบนยิ่งทำให้เสียงเดินทางได้ช้าลงไปอีก สมมุติว่าดาวตกที่เกิดขึ้นที่ระดับความสูง 100 กิโลเมตร กว่าที่เสียงจากดาวตกนั้นจะมาถึงพื้นโลกต้องใช้เวลานานราวห้านาที หากเสียงเดินทางลงมาถึงหูคนได้จริง ก็มาไม่พร้อมภาพดาวตก แต่มาถึงหลังดาวตกผ่านพ้นไปนานแล้ว ทีนี้จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าเสียงฟิ้วที่ได้ยินเมื่อสิบวินาทีที่แล้วเป็นเสียงจากดาวตกที่สว่างวาบไปเมื่อห้านาทีก่อน?  นอกจากนี้ คลื่นเสียงที่แผ่มาเป็นระยะทางไกลมากก็จะแผ่วเบาเสียจนหูคนไม่ได้ยินเสียงเลยก็ได้ และหากเสียงจะเดินทางจากจุดกำเนิดดาวตกมาถึงคนบนพื้นโลกได้จริง ก็ควรจะได้ยินเป็นเสียงครืนต่ำ ๆ เบา ๆ 

แต่รายงานที่กล่าวถึงเสียงที่ได้ยินจากดาวตกระบุว่า เสียงที่ได้ยินนั้นเกิดขึ้นพร้อมกับดาวตกเลยทีเดียว เรื่องนี้จะอธิบายได้อย่างไร

ดาวตกไม่ได้ทำให้เกิดแสงสว่างและเสียงเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดคลื่นวิทยุความถี่ต่ำด้วย คลื่นวิทยุมีความเร็วเท่าแสง จึงเดินทางมาถึงพื้นโลกพร้อมกับแสงสว่าง คนไม่มีสัมผัสรับคลื่นวิทยุ จึงไม่ได้ยินเสียงจากคลื่นวิทยุโดยตรง แต่เมื่อคลื่นวิทยุความถี่ต่ำแผ่มาถึงพื้นโลกจะทำให้วัตถุบนพื้นโลกบางชนิดสั่นสะเทือนได้ เช่น ใบไม้ เส้นผม ฟอยล์อะลูมิเนียม กระดาษ การสั่นของวัตถุใกล้ตัวเหล่านี้นี่เองที่ทำให้เกิดเสียงให้เราได้ยินพร้อมกับมองเห็นดาวตก ปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่า ปรากกฏการณ์อิเล็กโทรโฟนิก เมื่อพิจารณาถึงลักษณะเสียงที่ผู้ที่อ้างว่าได้ยินบันทึกไว้ว่าเสียงดังซู่ซี่ หรือเสียงเหมือนกับเกิดขึ้นใกล้ ๆ ก็ยิ่งสนับสนุนว่าเสียงที่เขาได้ยินนั้นเป็นเสียงจากดาวตกจริงโดยผ่านทางปรากฏการณ์อิเล็กโทรโฟนิก

นอกจากดาวตกแล้ว แสงเหนือแสงใต้ หรือการกลับสู่โลกของยานอวกาศ ก็ทำให้เกิดเสียงจากปรากฏการณ์อิเล็กโทรโฟนิกได้เช่นเดียวกัน 

ของมันต้องลอง


ในเมื่อคนอื่นยังได้ยินเสียงดาวตกได้ ทำไมเราจะไม่ได้ยินเสียงบ้างเล่า ดาวตกเกิดขึ้นทุกคืน เรามีโอกาสมากมายให้ได้ทดลองฟังเสียงดาวตกจากปรากฏการณ์อิเล็กโทรโฟนิกได้ คราวต่อไปที่คุณออกไปนอนกลางทุ่งดูดาวตก ลองสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการเกิดเสียงจากดาวตก เช่น นอนราบไปกับพื้นที่มีใบไม้แห้งวางกลาดเกลื่อน หาฟอยล์อะลูมิเนียมหรือกระดาษมาวางไว้ใกล้ ๆ ด้วยก็ได้ ใส่แว่นตากรอบโลหะด้วยก็ดี แล้วก็นอนดูดาวตกเงียบ ๆ ไม่ส่งเสียง ไม่แน่คุณอาจได้รับประสบการณ์ใหม่จากการดูดาวด้วยการฟังเสียงจากดาวตกก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม

Can meteors make sound? Scientists say yes