สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดวงจันทร์เอนเซลาดัสพ่นน้ำลงสู่ดาวเสาร์

ดวงจันทร์เอนเซลาดัสพ่นน้ำลงสู่ดาวเสาร์

Enceladus is the only moon in the solar system known to influence the chemical composition of its parent planet.

31 ส.ค. 2554
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเฮอร์เชลขององค์การอวกาศยุโรปหรืออีเอสเอ ได้ตรวจพบว่าดวงจันทร์เอนเซลาดัสของดาวเสาร์พ่นน้ำออกมาสู่วงแหวนของดาวเสาร์
การค้นพบนี้ได้ตอบคำถามที่ยืนยาวนานถึง 14 ปีว่าน้ำบนดาวเสาร์มาจากไหน หลังจากที่มีการค้นพบว่าบรรยากาศชั้นบนของดาวเสาร์มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 
ดวงจันทร์เอนเซลาดัสนับเป็นดวงจันทร์ดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีอิทธิพลทางเคมีต่อดาวเคราะห์แม่
ดวงจันทร์เอนเซลาดัสพ่นไอน้ำจำนวนประมาณ 250 กิโลกรัมทุกวินาทีออกมาทางขั้วใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีรอยแตกขนาดใหญ่บนพื้นผิวที่นักดาราศาสตร์เรียกกันว่า "ลายพาดกลอน" ของเอนเซลาดัส ซึ่งเรียกตามลักษณะที่เป็นเส้นหลายเส้นขนานกัน
ไอน้ำที่พ่นออกมาได้ก่อรูปเป็นเมฆไอน้ำขนาดมหึมารูปโดนัทล้อมรอบดาวเสาร์ โดนัทนี้กว้างใหญ่กว่ารัศมีของดาวเสาร์ถึงกว่า 10 เท่า แต่มีความหนาประมาณรัศมีของดาวเสาร์เท่านั้น เอนเซลาดัสโคจรรอบดาวเสาร์โดยอยู่ห่างจากดาวเสาร์ประมาณเท่ากับ เท่าของรัศมีดาวเสาร์เอง พร้อมกับพ่นน้ำเป็นพวยออกมาเติมให้แก่ก้อนเมฆนี้ตลอดเวลา
แม้เมฆรูปโดนัทนี้จะมีขนาดใหญ่โตมหึมา แต่ไม่มีใครเคยตรวจพบก้อนเมฆนี้มาก่อนเลย เนื่องจากไอน้ำโปร่งใสในย่านแสงที่ตามองเห็น แต่มองเห็นได้ในย่านรังสีอินฟราเรดที่กล้องเฮอร์เชลรับรู้ได้
นักดาราศาสตร์พบน้ำในบรรยากาศของดาวเสาร์เป็นครั้งแรกในปี 2540 โดยกล้องไอเอสโอขององค์การอีซา ในครั้งนั้นได้ทำให้นักดาราศาสตร์ต่างงุนงงว่าน้ำนั้นมาจากไหน จนกระทั่งเฮอร์เชลค้นพบเบาะแสคำตอบในครั้งนี้ จากการสร้างแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์เผยว่าน้ำประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ที่พ่นออกมาจากเอนเซลาดัสจะตกลงสู่ดาวเสาร์ แม้จะเป็นส่วนน้อย แต่ก็ถือว่าเป็นปริมาณที่มากพอจะอธิบายถึงแหล่งที่มาของน้ำที่พบบนดาวเสาร์ได้ ไอน้ำที่ส่วนที่เหลือบางส่วนจะลอยออกไปในอวกาศ บางส่วนจะคงอยู่ในวงแหวน และบางส่วนก็ตกลงไปบนดวงจันทร์ดวงอื่นด้วย
ไอน้ำพ่นออกมาจากขั้วใต้ของเอนเซลาดัส

ไอน้ำพ่นออกมาจากขั้วใต้ของเอนเซลาดัส (จาก ESA)

วงแหวนอีของดาวเสาร์ ก็เกิดจากดวงจันทร์เอนเซลาดัสเหมือนกัน

วงแหวนอีของดาวเสาร์ ก็เกิดจากดวงจันทร์เอนเซลาดัสเหมือนกัน (จาก NASA/JPL/Space Science Institute)

ที่มา: