สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบบริวารใหม่ของดาวเสาร์เพิ่ม รวมเป็น 145 ดวง

พบบริวารใหม่ของดาวเสาร์เพิ่ม รวมเป็น 145 ดวง

19 มิ.ย. 2566
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
หลังจากที่เสียแชมป์ให้แก่ดาวพฤหัสบดีไปไม่ถึงครึ่งปี ดาวเสาร์ก็ทวงตำแหน่งคืนได้อีกครั้ง เมื่อนักดาราศาสตร์พบบริวารของดาวเสาร์เพิ่มขึ้นคราวเดียวถึง 62 ดวง เพิ่มจากของเดิม 83 ดวง ทำให้ยอดจำนวนบริวารของดาวเสาร์ตอนนี้มีมากถึง 145 ดวงแล้ว กลายเป็นดาวเคราะห์ที่มีดวงจันทร์บริวารมากที่สุดในระบบสุริยะ ส่วนดาวพฤหัสบดีแชมป์เก่ายังอยู่ที่ 95 ดวง 

ดาวเสาร์และดวงจันทร์บริวาร ถ่ายโดยยานแคสซีนีในปี 2549 นักดาราศาสตร์พบบริวารดาวเสาร์คราวเดียวถึง 62 ดวง ทำให้ขณะนี้ดาวเสาร์มีบริวารที่พบแล้วถึง 145 ดวง   (จาก NASA/ JPL/ Space Science Institute)

การค้นพบครั้งนี้เป็นผลงานของมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ซึ่งสำรวจดาวเสาร์โดยใช้กล้องโทรทรรศน์แคนาดา-ฝรั่งเศส-ฮาวายที่อยู่บนบนยอดเขามานาเคอา  ความสามารถของกล้องที่ทรงพลังอย่างเดียวไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการค้นพบครั้งสำคัญนี้ แต่เป็นเทคนิคการประมวลภาพที่คณะนี้นำมาใช้ เรียกว่า วิธีเลื่อนแล้วซ้อน

นักวิทยาศาสตร์คณะนี้ได้ใช้ภาพถ่ายดาวเสาร์ที่ถ่ายระหว่างปี 2562 ถึง 2564 แล้วนำภาพถ่ายแต่ละภาพที่ถ่ายตามลำดับเวลากันมาวางให้เหลื่อมกันโดยให้มีระยะเหลื่อมสอดคล้องกับความเร็วในการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์บนท้องฟ้า แล้วนำภาพในแต่ละภาพมาซ้อนกัน วิธีนี้ช่วยให้จุดภาพของดวงจันทร์ดวงเล็กที่จางมากจนมองไม่เห็นในแต่ละภาพปรากฏเด่นชัดขึ้นมาได้

นักดาราศาสตร์เคยใช้เทคนิคนี้ในการค้นหาดวงจันทร์ของดาวยูเรนัสและเนปจูนมาแล้ว นี่เป็นครั้งแรกที่มีการใช้เทคนิคนี้กับดาวเสาร์

ด้วยการใช้เทคนิคนี้ ทำให้ความไวในการตรวจจับเพิ่มขึ้นอย่างมากจนตรวจจับได้แม้แต่ดวงจันทร์ดวงเล็กถึง 2.5 กิโลเมตร 

หลังจากตรวจพบจุดแสงที่คาดว่าจะเป็นดวงจันทร์แล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังต้องติดตามสำรวจต่อไปอีกเป็นปีเพื่อหาวงโคจรที่แน่นอน เพื่อเป็นการยืนยันได้ว่าจุดที่ปรากฏขึ้นมาเป็นดวงจันทร์บริวารดาวเสาร์จริง ไม่ใช่ดาวเคราะห์น้อยที่บังเอิญผ่านเข้ามาในกรอบภาพ

ดวงจันทร์ที่พบใหม่ทั้งหมดเป็นดวงจันทร์ประเภทดวงจันทร์อปกติ ซึ่งหมายถึงเป็นดวงจันทร์ที่มีวงโคจรกว้างและรีมาก มีระนาบวงโคจรทำมุมกับระนาบเส้นศูนย์สูตรของดาวเสาร์มากกว่าปกติ บางดวงถึงกับโคจรรอบดาวเสาร์ในทิศทางสวนทางกับการหมุนรอบตัวเองของดาวเสาร์ วงโคจรที่แปลกประหลาดเช่นนี้ทำให้นักดาราศาสตร์เชื่อว่าดวงจันทร์ประเภทนี้เป็นวัตถุจากที่อื่นที่ผ่านเข้ามาแล้วถูกสนามความโน้มถ่วงของดาวเสาร์คว้าจับเอาไว้เป็นบริวาร 

ดวงจันทร์อปกติมักเกาะกลุ่มกัน นักดาราศาสตร์พบว่าดาวเสาร์มีกลุ่มของดวงจันทร์อปกติสามกลุ่ม คือกลุ่ม อินูอิต กัลลิก และนอร์ส กลุ่มนอร์สมีจำนวนดวงจันทร์มากที่สุด ในจำนวนดวงจันทร์ 62 ดวงที่เพิ่งพบใหม่นี้พบว่ากระจายกันไปทั้งสามกลุ่ม โดยอยู่ในกลุ่มนอร์สมากที่สุด นักดาราศาสตร์เชื่อว่าการที่มีการเกาะกลุ่มกันเช่นนี้ แสดงว่าดวงจันทร์เหล่านี้เป็นชิ้นส่วนที่แตกออกมาจากการชนครั้งใหญ่ในอดีต