สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เราไปมาแล้วจริงๆ : จับผิดคนจับโกหก

เราไปมาแล้วจริงๆ : จับผิดคนจับโกหก

14 พฤษภาคม 2552 โดย: วิษณุ เอื้อชูเกียรติ (viseua@inet.co.th)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 27 พฤษภาคม 2565
มนุษย์เดินทางไปถึงดวงจันทร์มาตั้งแต่ครั้งที่อะพอลโล 11 พา นีล อาร์มสตรอง, เอ็ดวิน (บัซซ์) อัลดริน และ ไมเคิล คอลลินส์ ลงจอดที่ทะเลแห่งความสงบ (Mare Tranquilitatis) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2512

หลายปีหลังจบโครงการอะพอลโล มีคนบอกว่าองค์การนาซาไม่เคยส่งใครไปดวงจันทร์เลย ทุกอย่างเป็นเรื่องกุขึ้น พิสูจน์ได้จากภาพถ่ายที่มีพิรุธหลายอย่าง

ต่อไปนี้คือข้อจับผิดองค์การนาซา พร้อมคำอธิบายคัดค้าน

1. ดวงจันทร์ไม่มีบรรยากาศ ไม่มีเมฆ ทำไมในฉากหลังของทุกภาพมีแต่ฟ้ามืดๆ ไม่เห็นดาวสักดวง ถ้าเป็นบ้านเรา ฟ้าใสอย่างนี้ต้องเห็นดาวเต็มฟ้าไปแล้ว

ข้อเท็จจริง ภาพถ่ายจากดวงจันทร์เป็นภาพถ่ายกลางวัน นั่นคือทุกภาพมีแสงอาทิตย์ส่อง การถ่ายภาพกลางแดดต้องใช้รูรับแสงเล็กหรือความเร็วชัตเตอร์สูง ถ้าตั้งค่าในกล้องแบบนี้ไปถ่ายภาพตอนกลางคืน เราจะไม่ได้ภาพอะไรเลย เพราะแสงไม่พอ แสงดาวที่สว่างเพียงน้อยนิดยิ่งไม่มีทางเห็น

บนดวงจันทร์ การถ่ายภาพกลางแดดซึ่งจ้ากว่าทุกแห่งในโลก เพราะไม่มีบรรยากาศคอยกรองแสง ก็บังคับให้ต้องใช้รูรับแสงเล็กมาก และความเร็วชัตเตอร์สูงมาก เราจึงเห็นฟ้ามืดในภาพจากดวงจันทร์ทุกภาพ

2. ทำไมธงถึงโบกสะบัดอยู่ได้ ทั้งๆ ที่ บนดวงจันทร์ไม่มีลม ธงควรจะลู่ลงกองกับเสามากกว่า และถ้าดูให้ดีจะเห็นว่า ขอบบนของธงชาติไม่สะบัดพลิ้ว ดูเหมือนแขวนอยู่บนราว ซึ่งถ้าเป็นราว ธงก็น่าจะห้อยลงมาเป็นแผ่น ไม่น่าจะสะบัด

5862006107520636781783
ข้อเท็จจริง เสาธงที่มนุษย์อวกาศเอาไปปักบนดวงจันทร์เป็นเสาอะลูมิเนียม มีราวสำหรับแขวนธง นาซาเองทราบดีว่าถ้าเอาเสาไปเฉยๆ ธงคงห้อยแฟบติดเสา เลยทำราวแขวน แต่ให้สั้นกว่าผืนธงเล็กน้อย ธงจะได้ย่นนิดหน่อย ดูเหมือนกำลังโบกสะบัด

พื้นผิวดวงจันทร์มีลักษณะเหมือนหินกรวดอัดแน่น การปักธงบนดวงจันทร์ ไม่ง่ายเหมือนเอาไม้จิ้มลูกชิ้น มนุษย์อวกาศต้องออกแรงปั่นเสาธงไปมาเหมือนสว่านเจาะลงไป ขณะที่คนกำลังทะลวงพื้น ตัวเสาอะลูมิเนียมก็แกว่ง พาให้ราวและผืนธงแกว่งสะบัดไปด้วย

บนดวงจันทร์ไม่มีอากาศไปต้านแรงสะบัดของธง มันจึงสะบัดพลิ้วอยู่นานหลายนาทีกว่าจะหยุดนิ่งด้วยตัวเอง ภาพที่เห็นธงสะบัดถ่ายมาจากช่วงนี้นี่เอง หลังจากนี้ธงก็ห้อยลงมาเป็นแผ่น

3. แหล่งกำเนิดแสงสำหรับภาพจากดวงจันทร์ทุกภาพคือดวงอาทิตย์ นาซาบอกว่าไม่มีใครเอาไฟถ่ายรูปไปใช้ แต่ทำไมภาพที่ออกมาบางทีเงาคนที่สูงเท่ากัน กลับมีเงายาวไม่เท่ากัน หรือเห็นเงาทอดไปในหลายทิศทาง ราวกับมีไฟสปอตไลต์ส่องหลายดวง



ข้อเท็จจริง คนหนึ่งยืนอยู่บนเนิน เงาทอดลงเขา อีกคนอยู่ในแอ่ง เงาทอดขึ้นเขา เงาจึงยาวไม่เท่ากัน

ภูมิประเทศที่เป็นเนินแม้เพียงเล็กน้อย ก็ทำให้ทิศทางของเงาเปลี่ยนไป ยิ่งถ้าเทียบเงาของสิ่งที่อยู่ใกล้กับอยู่ไกล การกำหนดทิศทางของสิ่งที่อยู่ไกลจะทำได้ยาก เส้นขอบฟ้าอาจหลอกตาเรา ทำให้คิดว่าเงาของสองสิ่งไปคนละทิศละทาง ความจริงเป็นทางเดียวกัน

ถ้าหากมีแหล่งกำเนิดแสงมากกว่า แหล่งจริง วัตถุที่อยู่ใกล้กันจะต้องมีเงามากกว่า เงา แต่ทุกวัตถุในภาพจากดวงจันทร์ล้วนมีเงาเดียวทั้งสิ้น

4. วัตถุในเงามืดควรจะดำมืด เพราะไม่มีแสงสว่างอื่นนอกจากดวงอาทิตย์ แต่วัตถุนั้นกลับสว่างจนเห็นรายละเอียด จะว่ามีแสงกระเจิงจากชั้นบรรยากาศมาช่วยก็ไม่ใช่ ต้องมีคนไปถือแผ่นสะท้อนแสงลบเงาแน่ๆ

คำถาม: ทำไมนักบินอวกาศในเงามืดจึงดูสว่าง?  

ภาพจำลองแสดงให้เห็นว่าพื้นดินสะท้อนแสงจนทำให้ตุ๊กตานักบินสว่างขึ้นในเงามืด  ภาพที่สอง ใช้กระดาษสีดำมาลดทอนแสงสะท้อนลง 


ข้อเท็จจริง แหล่งกำเนิดแสงสำหรับภาพถ่ายจากดวงจันทร์มีเพียงดวงอาทิตย์ เหตุที่ทำให้เห็นรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ในเงามืดได้นั้นมีหลายปัจจัย

 พื้นผิวดวงจันทร์เป็นแผ่นสะท้อนแสงอาทิตย์ส่องลบเงามืด เพราะดวงจันทร์ถูกปกคลุมด้วยฝุ่นละเอียดที่สะท้อนแสงอาทิตย์ให้กระจายไปทุกทิศทาง ซึ่งเป็นเหตุให้เราเห็นดวงจันทร์เป็นสีนวลเย็นตาอีกด้วย
 ดวงจันทร์ไม่มีบรรยากาศ แสงแดดที่นั่นจึงสว่างกว่าบนโลกหลายเท่า เมื่อสะท้อนไปจึงสว่างมาก
 สิ่งที่เห็นชัดที่สุดในเงาคือชุดมนุษย์อวกาศสีขาว หรือวัตถุสีอ่อน ซึ่งสะท้อนแสงเข้าตาเรามากที่สุด

5. รอยเท้าของมนุษย์อวกาศดูไม่น่าจะเป็นไปได้ แม้เขาจะสวมชุดอวกาศที่หนักถึง 82 กก. แต่ดวงจันทร์มีแรงโน้มถ่วงเพียง ใน ของโลก จึงน่าจะเบามากจนไม่น่าจะเหยียบพื้นให้เป็นรอยได้ขนาดนั้น หรือถ้าเป็นรอยก็ไม่ควรจะคงรูปอยู่เหมือนกับเหยียบทรายเปียก ควรจะเลือนไปทันที เหมือนเหยียบทรายแห้ง


ข้อเท็จจริง คนที่เคยเห็นรอยเท้าสุนัขบนพื้นปูน คงไม่คิดว่าสุนัขตัวที่เดินผ่านปูนเปียกนั้นตัวหนักเท่าควาย

บรรยากาศบนดวงจันทร์แห้งสนิทก็จริง แต่ฝุ่นบนดวงจันทร์กับทรายบนโลกไม่เหมือนกัน ฝุ่นดวงจันทร์เกิดจากเปลือกดวงจันทร์ถูกอุกกาบาตใหญ่น้อยพุ่งชนนับครั้งไม่ถ้วน จนป่นเป็นเม็ดฝุ่นละเอียดยิบที่ผิวหยาบและรูปทรงไม่สม่ำเสมอ

ถ้าเป็นโลก กระบวนการกัดกร่อนด้วยลม น้ำและสนิม จะขัดผิวและลบเหลี่ยมเม็ดทราย แต่บนดวงจันทร์ไม่มีกระบวนการเหล่านี้ไปขัดสีเม็ดฝุ่น เมื่อเม็ดฝุ่นถูกอัดรวมกัน เช่นถูกเหยียบ ผิวหน้าของมันจะสานเกี่ยวติดกันทั้งแห้งๆ อย่างนั้น จึงคงรูปอยู่ได้


6. บริเวณที่ยานลงจอดน่าจะมีหลุมใหญ่เนื่องจากแรงไอพ่นที่ต้องพยุงยานน้ำหนักกว่า 10 ตัน แต่ที่เห็นกลับดูเหมือนเอายานบรรจงวางลง รอบยานยังเป็นพื้นราบปกติ แถมมีฝุ่นหนาที่ควรจะถูกไอพ่นเป่ากระเจิงไปหมด

ข้อเท็จจริง จรวดที่ใช้ขับเคลื่อนยานลงดวงจันทร์มีแรงขับเต็มที่ถึง 10,500 ปอนด์ ต่อตารางนิ้ว ก็จริง แต่นั่นคือแรงขับสูงสุดซึ่งไม่ได้ใช้ขณะลงจอด การจอดยานไม่ใช่ลอยลงมาจอดตรงๆ แต่ผู้ขับยานจะต้องร่อนหาที่จอดที่เหมาะสม ซึ่งใช้ความเร็วต่ำมาก

เมื่อยานร่อนลงจอด มันจะไถลไปบนพื้นเล็กน้อยตามแนวร่อน ดังนั้นพื้นดวงจันทร์ใต้ยานนอกจากจะค่อนข้างปลอดฝุ่นเพราะถูกแรงจรวดเป่าฝุ่นไปหมด ยังอาจมีรอยครูดจากหัววัดที่ยื่นลงไปก่อน

บนดวงจันทร์ไม่มีโมเลกุลอากาศไปผลักดันเม็ดฝุ่นให้ฟุ้งกระจาย ฝุ่นที่ถูกไอพ่นเป่าโดยตรงจะกระเด็นไปด้านข้างแล้วตกลงมาเหมือนก้อนหิน แต่ฝุ่นที่ไม่ถูกไอพ่นโดยตรงจะไม่มีลมที่ไหนมาเป่าออกไปอีก ฉะนั้นใต้ยานซึ่งถูกไอพ่นจึงเตียนโล่ง แต่รอบยานไม่ได้รับผลกระทบจากไอพ่นเลย จึงเต็มไปด้วยฝุ่นเหมือนเดิม หรือฝุ่นหนาขึ้นเพราะฝุ่นกระเจิงจากใต้ยานมาสมทบ


7. ภาพถ่ายอัลดริน ถ่ายโดยอาร์มสตรอง เห็นได้ชัดว่าถ่ายจากระดับสายตา แต่ในภาพจะเห็นว่าทุกคนถือกล้องที่ระดับหน้าอก ดังนั้นความจริงต้องมีตากล้องอีกอย่างน้อย คน ซึ่งคงเป็นคนถ่ายวิดีโอตอนที่อาร์มสตรองลงจากยานเป็นครั้งแรกด้วย

ข้อเท็จจริง อาร์มสตรองถ่ายรูปจากบนเนิน ส่วนอัลดรินอยู่ตีนเนิน 

ข้อเท็จจริง อาร์มสตรองถ่ายรูปจากบนเนิน ส่วนอัลดรินอยู่ตีนเนิน


ภาพยนตร์ตอนอาร์มสตรองเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ถ่ายด้วยกล้องวิดีโอซื่งติดอยู่ภายนอกยาน อาร์มสตรองเป็นคนบังคับให้กล้องยื่นออกมาจากที่เก็บใต้ลำตัวยานในขณะที่เขากำลังจะลงสู่พื้น หลังจากนั้นกล้องจะถูกถอดไปติดขาตั้งเพื่อถ่ายภาพกิจกรรมอื่นต่อไป

8. ภาพถ่ายที่บอกว่าถ่ายจากสถานที่ แห่ง ทำไมดูเหมือนกับถ่ายอยู่ในจุดเดียวกัน เพราะฉากหลังเหมือนกัน เปลี่ยนแต่ข้าวของข้างหน้าเท่านั้น


ข้อเท็จจริง ในภาพที่ยกมาจับผิด ฉากหลังที่ดูเหมือนกันคือภูเขาที่อยู่ห่างออกไปหลายสิบกิโลเมตร เรานึกว่ามันเป็นฉากหลังที่อยู่ใกล้ก็เพราะบนดวงจันทร์ไม่มีบรรยากาศ ไม่มีฝุ่นละอองหรือความชื้นในอากาศที่ทำให้ภูเขาบนโลกในระยะทางเท่ากันดูห่างไกลลิบลับ

ของที่อยู่ไกลมากจะดูเหมือนไม่เปลี่ยนตำแหน่งเลยในขณะที่เราเดินทางไป ลองคิดถึงทิวทัศน์ไกลๆ สองข้างทางเวลาเรานั่งรถไปต่างจังหวัด ต้นตาลที่ขอบฟ้าดูเหมือนไม่ย้ายที่ แต่ความจริงมันค่อยๆ เลื่อนไปทีละน้อยจนเราไม่สังเกตเห็นต่างหาก

9. รถที่ใช้บนดวงจันทร์ใหญ่เกินกว่าจะเอาขึ้นไปในยานลงดวงจันทร์ได้ หรือถ้าเอาขึ้นไปได้ ก็สูบลมยางไม่ได้ เพราะยางจะระเบิดทันทีเมื่อแรงดันในยางเจอสุญญากาศ


ข้อเท็จจริง รถสำรวจดวงจันทร์ถูกพับติดไว้นอกลำตัวยานลงดวงจันทร์ พอจะใช้งานก็เอาออกมาประกอบบนพื้นผิวดวงจันทร์ ส่วนล้อรถนั้นไม่ใช้ยางเลย ผู้ออกแบบตระหนักดีว่ายางรถจะเกิดปัญหาในสุญญากาศ จึงออกแบบรถให้ใช้ตะแกรงลวดเสริมโครงแทนยางปกติ

10. กากบาท (crosshair) อย่างที่เห็นในภาพถ่ายทุกภาพ เป็นของเติมเข้าไปทีหลัง เพราะบางทีเราจะเห็นคนเติมเส้นทำพลาด ทำเส้นแหว่งหายไปอยู่หลังวัตถุ ดังในภาพ


ข้อเท็จจริง กากบาทเหล่านี้เป็นเส้นที่ขีดไว้บนแผ่นกระจกระหว่างเลนส์กับฟิล์ม ฉะนั้นจะปรากฏอยู่บนภาพทุกภาพจากดวงจันทร์ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าทุกภาพที่บอกว่าเส้นหายนั้น เส้นจะหายไปเมื่อขีดผ่านวัตถุสีขาวกลางแดดจ้าเท่านั้น

นี่เป็นเรื่องปกติของฟิล์มถ่ายภาพ ในภาพถ่ายปกติ บริเวณสีขาวในภาพคือส่วนที่ฟิล์มได้รับแสงมากที่สุดถึงมากเกินไปจึงกลายเป็นสีขาว ความขาวนี้สามารถลามไปถึงส่วนอื่นของฟิลม์ได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อส่วนนั้นเป็นสีดำ ถ้าเขตสีดำมีไม่มากนัก ก็จะถูกสีขาวลามไปกลบจนหมดอย่างที่เห็น

ภาพต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของเส้นดำบนพื้นขาว จะเห็นปรากฏการณ์สีขาวลามไปเหมือนกัน


11. การเดินทางไปดวงจันทร์ต้องผ่านแถบรังสีแวน อัลเลน ซึ่งเป็นแถบรังสีความเข้มข้นสูงที่ล้อมอยู่รอบโลก ไม่มีทางที่มนุษย์อวกาศจะรอดชีวิตจากแถบรังสีนี้ไปได้ ดังนั้นไม่เคยมีใครไปดวงจันทร์

ข้อเท็จจริง แถบรังสีแวน อัลเลน เป็นอันตรายต่อชีวิตแน่นอน ยานอะพอลโลไม่มีเกราะป้องกันรังสี ดังนั้นมนุษย์อวกาศทุกคนย่อมได้รับรังสี แต่พวกเข้าไม่ได้เข้าไปอยู่นิ่งๆ ในแถบรังสี เพียงเดินทางผ่านไปด้วยความเร็วสูง

ปริมาณรังสีที่มนุษย์อวกาศแต่ละคนได้รับอยู่ที่ประมาณ rem ส่วนปริมาณที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติคือ 25 rem ปริมาณที่ทำให้เกิดอาการแพ้คือ 100 rem และถ้าได้รับถึง 500 rem จะตายทันที

12. ถ้ามนุษย์เคยไปเหยียบดวงจันทร์ และทิ้งอุปกรณ์ไว้มากมาย ทำไมกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลจึงไม่เคยส่องเห็นของพวกนั้นเลย

ข้อเท็จจริง ความละเอียดของ WFPC2 กล้องถ่ายภาพในกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ซึ่งเป็นกล้องดิจิตอล มีความละเอียดเพียง 800 800 พิกเซลเท่านั้น ในระยะห่างขนาดดวงจันทร์นั้น พิกเซลมีค่าเท่ากับ สนามฟุตบอล ฉะนั้นของที่เล็กกว่า สนามฟุตบอล จะไม่มีผลต่อภาพเลยแม้แต่จุดพิกเซลล์เดียว พูดอีกอย่างก็คือ กล้องฮับเบิลยังละเอียดไม่พอ

ถ้าอย่างนั้น ทำไมเราจึงมีภาพความละเอียดสูงของเทห์ฟากฟ้าจากกล้องฮับเบิลตั้งมากมาย ตอบว่า นั่นก็หมายความว่า วัตถุเหล่านั้นไม่ใช่เล็กๆ เลย

ข้อกล่าวหาจับผิดองค์การนาซาเกี่ยวกับอะพอลโล 11 และอะพอลโลอื่น ยังมีอีกหลายข้อ เท่าที่นำมาอธิบายโดยย่อนี้ก็เพื่อย้ำว่า มนุษย์ได้เคยไปถึงดวงจันทร์มาแล้วจริงๆ


เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง


ไซต์กล่าวหา
http://www.moonhoax.com etc.

ไซต์แก้ต่าง
http://www.redzero.demon.co.uk/moonhoax/
http://www.badastronomy.com/bad/misc/apollohoax.html
http://www.badastronomy.com/bad/tv/iangoddard/moon01.htm
http://moonhoax1.tripod.com/MoonHoax/