สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวพลูโต ซีรีส คารอน และซีนา เป็นดาวเคราะห์?

ดาวพลูโต ซีรีส คารอน และซีนา เป็นดาวเคราะห์?

21 ส.ค. 2549
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ดาวพลูโตจะถือเป็นดาวเคราะห์ได้หรือไม่ หรือจะถูกลดชั้นไปเป็นวัตถุไคเปอร์ ข้อถกเถียงที่ดำเนินมาอย่างยาวนานนี้กำลังจะได้ข้อยุติในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ เมื่อกำลังจะมีการให้คำจำกัดความของคำว่าดาวเคราะห์กันใหม่ 

การกำหนดคำจำกัดความของคำว่าดาวเคราะห์เริ่มเป็นประเด็นร้อนในวงการดาราศาสตร์มาอย่างต่อเนื่องหลายปี เดิมทีก่อนที่จะมีการค้นพบดาวพลูโตมีดาวเคราะห์ที่รู้จักเพียง ดวง นั่นคือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน เมื่อมีการค้นพบดาวพลูโตในปี 2473 โดยไคลด์ ทอมบอก์ ในขั้นแรกนักดาราศาสตร์ประเมินว่าพลูโตน่าจะมีมวลพอ ๆ กับโลก จึงไม่แปลกที่จะนับเป็นดาวเคราะห์ด้วย แต่เมื่อมีการสำรวจมากขึ้นก็ยิ่งพบว่าดาวพลูโตมีมวลน้อยกว่าที่เคยคาดคิด สถานะของดาวพลูโตจึงเริ่มคลอนแคลนเรื่อยมานับแต่นั้น 

ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1990 นักดาราศาสตร์เริ่มค้นพบวัตถุชนิดใหม่ เรียกว่า วัตถุไคเปอร์ และนับจนถึงปัจจุบันมีจำนวนถึงหลายร้อยดวงแล้ว วัตถุไคเปอร์มีสมบัติใกล้เคียงกับดาวพลูโต นักดาราศาสตร์หลายคนเริ่มอยากจะจัดดาวพลูโตให้เป็นวัตถุไคเปอร์มากกว่าดาวเคราะห์ แม้แต่ภาคผนวกของพจนานุกรมศัพท์ดาราศาสตร์อังกฤษ-ไทยของสมาคมดาราศาสตร์ไทยก็มีชื่อของดาวพลูโตอยู่ในรายชื่อดาวเคราะห์และรายชื่อวัตถุไคเปอร์ด้วย 

ต่อมาในปี 2546 มีการค้นพบวัตถุไคเปอร์ดวงใหม่อีกดวงชื่อ 2003 ยูบี 313 วัตถุดวงนี้ใหญ่กว่าดาวพลูโตเสียอีก ชุมชนดาราศาสตร์จึงต้องมาตั้งโต๊ะถกกันว่า จะนับวัตถุดวงนี้เป็นดาวเคราะห์หรือไม่ ถ้าดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์ วัตถุดวงใหม่นี้ก็ต้องเป็นดาวเคราะห์ด้วย ถ้าไม่ใช่ ดาวพลูโตที่เล็กกว่าก็ควรถูกถอดออกจากดาวเคราะห์ด้วย และถ้าจะถอด ก็ต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนว่าถอดด้วยเหตุผลใด? พลูโตมีสมบัติตามเกณฑ์ในข้อใดที่จะนับหรือไม่นับว่าเป็นดาวเคราะห์? และตราบใดที่คำจำกัดความของดาวเคราะห์ที่ใช้กำหนดอยู่ยังคงคลุมเครือ ก็คงต้องเถียงกันต่อไปไม่จบสิ้น จนกว่าจะมีการกำหนดคำจำกัดความกันใหม่ 

ในการประชุมสามัญของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (ไอเอยู) ที่จะจัดขึ้นในกรุงปรากในปลายเดือนนี้ จะมีการลงมติเห็นชอบต่อคำจำกัดความใหม่ที่มีการเสนอขึ้นมาใหม่ สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลเป็นองค์กรเดียวที่มีอำนาจตัดสินในการจำแนกประเภทและการตั้งชื่อวัตถุบนท้องฟ้า 

คำจำกัดความของดาวเคราะห์ตามข้อเสนอต่อที่ประชุมคือ 

วัตถุที่ไม่ใช่ดาวฤกษ์และไม่ใช่ดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ และมีแรงโน้มถ่วงมากพอที่จะรักษารูปร่างของตนเองให้กลมหรือค่อนข้างกลมได้

ดาวพลูโตมีสมบัติผ่านเกณฑ์ครบถ้วน จึงต้องเรียกว่าเป็นดาวเคราะห์อย่างเต็มปากเต็มคำ 2003 ยูบี 313 ที่มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "ซีนา" ซึ่งใหญ่กว่าพลูโตก็ย่อมผ่านเกณฑ์เช่นกัน ส่วนซีรีสซึ่งเคยเป็นแค่ดาวเคราะห์น้อยก็ยกระดับเป็นดาวเคราะห์กับเขาด้วยเพราะมีขนาดใหญ่และสัณฐานกลม ต่อไปก็คงต้องเรียกใหม่เป็นชื่อแบบดาวเคราะห์ว่าดาวซีรีส ในกรณีของคารอนซึ่งเดิมถือเป็นเพียงดวงจันทร์บริวารของดาวพลูโตก็จะได้รับการยกฐานะให้เป็นดาวเคราะห์คู่กับดาวพลูโต ทั้งนี้ การจะเรียกว่าเป็นบริวารหมายความว่าจุดศูนย์กลางมวลของวัตถุทั้งสองต้องอยู่ภายในดาวเคราะห์ แต่คารอนมีมวลน้อยกว่าดาวพลูโตไม่มาก จุดศูนย์กลางมวลของทั้งคู่จึงอยู่นอกพลูโต ดังนั้นจึงต้องมองระบบพลูโต-คารอนว่าเป็นดาวเคราะห์คู่โคจรรอบซึ่งกันและกัน ไม่ใช่บริวารที่โคจรรอบดาวเคราะห์ 

การลงมติต่อข้อเสนอนี้จะมีขึ้นในวันที่ 24 สิงหาคม หากได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุม ระบบสุริยะของเราก็จะมีดาวเคราะห์ 12 ดวงทันที นักดาราศาสตร์คาดว่าอาจจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตอันใกล้ ทั้งจากวัตถุไคเปอร์อีกหลายสิบดวง รวมถึงดาวเคราะห์น้อยแพลลัส เวสตา ไฮเจีย ที่ยังต้องรอการสำรวจเพิ่มเติมอยู่ 

ข้อถกเถียงทั้งหลายจะได้สิ้นสุดกันเสียที 

ภาพหมู่ครอบครัวใหม่ของระบบสุริยะ มีพี่น้อง 12 ดวง (ภาพ - IAU/Martin Kornmesser)

ภาพหมู่ครอบครัวใหม่ของระบบสุริยะ มีพี่น้อง 12 ดวง (ภาพ - IAU/Martin Kornmesser)

ดาวเคราะห์น้อยและวัตถุไคเปอร์ ที่อาจเข้าข่ายเป็นดาวเคราะห์ (ภาพ - IAU/Martin Kornmesser)

ดาวเคราะห์น้อยและวัตถุไคเปอร์ ที่อาจเข้าข่ายเป็นดาวเคราะห์ (ภาพ - IAU/Martin Kornmesser)

ที่มา: