ยานแคสซีนีขององค์การนาซาได้พบหลักฐานว่าที่ดวงจันทร์ไททัน ซึ่งเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ อาจมีมหาสมุทรใต้พิภพที่เป็นน้ำกับแอมโมเนียปะปนกันอยู่
"ที่นั่นมีทั้งเนินสารอินทรีย์ทะเลสาบ คลองและภูเขา ไททันเป็นดินแดนที่มีความหลากหลายมาก" ราล์ฟ ลอเรนซ์ หัวหน้านักวิจัยด้วยเรดาร์ของแคสซีนีกล่าว "เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของการหมุนรอบตัวเองของไททัน ทำให้เราทราบสภาพภายใต้พื้นผิวได้"
การค้นพบนี้เกิดจากอุปกรณ์เรดาร์ช่องรับแสงสังเคราะห์(Synthetic Aperture Radar) บนยานแคสซีนี ซึ่งได้เก็บภาพของไททันในช่วงที่ยานได้เข้าใกล้ดวงจันทร์ดวงนี้ 19 ครั้งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2550 เรดาร์สามารถมองทะลุบรรยากาศที่แน่นทึบไปด้วยหมอกมีเทนของไททันได้ จึงสามารถเปิดเผยรายละเอียดของพื้นผิวได้ชัดเจนอย่างที่ไม่เคยพบที่ไหนมาก่อน
นักวิทยาศาสตร์ได้เปรียบเทียบตำแหน่งของภูมิลักษณ์ต่างๆ เช่นทะเลสาบ หุบผาชัน และภูเขาที่ได้จากการสำรวจก่อนหน้านี้กับที่ได้จากการสำรวจในช่วงหลัง พบว่ามีการเปลี่ยนตำแหน่งไปมากถึง 30 กิโลเมตร คำอธิบายเดียวที่พอจะอธิบายการเลื่อนตำแหน่งที่มากขนาดนี้ได้นั่นคือ ผิวดาวที่เป็นน้ำแข็งของดวงจันทร์ไททันลอยอยู่บนชั้นของน้ำที่คั่นระหว่างแกนกลางกับพื้นผิว
"เราเชื่อว่าลึกลงไป100 กิโลเมตรเป็นมหาสมุทรใต้พิภพที่ประกอบด้วยน้ำผสมแอมโมเนีย" ไบรอัน สไตลส์ จากเจพีแอลของนาซา หนึ่งในคณะผู้วิจัยครั้งนี้กล่าว
การศึกษาดวงจันทร์ไททันเป็นเป้าหมายหลักของภารกิจแคสซีนี-ไฮเกนส์เนื่องจากดวงจันทร์ดวงนี้เต็มไปด้วยสารประกอบทางเคมีที่เหมือนกับสารตั้งต้นของสิ่งมีชีวิตบนโลก และเป็นดวงจันทร์เพียงดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีบรรยากาศหนาแน่น บรรยากาศของไททันหนาแน่นกว่าบรรยากาศโลกถึงเท่าครึ่ง ไททันเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ และมีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธเสียอีก
"การที่มีสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสารอินทรีย์และน้ำเป็นเรื่องที่เย้ายวนใจนักชีววิทยานอกโลกเป็นอย่างมาก" ลอเรนซ์กล่าว "การศึกษาการหมุนรอบตัวเองของไททันในขั้นต่อไปจะช่วยให้เราเข้าใจสภาพภายในดาวที่เต็มไปด้วยน้ำได้ดียิ่งขึ้น และเนื่องจากการหมุนรอบตัวเองของเปลือกดาวสัมพันธ์กับลมในบรรยากาศ เราอาจได้เห็นว่าการหมุนการผันแปรตามฤดูกาลภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้"
"ที่นั่นมีทั้งเนินสารอินทรีย์
การค้นพบนี้เกิดจากอุปกรณ์เรดาร์ช่องรับแสงสังเคราะห์
นักวิทยาศาสตร์ได้เปรียบเทียบตำแหน่งของภูมิลักษณ์ต่าง
"เราเชื่อว่าลึกลงไป
การศึกษาดวงจันทร์ไททันเป็นเป้าหมายหลักของภารกิจแคสซีนี-ไฮเกนส์
"การที่มีสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสารอินทรีย์และน้ำ