สมาคมดาราศาสตร์ไทย

วัตถุไคเปอร์ที่เล็กที่สุด

วัตถุไคเปอร์ที่เล็กที่สุด

29 มี.ค. 2553
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ฮิลก์ ชลิชติง จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนียและคณะ ได้ค้นพบวัตถุไคเปอร์ดวงใหม่ เป็นวัตถุไคเปอร์ที่เล็กที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในย่านแสงที่ตามองเห็น
วัตถุไคเปอร์ เป็นวัตถุที่โคจรอยู่ในแถบไคเปอร์ ซึ่งเป็นวงแหวนขนาดมหึมาล้อมรอบดวงอาทิตย์ มีรัศมีวงโคจรใหญ่กว่ารัศมีวงโคจรของดาวเนปจูน เป็นแหล่งที่อยู่ของวัตถุจำพวกน้ำแข็งปนหิน เช่นหัวดวงหาง วัตถุไคเปอร์ที่ชลิชติงค้นพบครั้งนี้อยู่ห่างจากโลก 6,800 ล้านกิโลเมตร การตรวจจับวัตถุที่อยู่ระยะนี้ทำได้ยากมาก โดยเฉพาะวัตถุที่มีขนาดเล็กเพียง 970 เมตรเช่นนี้ 
การค้นพบครั้งนี้ไม่ได้เป็นการค้นพบโดยตรง ด้วยอันดับความสว่างถึง 35 ทำให้วัตถุไคเปอร์ดวงนี้จางเกินกว่าจะถ่ายภาพติดได้ แม้จะถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลก็ตาม แต่ชลิชติงค้นพบจากการขุดคุ้ยคลังข้อมูลจากกล้องฮับเบิลแล้วสังเกตว่าดาวฤกษ์ดวงหนึ่งหลังหรี่แสงลงไปเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพียง 0.3 วินาที หลังจากการวิเคราะห์ข้อมูลแล้วจึงได้ข้อสรุปว่าการหรี่แสงนั้นเป็นผลมาจากวัตถุไคเปอร์เคลื่อนที่ผ่านหน้าไป 
คณะของชลิชติงหวังว่าจะได้พบวัตถุไคเปอร์ดวงอื่นอีกด้วยวิธีเดียวกันนี้
ภาพวาดตามจินตนาการของศิลปิน แสดงวัตถุไคเปอร์ดวงหนึ่งเข้าบังดาวฤกษ์ ทำให้แสงจากดาวฤกษ์หรี่ลงไปเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ

ภาพวาดตามจินตนาการของศิลปิน แสดงวัตถุไคเปอร์ดวงหนึ่งเข้าบังดาวฤกษ์ ทำให้แสงจากดาวฤกษ์หรี่ลงไปเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ

ที่มา: