สมาคมดาราศาสตร์ไทย

วัตถุไคเปอร์แฝดสาม

วัตถุไคเปอร์แฝดสาม

26 มี.ค. 2568
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อปี 2544 กล้องโทรทรรศน์ของโครงการคิตพีกดีปอีคลิปติกเซอร์เวย์ได้ค้นพบวัตถุไคเปอร์ดวงหนึ่ง มีชื่อว่า 148780 แอลต์จิรา (148780 Altjira) แอลต์จิรามีรัศมีวงโคจร 44 หน่วยดาราศาสตร์ โคจรรอบดวงอาทิตย์รอบหนึ่งใช้เวลา 294 ปี

ต่อมาในปี 2549 กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลก็พบว่า แอลต์จิราไม่ใช่วัตถุดวงเดียว แต่เป็นวัตถุแฝด หมายความว่าประกอบด้วยสมาชิกสองดวงโคจรรอบกันอย่างใกล้ชิด ทั้งสองดวงมีขนาดไล่เลี่ยกัน คือ 246 และ 221 กิโลเมตร อยู่ห่างกันประมาณ 9,904 กิโลเมตร โคจรรอบกันครบรอบภายในเวลา 140 วัน 

และเมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยคณะหนึ่งพบว่า มีความเป็นไปได้ที่แอลต์จิราจะมีสมาชิกถึงสามดวง ไม่ใช่แค่สองดวง 


ที่มาของข้อสมมุติฐานนี้ไม่ได้มาจากภาพถ่าย แต่มาจากการเคลื่อนที่ของวัตถุสมาชิกทั้งสองเอง ดาริน รากอซซิน จากมหาวิทยาลัยบริกัมยังอธิบายว่า "จากการสังเกตเป็นระยะเวลานาน เราพบว่าการวางทิศของวัตถุหลักทั้งสองของแอลต์จิราเปลี่ยนไปอย่างช้า ๆ นั่นแสดงว่าโครงสร้างของระบบนี้ต้องไม่ใช่วัตถุกลมสองดวงโคจรรอบกันเองธรรมดา มีความเป็นไปได้สองทางที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้คือ วัตถุดวงหนึ่งต้องมีรูปร่างรีมาก หรือไม่ก็เป็นวัตถุสามดวง"

"ที่ระยะของวัตถุดวงนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะถ่ายภาพให้ติดวัตถุดวงที่สาม การพิสูจน์ว่ามีวัตถุดวงที่สามจริงจะต้องใช้วิธีอื่นที่ไม่ใช่วิธีการถ่ายภาพ ไมยา เนลสัน จากมหาวิทยาลัยบริกัมยังเช่นเดียวกัน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้อธิบาย 

หากมีวัตถุดวงที่สามจริง วัตถุดวงนี้จะมีคาบโคจรประมาณ 5.5 ชั่วโมง 

แผนภาพแสดงวงโคจรของแอลต์จิรา  (จาก NASA/JPL Horizons)

นักดาราศาสตร์ยังไม่ยืนยันได้แน่ชัดนักว่าดาวระบบนี้จะเป็นระบบดาวแฝดสามจริงหรือไม่ หรืออาจเป็นดาวคู่ที่หนึ่งในนั้นเป็นคู่สัมผัส หรืออาจมีรูปร่างเป็นรียาวเหมือนโอมูอามูอา 

ภาพวัตถุไคเปอร์ชื่อแอลต์จิรา ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลในปี 2549 แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นวัตถุคู่ (จาก NASA/Hubble/STScI)

ระบบสุริยะของเรามีวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เรามีทั้งดาวเคราะห์น้อยที่มีบริวาร เช่น 243 ไอดากับแด็กทีล หรือดิดิมอสกับไดมอร์ฟัส หรือดิงคิเนชกับเซลัม มีทั้งวัตถุที่เป็นคู่สัมผัสที่ดูเหมือนสองตุ้มเกาะติดกัน เช่นดาวหางชูรูยมอฟ-เกราซีเมนโค และอาร์โรคอต ซึ่งเป็นวัตถุไคเปอร์ที่ยานนิวฮอไรซอนส์ไปสำรวจระยะใกล้มาแล้ว ปัจจุบันมีวัตถุไคเปอร์ที่เป็นคู่ที่พบแล้วมากถึง 40 คู่ จากจำนวนวัตถุไคเปอร์ที่พบทั้งหมดกว่า 3,000 ดวง

หากแอลต์จิราเป็นวัตถุแฝดสามจริง ก็ยังไม่ใช่วัตถุไคเปอร์แฝดสามดวงแรกที่รู้จัก เพราะวัตถุไคเปอร์แฝดสามดวงแรกที่ค้นพบคือ 47171 เลมโป ซึ่งค้นพบในปี 2542 และเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลนี้เองที่ยืนยันว่าวัตถุดวงนี้เป็นวัตถุแฝดสามในปี 2550

นักดาราศาสตร์กำลังมองถึงความเป็นไปได้ของการหาวิธีเพื่อพิสูจน์ว่าแอลต์จิราเป็นวัตถุแฝดสามจริงหรือไม่ เช่นอาจใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์สำรวจขณะที่วัตถุดวงนี้บังดาวฤกษ์เบื้องหลัง การวิเคราะห์ความสว่างที่เปลี่ยนแปลงช่วยให้นักดาราศาสตร์ทราบถึงขนาด รูปร่าง หรือแม้แต่ค้นพบบริวารดวงเล็กที่อยู่ใกล้เคียงได้ 

อีกวิธีหนึ่งที่มีเรื่องของโชคเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ขณะนี้วัตถุหลักทั้งสองของแอลต์จิรามีระนาบวงโคจรที่เกือบหันข้างมายังโลกพอดี การวางทิศของระนาบเช่นนี้ทำให้วัตถุทั้งสองมีการบังกันเองเมื่อมองจากโลก การวิเคราะห์ความสว่างที่เปลี่ยนแปลงขณะที่เกิดการบังกันเองก็เป็นการเปิดเผยรายละเอียดของแอลต์จิราได้เช่นกัน เทคนิคการสำรวจแบบนี้เคยช่วยให้นักดาราศาตร์ทราบถึงสภาพความเข้มและสว่างของพื้นผิวดาวพลูโตและคารอนมาแล้วก่อนที่ยานนิวฮอไรซอนส์จะไปถึง และเมื่อยานนิวฮอไรซอนส์ไปถึง ก็พบว่าเทคนิคนี้มีความแม่นยำถูกต้องดีมาก ระบบนี้จะหันขอบระนาบมายังโลกพอดีในปี 2571 นี้เอง 

ไม่ว่าระบบของวัตถุไคเปอร์ที่ชื่อแอลต์จิราจะเป็นแบบไหน ย่อมมีผลต่อความเข้าใจเรื่องการกำเนิดของแถบไคเปอร์ของเราอย่างแน่นอน 

ที่มา: