สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ในวันที่ดวงอาทิตย์หน้าใส

ในวันที่ดวงอาทิตย์หน้าใส

24 มิ.ย. 2559
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
วันนี้ หอสังเกตการณ์เอสดีโอของนาซาได้เผยภาพถ่ายดวงอาทิตย์ที่ถ่ายเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ภาพนี้แสดงถึงดวงอาทิตย์ที่กลมเกลี้ยง ปราศจากจุดมืดดวงอาทิตย์แม้แต่จุดเดียว นับเป็นครั้งที่สองในรอบเดือนแล้วที่ไม่ปรากฏจุดมืดบนดวงอาทิตย์ นี่เป็นสัญญาณที่แสดงว่า ช่วงต่ำสุดสุริยะกำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ 

จำนวนจุดมืดบนดวงอาทิตย์ไม่ใช่สิ่งที่คงที่เสมอไป แต่มีการขึ้นลงเป็นวัฏจักรที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ มีคาบประมาณ 11 ปี  ช่วงที่มีจุดมืดมากสุดเรียกว่าช่วงสูงสุดสุริยะ (solar maximum) ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อราว 2556 ในทางตรงข้าม ช่วงที่มีจำนวนจุดมืดน้อยที่สุดเรียกว่า ช่วงต่ำสุดสุริยะ (solar minimum) ซึ่งนักดาราศาสตร์คาดว่าจะมาถึงในราวปี 2562-2563 

ในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่วัฏจักรสุริยะกำลังดำเนินไปสู่ช่วงต่ำสุด อาจมีวันที่ไม่มีจุดมืดเลยเช่นเมื่อวันที่ 23 ที่ผ่านมาเกิดขึ้นหลายครั้ง ในช่วงแรกอาจกินเวลาเพียงเป็นวัน แต่จะค่อย ๆ ยาวนานขึ้นเป็นสัปดาห์และเป็นเดือน เมื่อถึงช่วงต่ำสุดจริงดวงอาทิตย์อาจไม่มีจุดมืดเป็นเวลานานข้ามปีเลยก็ได้

อย่างไรก็ตาม การที่กัมมันตภาพสุริยะอยู่ที่ระดับต่ำ ไม่ได้หมายความว่าภูมิอากาศนอกโลกจะเงียบเหงาตามลงไปด้วย ช่วงต่ำสุดของวัฏจักรสุริยะมักเกิดความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจหลายอย่าง การที่ระดับรังสีอัลตราไวโอเลตสุดขีดลดความเข้มลงมาก ทำให้บรรยากาศชั้นบนของโลกเย็นลงและลดระดับลง ส่งผลให้มีการสะสมของขยะอวกาศรอบโลกมากขึ้น  ปรากฏการณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวก็คือ ลมสุริยะอ่อนกำลังลง ทำให้อาณาเขตรอบระบบสุริยะที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมสุริยะหรือที่เรียกว่าสุริยมณฑลก็หดเล็กลงด้วย สุริยมณฑลเป็นเหมือนเกราะคุ้มกันระบบสุริยะชั้นในจากรังสีคอสมิกดาราจักร นั่นหมายความว่าในช่วงเวลาดังกล่าวโลกจะมีโอกาสถูกรังสีคอสมิกจากดาราจักรชนมากขึ้น

รังสีคอสมิกมีผลกระทบต่อภูมิอากาศโลก เช่นกระตุ้นการเกิดเมฆและฟ้าแลบ นอกจากนี้ยังมีพลังทะลุทะลวงสูงจนอาจมีผลต่อสุขภาพของผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องบินพาณิชย์ได้อีกด้วย 
ภาพดวงอาทิตย์จากหอสังเกตการณ์เอสดีโอ ถ่ายเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559

ภาพดวงอาทิตย์จากหอสังเกตการณ์เอสดีโอ ถ่ายเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559

ที่มา: