สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เขย่าขวัญรับลมร้อนกับ 2002 EM7

เขย่าขวัญรับลมร้อนกับ 2002 EM7

23 มี.ค. 2545
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ระบบตรวจจับวัตถุแปลกปลอมอัตโนมัตได้ตรวจพบดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้รับชื่อเป็น 2002 EM7 ในขณะที่ค้นพบนั้นดาวเคราะห์น้อยกำลังถอยห่างออกจากโลก แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้คำนวณเส้นทางโคจรของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้แล้วจึงได้พบว่า 2002 EM7 เพิ่งเฉียดเข้าใกล้โลกที่สุดไปเมื่อ วันก่อนหน้านั้นโดยอยู่ห่างเพียง 464,000 กิโลเมตร หรือมากกว่าระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตัวเลขนี้ในทางดาราศาสตร์ถือว่าเป็นการเฉียดแบบถากปลายจมูกเลยทีเดียว และที่น่าขนลุกก็คือ ไม่มีใครทราบถึงการเข้าใกล้ของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มาก่อนเลย สาเหตุหนึ่งเนื่องจากในช่วงที่ดาวเคราะห์น้อยเข้ามาเฉียดโลกมีตำแหน่งบนท้องฟ้าอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก ซึ่งเป็นจุดบอดในการสังเกตการณ์ 

ทันทีเมื่อข่าวนี้ได้รับการเผยแพร่ ทำให้เป็นที่หวั่นวิตกกันอย่างกว้างขวาง นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 50-70 เมตร เล็กกว่าวัตถุที่คาดว่าพุ่งชนที่ทุ่งทังกัสกาในไซบีเรียเมื่อมี 1908 จนทำให้ป่าไม้ราบเรียบเป็นพื้นที่นับพันตารางกิโลเมตรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แน่นอนว่าหาก 2002 EM7 พุ่งเข้าชนโลกในพื้นที่ชุมชน ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง 

ข้อเท็จจริงที่น่าตกใจอีกข้อหนึ่งก็คือ โอกาสการเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ได้มีน้อยอย่างที่เคยคิด จิม สก็อตตี จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา กล่าวว่า การเฉียดในระยะเผาขนโดยวัตถุขนาดเท่ากับ 2002 EM7 นี้ อาจเกิดได้บ่อยถึง 25 ครั้งต่อปี แต่แทบไม่มีรายงานการพบเห็นล่วงหน้า ทั้ง ๆ ที่มีโครงการค้นหาวัตถุแปลกปลอมอยู่แล้ว สาเหตุนี้เนื่องจากเทคนิคการค้นหาวัตถุแปลกปลอมที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอที่จะตรวจจับวัตถุขนาดประมาณ 50 เมตรได้ทั้งหมด 

ที่มา: