เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 กล้องแพนสตารรส์ได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่ง มีชื่อว่า 2016 เอชโอ 3 (2016 HO3) ต่อมาได้ชื่อสามัญว่า คาโมโออาเลวา (Kamo’oalewa) เป็นดาวเคราะห์น้อยกลุ่มอะพอลโล จัดเป็นดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกดวงหนึ่งในจำนวนที่พบแล้วหลายพันดวง
วงโคจรของคาโมโออาเลวาก็น่าสนใจเพราะมีวงโคจรใกล้เคียงโลกจนคล้ายกับเป็นบริวารของโลก แต่ไม่ใช่บริวารที่แท้จริงแบบดวงจันทร์เพราะมีวงโคจรไม่เสถียร นักดาราศาสตร์เรียกวัตถุที่มีวงโคจรแบบนี้ว่า วัตถุกึ่งบริวาร นักดาราศาสตร์เชื่อว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เพิ่งเข้ามามีวงโคจรอย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้มาได้ประมาณ 500 ปี และจะยังคงอยู่ในวงโคจรนี้ไปได้อีกประมาณ 300 ปี
ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว45-58 เมตรหรือราวครึ่งสนามฟุตบอล แม้จะมีวงโคจรที่จัดอยู่ในประเภทดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก แต่ก็ยังถือว่าปลอดภัย และยังมีตำแหน่งอยู่ห่างจากโลกมาก และสังเกตได้ยากมาก มีความสว่างน้อยกว่าดาวที่ริบหรี่ที่สุดเท่าที่มนุษย์จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าถึงสี่ล้านเท่า
เดิมนักดาราศาสตร์คาดว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อาจมีต้นกำเนิดแบบดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกทั่วไป แต่ได้ผ่านเข้ามาใกล้โลกมากจนถูกความโน้มถ่วงของโลกคว้าจับเอาไว้จนมามีวงโคจรเช่นในปัจจุบัน
นักดาราศาสตร์กลุ่มหนึ่งจากจากมหาวิทยาลัยแอริโซนาได้ใช้เวลาสามปีในการเฝ้าสำรวจดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ด้วยกล้องแอลบีทีที่อยู่บนเขาเกรแฮมร่วมกับข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์โลเวลดิสคัฟเวอรีในแฟลกสตัฟฟ์ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมาได้เปิดเผยว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ไม่ใช่ดาวเคราะห์น้อยทั่วไป เพราะพบว่า สเปกตรัมของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้แปลกไปกว่าดาวเคราะห์น้อยดวงอื่น แต่กลับไปใกล้เคียงกับสเปกตรัมของหินจากดวงจันทร์ จึงน่าเชื่อได้ว่า เป็นชิ้นส่วนที่หลุดออกมาจากดวงจันทร์
นอกจากนี้ยังพบว่าวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ยังคล้ายโลกมาก เพียงแต่มีระนาบวงโคจรเอียงทำมุมกันเล็กน้อย ซึ่งก็เป็นหลักฐานที่สนับสนุนว่ามีต้นกำเนิดมาจากดวงจันทร์จริง ๆ
วิธีที่ดีที่สุดที่จะพิสูจน์ว่าดาวเคราะห์น้อยคาโมโออาเลวาเป็นชิ้นส่วนมาจากดวงจันทร์จริงหรือไม่ก็คือส่งยานอวกาศไปสำรวจที่ระยะใกล้ และโชคดีที่เราอาจไม่ต้องรอนานนัก เพราะองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนมีแผนที่จะส่งยานไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อยู่พอดี ยานลำนี้จะมีการเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวและนำกลับมายังโลกเพื่อวิเคราะห์อีกด้วย คาดว่ายานสำรวจของจีนที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อนี้จะขึ้นสู่อวกาศได้ในปี 2567
ดาวเคราะห์น้อยคาโมโออาเลวา อาจมีต้นกำเนิดมาจากดวงจันทร์ ภาพในจินตนาการของศิลปิน (จาก Addy Graham/ The University of Arizona.)
วงโคจรของคาโมโออาเลวาก็น่าสนใจ
ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว
เดิมนักดาราศาสตร์คาดว่า
บริเวณชั้นในของระบบสุริยะ นอกจากดาวเคราะห์แล้ว ยังมีดาวเคราะห์น้อยอีกจำนวนหลายพันดวงที่มีวงโคจรใกล้เคียงกับวงโคจรของโลก
(จาก NASA/ JPL-Caltech/Wikimedia Commons)
นักดาราศาสตร์กลุ่มหนึ่งจากจากมหาวิทยาลัยแอริโซนาได้ใช้เวลาสามปีในการเฝ้าสำรวจดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ด้วยกล้องแอลบีทีที่อยู่บนเขาเกรแฮม
นอกจากนี้ยังพบว่า
วิธีที่ดีที่สุดที่จะพิสูจน์ว่าดาวเคราะห์น้อยคาโมโออาเลวาเป็นชิ้นส่วนมาจากดวงจันทร์จริงหรือไม่