สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลรับรองชื่อใหม่บนดาวพลูโต

สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลรับรองชื่อใหม่บนดาวพลูโต

11 ส.ค. 2562
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลหรือไอเอยู ได้รับรองชื่อภูมิลักษณ์บนดาวพลูโตเพิ่มอีก 14 ชื่อ 

ชื่อภูมิลักษณ์ทั้ง 14 นี้ได้แก่พื้นที่ เทือกเขา ที่ราบ หุบเขา และหลุมอุกกาบาตที่ค้นพบโดยยานนิวเฮอไรซอนส์ขณะไปเยือนดาวพลูโตเมื่อปี 2558 ชื่อที่นำมาตั้งขึ้นตามบุคคลหรือภารกิจสำรวจที่มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดาวพลูโตและแถบไคเปอร์ บางชื่ออาจเป็นบุคคลในประมวลเรื่องปารัมปรา 

การรับรองชื่อครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองสำหรับดาวพลูโต ครั้งแรกมีขึ้นในปี 2560 ชื่อเหล่านี้ตั้งขึ้นโดยทีมงานของภารกิจนิวเฮอไรซอนส์เองและมีการใช้อย่างไม่เป็นทางการมาก่อนหน้านี้แล้ว 

ภูมิลักษณ์ 14 แห่งบนดาวพลูโตที่ได้ผ่านการรับรองจากสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (จาก NASA/Johns Hopkins University Applied Physics Laboratory/Southwest Research Institute/Ross Beyer)
ภูมิลักษณ์ที่ได้รับการรับรองชื่อใหม่ทั้ง 14 แห่งได้แก่
บริเวณโลเวลล์ (Lowell Regio)
ตั้งชื่อตามเพอร์ซีวาล โลเวลล์ นักดาราสตร์ชาวอเมริกันผู้ก่อตั้งหอดูดาวโลเวลล์ และดำเนินโครงการค้นหาดาวเคราะห์นอกวงโคจรของดาวเนปจูน
หลุม ไซโมเนลลี (Simonelli Crater)
ตั้งชื่อตาม แดมอน ไซโมเนลลี (1959–2004) นักดาราศาสตร์ผู้วิจัยเกี่ยวกับการกำเนิดของดาวพลูโต
แผ่นดินเวเนอรา (Venera Terra)
ตั้งชื่อตามภารกิจเวเนอราของสหภาพโซเวียต ภารกิจเวเนอราเป็นภารกิจสำรวจดาวศุกร์ เป็นยานลำแรกที่นำภาพถ่ายพื้นผิวดาวเคราะห์ดวงอื่นกลับมายังโลก
เขาไรต์ (Wright Mons)
ตั้งชื่อขึ้นตามพี่น้องตระกูลไรต์ (ออร์วิล ไรต์ และ วิลเบอร์ ไรต์) ผู้สร้างเครื่องบินได้เป็นครั้งแรก
ทะเลสาบอัลซีโอเนีย (Alcyonia Lacus)
พื้นที่ที่คาดว่าจะเป็นทะเลสาบของไนโตรเจนแข็งบนดาวพลูโต ตั้งชื่อขึ้นตามทะเลสาบใกล้กับเลอร์นาในกรีซ ตามประมวลเรื่องปารัมปรากรีก ทะเลสาบแห่งนี้เป็นประตูทางเข้าสู่โลกบาดาล
หุบเขาฮูนาคปู (Hunahpu Valles)
เครือข่ายของหุบผาชันบนดาวพลูโต ตั้งชื่อขึ้นตามแฝดผู้กอบกู้ผู้เอาชนะพญาเมืองบาดาลได้
หลุมกิลัดเซ (Kiladze crater)
ตั้งชื่อตามนักดาราศาสตร์ชาวจอร์เจีย โรลัน กิลัดเซ (1931–2010) ผู้ริเริ่มการศึกษาดาวพลูโตในด้านพลศาสตร์ การวัดตำแหน่งและวัดแสงดาว
เทือกเขาเอลกาโน (Elcano Montes)
ตั้งชื่อตาม ฆวน เซบัสเตียน เอลกาโน (1476-1526) นักสำรวจชาวสเปนผู้เดินทางรอบโลกได้สำเร็จเป็นคนแรก 
หลุมขาเร (Khare crater)
ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ พิษนุ นารายน์ ขาเร (1933–2013) นักดาราศาสตร์และนักเคมีชาวอินเดีย ผู้มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับทอลินเป็นจำนวนมาก ทอลินเป็นสารอินทรีย์ที่อาจเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สีคล้ำบนดาวพลูโต
แอ่งมวินโด (Mwindo Fossae)
คูตื้นที่ยาว ตั้งชื่อตามกษัตริย์ผู้ปรีชาและทรงอำนาจในตำนานของไนอังกา (ทางตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก) ผู้เคยเดินทางไปเมืองบาดาล
เขาพิกคาร์ด (Piccard Mons)
ภูเขาแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งชื่อตาม ออกุส พิกคาร์ด (1884–1962) นักฟิสิกส์และนักประดิษฐ์ มีผลงานเด่นด้านการประดิษฐ์บัลลูนที่สามารถลอยขึ้นไปสูงถึงส่วนบนของบรรยากาศ
เทือกเขาปีกาเฟตตา (Pigafetta Montes)
ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ อันโตนีโอ ปีกาเฟตตา (1491–1531) นักสำรวจชาวอิตาลีผู้ที่จดบันทึกการค้นพบต่าง ๆ ขณะที่เดินเรือรอบโลกไปกับมาเจลัน 
ผาพิริ (Piri Rupes) 
หน้าผายาวแห่งหนึ่ง ตั้งชื่อตาม อาเม็ด มุฮิดดิน พิริ (1470–1553) สำเดินเรือชาวออตโตมัน ผู้มีผลงานเด่นในการเขียนแผนที่โลก 
แผ่นดินวีกา (Vega Terra) 
เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ ตั้งชื่อตามภารกิจ วีกา และ วีกา ของสหภาพโซเวียต ยานวีกา เป็นยานลำแรกที่ปล่อยบัลลูนออกสู่บรรยกาศของดาวเคราะห์ดวงอื่นได้เป็นครั้งแรก วีกา เป็นยานถ่ายภาพนิวเคลียสของดาวหางแฮลลีย์ 

ภาพสีจริงของดาวพลูโต (ซ้าย) เปรียบเทียบกับภาพเร่งสีพร้อมกับภูมิลักษณ์ที่เพิ่งได้รับชื่ออย่างเป็นทางการ (ขวา) (จาก NASA/Johns Hopkins University Applied Physics Laboratory/Southwest Research Institute)

ยานนิวเฮอไรซอนส์เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนิวฟรอนเทียร์ขององค์การนาซา หลังจากเฉียดดาวพลูโตไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 ยานก็ได้เข้าเฉียดดาวอัลติมาทูลีซึ่งเป็นวัตถุไคเปอร์ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และในขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของการส่งข้อมูลการสำรวจดาวดวงนี้กลับมายังโลกอยู่ ขณะนี้ภารกิจของยานได้รับการต่ออายุออกไปจนถึงเดือนเมษายน 2564 หากถึงเวลานั้นยานยังคงอยู่สภาพดี ก็อาจได้รับการต่ออายุออกไปอีก

เส้นทางปัจจุบันของนิวเฮอไรซอนส์แสดงว่ายานอาจเข้าใกล้วัตถุไคเปอร์อีกดวงหนึ่ง แต่น่าเสียดายที่วัตถุดวงนี้ยังอยู่อีกไกลมาก ต้องรอถึงปลายทศวรรษ 2030 จึงจะไปถึง ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น พลังงานจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากไอโซโทปกัมมันตรังสีบนยานจะหมดพลังไปแล้ว