สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สิ้นปีนี้มีของแถม

สิ้นปีนี้มีของแถม

13 ก.ค. 2559
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ใครที่ชอบบ่นว่าไม่ค่อยมีเวลาเตรียมดีใจได้ เพราะปี 2559 นี้ทุกคนจะมีเวลาเพิ่มขึ้น

อีกตั้งหนึ่งวินาที

ปกติแล้ว เมื่อใกล้เที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคม นาฬิกาสากลแสดงเวลาเป็น  ..., 23:59:58, 23:59:59, 00:00:00, ... เป็นการขึ้นวันใหม่ของปีใหม่ แต่ในปีนี้จะเป็น ..., 23:59:58, 23:59:59, 23:59:6000:00:00, ... มีวินาทีพิเศษเพิ่มเข้ามาหนึ่งวินาที เรียกว่า อธิกวินาที

เดิมหน่วยของเวลากำหนดขึ้นโดยอิงการหมุนรอบตัวเองของโลก หมุนครบรอบหนึ่งคือหนึ่งวัน แบ่งเป็น 24 ชั่วโมง หรือ 1,440 นาที หรือ 86,400 วินาที แต่นิยามนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว ความจริงเปลี่ยนไปหลายสิบปีแล้วด้วย

โลกถือเป็นตัวรักษามาตรฐานเวลาที่ไม่ดีนัก เพราะมีอัตราการหมุนรอบตัวเองไม่คงที่ นักวิทยาศาสตร์จึงต้องหาสิ่งที่มีคาบคงเส้นคงวากว่าโลก สิ่งนั้นก็คือ นาฬิกาอะตอม ซึ่งใช้การสั่นของอะตอมของซีเซียมเป็นมาตรฐาน นิยามของคำว่าวินาทีจึงกำหนดใหม่ว่า เป็นระยะเวลาเท่ากับการสั่นของอะตอมซีเซียมจำนวน 9,192,631,770 ครั้ง

นักดาราศาสตร์หมั่นวัดอัตราการหมุนรอบตัวเองของโลกอยู่เสมอด้วยการใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุตรวจสอบตำแหน่งของดาราจักรที่อยู่ไกลมากด้วยความละเอียดสูง พบว่าคาบการหมุนรอบตัวเองของโลกยาวนานกว่าระยะเวลาหนึ่งวันของนาฬิกาอะตอมอยู่เล็กน้อย ความแตกต่างนี้สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมากถึงหนึ่งวินาทีภายใน 500-750 วัน ในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างระบบเวลาแบบนาฬิกาอะตอมกับการระบบการหมุนของโลก จึงต้องเพิ่มอธิกวินาทีทุก 1-2 ปี

นับจากมีการใช้นาฬิกาอะตอมเป็นเวลามาตรฐาน มีการเพิ่มอธิกวินาทีไปแล้ว 26 ครั้ง ครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558

หลายคนเข้าใจว่าการเพิ่มอธิกวินาทีเกิดจากการที่โลกหมุนรอบตัวเองช้าลง บางคนอาจถึงกับคำนวณว่าถ้าเป็นแบบนี้แล้วโลกอาจหมุนช้าลงจนถึงกับหยุดหมุนภายในไม่กี่พันปีข้างหน้า 

นั่นเป็นเรื่องเข้าใจผิด เป็นความจริงที่โลกหมุนช้าลงเรื่อย ๆ แต่ช้าลงด้วยอัตราต่ำมาก ในศตวรรษที่ผ่านมาโลกหมุนรอบตัวเองช้าลงเพียง 1.7 ส่วนใน 1,000 ส่วนของวินาที และนั่นไม่ใช่เหตุผลของการเพิ่มอธิกวินาที อธิกวินาทีมีขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมสะสมของระบบเวลาสองระบบเท่านั้น 

เมื่อบวกกับการที่ปีนี้เป็นปีอธิกสุรทินแล้ว ทำให้ปี 2559 นี้มีความยาวถึง 366 วันกับอีก วินาที นับว่ายาวนานเป็นพิเศษ

ตัวเลขบอกเวลาบนหน้าปัดนาฬิกาแบบนี้ อาจไม่คุ้นตานัก แต่เวลานี้จะเกิดขึ้นจริงในวินาทีสุดท้ายของปีที่มีอธิกวินาที

ตัวเลขบอกเวลาบนหน้าปัดนาฬิกาแบบนี้ อาจไม่คุ้นตานัก แต่เวลานี้จะเกิดขึ้นจริงในวินาทีสุดท้ายของปีที่มีอธิกวินาที

กล้องโทรทรรศน์วิทยุจากอาตาคามา เป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีแอลบีไอ เครือข่ายนี้จะคอยตรวจสอบตำแหน่งของดาราจักรห่างไกลเพื่อวัดอัตราการหมุนรอบตัวเองของโลก

กล้องโทรทรรศน์วิทยุจากอาตาคามา เป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีแอลบีไอ เครือข่ายนี้จะคอยตรวจสอบตำแหน่งของดาราจักรห่างไกลเพื่อวัดอัตราการหมุนรอบตัวเองของโลก

ที่มา: