สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวฤกษ์ถูกสูบกลายเป็นดาวแคระน้ำตาล

ดาวฤกษ์ถูกสูบกลายเป็นดาวแคระน้ำตาล

17 ก.พ. 2544
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
สตีฟ บี. ฮาวล์ จากสถาบันวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์และ เดวิด อาร์. ชิอาร์ดี จากมหาวิทยาลัยฟลอริดา ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ยูเคิร์ต หรือ United Kingdom Infrared Telescope ขนาด 3.8 เมตรที่ยอดเขามานาเคอา ฮาวาย สำรวจสเปกตรัมของดาวคู่สองคู่คือ แอลแอล อันโดรเมดา และ อีเอฟ แม่น้ำ สเปกตรัมของดาวคู่แรกพบว่ามีการดูดกลืนของมีเทน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบนบรรยากาศของวัตถุที่มีมวลน้อยมากและมีอุณหภูมิต่ำกว่า 1,300 เคลวินเท่านั้น เช่นเดียวกับที่พบในระบบดาวคู่ อีเอฟ แม่น้ำ แต่ดาวฤกษ์ในคู่หลังนี้มีอุณหภูมิสูงกว่าเล็กน้อยคือ 1,650 เคลวิน ข้อมูลนี้บ่งบอกว่าระบบดาวคู่ทั้งสองมีดาวแคระน้ำตาลอยู่ระบบละดวง มีมวลอยู่ระหว่าง 40-55 เท่าของดาวพฤหัสบดี 

ตามทฤษฎี ในระบบดาวคู่ที่ประกอบด้วยดาวแคระขาวหนึ่งดวงและดาวฤกษ์ในลำดับหลัก (main sequence star) หนึ่งดวง จะโคจรรอบกันใกล้มากจนดาวแคระขาวสามารถดึงก๊าซจากดาวฤกษ์สหายของมันไป เมื่อมองจากโลกจะเห็นว่าดาวคู่ระบบนี้มีความสว่างไม่คงที่เนื่องจากการไหลเลื่อนของก๊าซจากดาวฤกษ์ไปยังดาวแคระขาวและจากการที่เกิดการลุกจ้า (flare) บนดาวแคระขาวเป็นครั้งคราว เมื่อเวลาผ่านไป ดาวฤกษ์ที่ถูกขโมยก๊าซไปจะเหลือมวลน้อยลงจนต่ำกว่าขีดจำกัดต่ำสุดของดาวฤกษ์และกลายเป็นดาวแคระน้ำตาลไป 

การขโมยก๊าซของดาวแคระขาวนี้เป็นทฤษฎีที่นักดาราศาสตร์เชื่อมาเป็นเวลานาน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่พบหลักฐานของการขโมยก๊าซโดยตรง 

ภาพวาดในจินตนาการของศิลปิน แสดงการขโมยก๊าซจากดาวฤกษ์สหายโดยดาวแคระน้ำตาล เมื่อดาวฤกษ์ถูกขโมยมวลไปมากถึงระดับหนึ่ง จะกลายเป็นดาวแคระน้ำตาลไป

ภาพวาดในจินตนาการของศิลปิน แสดงการขโมยก๊าซจากดาวฤกษ์สหายโดยดาวแคระน้ำตาล เมื่อดาวฤกษ์ถูกขโมยมวลไปมากถึงระดับหนึ่ง จะกลายเป็นดาวแคระน้ำตาลไป

ที่มา: