สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เพื่อนบ้านใหม่สีน้ำตาล

เพื่อนบ้านใหม่สีน้ำตาล

1 ธ.ค. 2543
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)


นักดาราศาสตร์คณะหนึ่งได้ค้นพบวัตถุที่น่าจะเป็นดาวแคระน้ำตาลดวงหนึ่งที่อยู่ในละแวกใกล้กับระบบสุริยะของเรานี้เอง วัตถุดวงนี้มีมวลประมาณ 60-90 เท่าของดาวพฤหัสบดี เป็นวัตถุเดี่ยว ไม่ได้อยู่ในระบบดาวหรือกระจุกดาวโดดๆ อยู่ห่างจากโลกเพียง 13 ปีแสงเท่านั้น วัตถุนี้มีชื่อว่า DENIS-P J104814.7-395606.1 หากวัตถุดวงนี้เป็นดาวแคระน้ำตาลจริง มันจะเป็นดาวแคระน้ำตาลที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเท่าที่เรารู้จัก เพราะก่อนหน้านี้ ดาวแคระน้ำตาลที่รู้จักที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 16 ปีแสง ผู้ที่ค้นพบวัตถุดวงนี้คือ เทียรี ฟอร์ไวล์ จาก บริษัทกล้องโทรทรรศน์แคนาดา-ฝรั่งเศส-ฮาวาย และ ซาเวียร์ เดลฟอสส์ จากการวิเคราะห์โดยใช้กล้องโทรทรรศน์เคก ที่ฮาวาย แต่กลับไม่พบว่าวัตถุดวงนี้มีลิเทียมอยู่ ซึ่งลิเทียมเป็นธาตุที่เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่บอกว่าวัตถุนั้นเป็นดาวแคระน้ำตาลหรือไม่ มีเพียงดาวแคระน้ำตาลที่มีมวลมากๆ เท่านั้นที่จะไม่มีลิเทียม ดังนั้นนักดาราศาสตร์จึงยังไม่กล้าชี้ชัดว่ามันเป็นดาวฤกษ์หรือดาวแคระน้ำตาล ถ้าเป็นดาวฤกษ์ มันจะเป็นดาวฤกษ์ที่จางและมีมวลน้อยมาก (75-90 เท่าของมวลดาวพฤหัสบดี) แต่ถ้าเป็นดาวแคระน้ำตาล มันก็จะเป็นดาวแคระน้ำตาลที่มีมวลมาก (60-75 เท่าของมวลดาวพฤหัสบดี) และยังจะเป็นดาวแคระน้ำตาลที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะที่สุดอีกด้วย

เอดวาร์โด มาร์ติน จากมหาวิทยาลัยฮาวาย ผู้ที่ศึกษาสเปกตรัมของวัตถุดวงนี้กล่าวว่า จริงๆ อาจยังมีดาวแคระน้ำตาลอีกหลายดวงที่อยู่ใกล้กว่าดวงนี้ แต่มันอาจจะเย็นกว่า จางกว่า จึงยังตรวจไม่พบ การค้นหาจำนวนของดาวแคระน้ำตาลจะช่วยให้เราได้ทราบว่าวัตถุพวกนี้มาจากไหน และช่วยให้เราทราบถึงองค์ประกอบทางเคมีและพลวัตของทางช้างเผือกโดยองค์รวมได้ด้วย ปัจจุบันมีการค้นพบดาวแคระน้ำตาลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นักดาราศาสตร์บางคนเริ่มคิดว่า บางทีดาวแคระน้ำตาลอาจจะส่วนหนึ่งของวัตถุมืดที่มีอยู่ทั่วไปในเอกภพก็ได้

ตำแหน่งของดาวแคระน้ำตาล DENIS-P J104814.7-395606.1 ที่เปลี่ยนไป (University of Hawii)

ตำแหน่งของดาวแคระน้ำตาล DENIS-P J104814.7-395606.1 ที่เปลี่ยนไป (University of Hawii)

ที่มา: