จันทรุปราคาบางส่วน 26 มิถุนายน 2553
ช่วงหัวค่ำของวันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน 2553 เกิดจันทรุปราคาบางส่วนขณะดวงอาทิตย์ตกและดวงจันทร์ขึ้น นับเป็นจันทรุปราคาครั้งเดียวของปีนี้ที่มีโอกาสเห็นได้ในประเทศไทย จันทรุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่เงาโลกบดบังดวงจันทร์ มีโอกาสเกิดขึ้นได้เฉพาะในคืนวันเพ็ญที่ดวงจันทร์สว่างเต็มดวง หากถูกบังไม่หมดดวงจะเรียกว่าจันทรุปราคาบางส่วน
ดวงจันทร์เริ่มแหว่งในช่วงเย็น(เวลา 17:17 น.) ก่อนที่ดวงจันทร์จะขึ้นเหนือขอบฟ้า จันทรุปราคาจึงกำลังดำเนินอยู่ขณะดวงจันทร์ขึ้นซึ่งเป็นเวลาใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ตก เมื่อมองไปที่ดวงจันทร์จะเห็นเงาโลกบังดวงจันทร์ทางซ้ายมือค่อนไปทางด้านบน
แต่ละพื้นที่ของประเทศไทยจะเห็นดวงจันทร์ขึ้นในเวลาที่ต่างกันความลึกของจันทรุปราคาขณะดวงจันทร์ขึ้นจึงต่างกันด้วย โดยปกติจังหวัดทางตะวันออกของประเทศจะเห็นดวงจันทร์ขึ้นก่อนภาคอื่น ๆ แต่เนื่องจากวันนี้ดวงจันทร์มีตำแหน่งอยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู ใต้เส้นศูนย์สูตรฟ้า จังหวัดในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงเห็นดวงจันทร์ขึ้นเร็วกว่าภาคกลางและภาคตะวันตก ส่วนภาคเหนือเห็นดวงจันทร์ขึ้นช้าที่สุด เมื่อเปรียบเทียบแล้วจะคล้ายกับฤดูหนาวที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ตอนล่างเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนภาคอื่น ๆ จันทรุปราคาครั้งนี้ดวงจันทร์ถูกบังเต็มที่เวลา 18:38 น. จากลักษณะดังกล่าวทำให้ภาคใต้มีโอกาสเห็นจันทรุปราคาได้นานกว่าภาคอื่น ตารางที่ให้มานี้บอกเวลาดวงอาทิตย์ตก ดวงจันทร์ขึ้น และมุมเงยของดวงจันทร์ขณะสิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วนในบางจังหวัด
หมายเหตุ:เวลาดวงจันทร์ขึ้นในที่นี้คือเวลาที่ขอบบนของดวงจันทร์แตะขอบฟ้า ดวงจันทร์จะขึ้นมาเหนือขอบฟ้าทั้งดวงในเวลาราว 2 นาทีถัดมา ซึ่งใกล้เคียงกับเวลาดวงอาทิตย์ตกของแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ยังอาจมีเมฆหรือหมอกควันบดบัง ทำให้เริ่มเห็นดวงจันทร์ช้ากว่าเวลาที่ระบุในตาราง (ดูเวลาดวงจันทร์ขึ้นของแต่ละจังหวัดได้ที่เวลาดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ขึ้น-ตก)
เมื่อสิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา20:00 น. ดวงจันทร์จะกลับมาเต็มดวง (สังเกตได้ว่าขอบด้านบนยังคล้ำอยู่เล็กน้อยเนื่องจากเงาโลกมีขอบไม่คมชัด) ดวงจันทร์ยังอยู่ในเงามัวของโลกต่อไปอีกกว่า 1 ชั่วโมง มันจึงยังไม่สว่างเต็มที่ ดวงจันทร์ออกจากเงามัวในเวลา 21:20 น. เป็นจุดสิ้นสุดปรากฏการณ์อย่างสมบูรณ์
พื้นที่อื่นที่เห็นจันทรุปราคาครั้งนี้พร้อมกับประเทศไทยได้แก่ เอเชียตะวันออก ออสเตรเลีย มหาสมุทรแปซิฟิก รวมไปถึงด้านตะวันตกของทั้งอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ประเทศไทยและภูมิภาคแถบเดียวกันนี้เห็นปรากฏการณ์ขณะดวงจันทร์ขึ้น แต่ในทวีปอเมริกาซึ่งเวลาท้องถิ่นช้ากว่าเรา ปรากฏการณ์จะเกิดขึ้นขณะดวงจันทร์กำลังตกในเวลาเช้ามืดของวันเดียวกัน หลังจากครั้งนี้แล้ว ประเทศไทยจะเกิดจันทรุปราคาขณะดวงอาทิตย์ตกและดวงจันทร์ขึ้นอีกในจันทรุปราคาบางส่วน 4 มิถุนายน 2555 และจันทรุปราคาเต็มดวง 8 ตุลาคม 2557
จันทรุปราคาครั้งถัดไปที่เห็นได้ในประเทศไทยเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงเกิดขึ้นในกลางดึกของคืนวันพุธที่ 15 มิถุนายน 2554 (เข้าสู่เช้าวันพฤหัสบดีที่ 16) ดวงจันทร์ถูกบังหมดดวงขณะอยู่ใกล้ทางช้างเผือก
อุปราคาในปี 2553
●จันทรุปราคา พ.ศ. 2551-2555
ดวงจันทร์เริ่มแหว่งในช่วงเย็น
แต่ละพื้นที่ของประเทศไทยจะเห็นดวงจันทร์ขึ้นในเวลาที่ต่างกัน
สถานที่ | ดวงอาทิตย์ตก | ดวงจันทร์ขึ้น | มุมเงยของดวงจันทร์ |
---|---|---|---|
กรุงเทพฯ | 18:49 | 18:47 | 15° |
เชียงใหม่ | 19:05 | 19:03 | 11° |
นครราชสีมา | 18:45 | 18:43 | 15° |
นราธิวาส | 18:30 | 18:27 | 19° |
ระยอง | 18:44 | 18:42 | 16° |
สงขลา | 18:37 | 18:34 | 18° |
อุบลราชธานี | 18:34 | 18:32 | 17° |
หมายเหตุ:
เมื่อสิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา
พื้นที่อื่นที่เห็นจันทรุปราคาครั้งนี้พร้อมกับประเทศไทย
จันทรุปราคาครั้งถัดไปที่เห็นได้ในประเทศไทยเป็นจันทรุปราคาเต็มดวง
ดูเพิ่ม
●●