ยานบีเกิล 2 ลงจอดบนดาวอังคาร
4 มกราคม 2547
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 20 ธันวาคม 2559
ความคืบหน้าล่าสุด
5 มกราคม 2547
เมื่อวันที่
4 มกราคม เวลา 20.13 น. ตามเวลาในไทย อีซาได้สั่งให้ยานมาร์สเอกซ์เพรสจุดจรวดเพื่อปรับวงโคจรของยานให้เข้าใกล้ดาวอังคารมากขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่โครงการยังคงพยายามค้นหาสัญญาณจากบีเกิล 2 ต่อไป ผลจากการปรับนี้ทำให้ยานมีวงโคจรเป็นวงรี จุดที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างจากพื้นดิน 250 กิโลเมตร ขณะที่จุดที่ไกลที่สุดถูกลดระดับลงจาก 190,000 กิโลเมตร มาอยู่ที่ 40,000 กิโลเมตร จะมีการปรับวงโคจรอีก 2 ครั้ง ในวันที่ 6-7 มกราคม และ 10-11 มกราคม เพื่อให้ยานมีวงโคจรขนาด 11,000x300 กิโลเมตร
อีซาจะพยายามติดต่อกับบีเกิล 2 ผ่านทางยานมาร์สเอกซ์เพรสตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม เมื่อยานมาร์สเอกซ์เพรสอยู่ในวงโคจรที่เหมาะสม
29 ธันวาคม 2546 - 18.00 น.
ภาพถ่ายความละเอียดสูงที่ถ่ายโดยยานมาร์สโกลบัลเซอร์เวเยอร์ของบริเวณที่ยานบีเกิล 2 ลงจอด แสดงให้เห็นว่ามีหลุมอุกกาบาตขนาด 1 กิโลเมตร อยู่เกือบใจกลางของพื้นที่เป้าหมายที่ยานบีเกิล 2 น่าจะลงสัมผัสพื้นผิวดาวอังคาร
ยานมาร์สโกลบัลเซอร์เวเยอร์ขององค์การนาซา ถ่ายภาพบริเวณลงจอดของยานบีเกิล 2 เมื่อเวลา 20 นาที หลังจากที่ยานมีกำหนดลงแตะพื้นผิวดาวอังคาร (พื้นที่เป้าหมายอยู่ในวงรี) ภาพนี้ไม่ละเอียดพอที่จะมองเห็นยานบีเกิล 2 แต่ก็ทำให้นักดาราศาสตร์ค้นพบหลุมอุกกาบาตอยู่เกือบใจกลางของวงรี
โคลิน พิลลิงเจอร์ กล่าวว่านี่เป็นสถานการณ์ที่ย่ำแย่ที่สุดหากยานตกลงไปในหลุมอุกกาบาต และถือเป็นโชคร้ายอย่างมาก เพราะความจริงแล้วโอกาสที่ยานจะตกลงไปในหลุมอุกกาบาตนั้นมีไม่มาก เจ้าหน้าที่ของโครงการไม่อาจทราบได้ล่วงหน้าว่ายานจะลงไปในจุดที่มีหลุมอุกกาบาตอยู่หรือไม่ และการหลีกเลี่ยงหลุมอุกกาบาตขนาดนี้ไม่อาจทำได้ เพราะภาพถ่ายที่ใช้ในการกำหนดจุดลงจอดมีความละเอียดไม่สูงพอที่จะเห็นหลุมขนาดนี้
หากยานบีเกิล 2 ตกลงไปในหลุมอุกกาบาตจริง นี่ก็เป็นเหตุผลที่เรายังสามารถติดต่อกับมันได้ เพราะยานน่าจะได้รับความเสียหายหากตกลงบริเวณขอบหลุม และหากยานตกลงไปที่ก้นหลุม ยานก็อาจจะไม่สามารถเปิดเครื่องทำงานได้ เนื่องจากไม่ได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์หลังจากที่ลงจอด
แม้ว่าจะมีข้อมูลที่ไม่สู้ดีนักในสภาวการณ์ของยานบีเกิล 2 แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์ในภารกิจนี้ยังคงพยายามค้นหาแนวทางที่เป็นไปได้ในการติดต่อกับยาน รวมทั้งหาสาเหตุของการขาดการติดต่อ เช่น นาฬิกาบนยานที่อาจหยุดทำงานแล้วรีเซตตัวเอง ทำให้ยานไม่ได้ส่งสัญญาณในเวลาที่ยานมาร์สโอดิสซีย์โคจรผ่าน หรือสถานะของอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณบนยานมาร์สโอดิสซีย์ เป็นต้น
26 ธันวาคม 2546 - 07.30 น.
องค์การอวกาศยุโรปได้พยายามค้นหาสัญญาณอ่อนๆ ของบีเกิล 2 ด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุจอดเรลล์แบงก์เมื่อเวลา 5.20-6.40 น. ของวันที่ 26 ธันวาคม ตามเวลาในไทย แต่ปรากฏว่าพวกเขาต้องพบแต่ความเงียบ
เจ้าหน้าที่โครงการยังคงไม่สิ้นหวังเสียทีเดียว พวกเขาหวังว่าอาจได้ยินสัญญาณจากบีเกิล 2 ผ่านทางยานมาร์สโอดิสซีย์หรือการค้นหาด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุบนพื้นโลกในวันต่อๆ ไป
มีข้อสันนิษฐานหลายอย่าง เกี่ยวกับสาเหตุของการที่ไม่สามารถติดต่อกับบีเกิล 2 ได้ เช่น ความผิดปกติของระบบคอมพิวเตอร์ สายอากาศที่เอียงไปจากทิศทางที่เหมาะสม ความผิดพลาดร้ายแรงที่เกิดขึ้นขณะยานลงจอด หรือยานอาจตกลงไปในรอยแยกของแผ่นดิน
25 ธันวาคม 2546 - 14.40 น.
ไมค์ แม็คเคย์ ผู้อำนวยการเที่ยวบินจากศูนย์บัญชาการอวกาศยุโรปในเยอรมนีแถลงถึงความคืบหน้าล่าสุดในสถานการณ์ที่ยังไม่ได้รับสัญญาณจากบีเกิล 2
"ยานบีเกิล 2 ได้ลงจอดเรียบร้อยแล้ว มันถูกวางตำแหน่งตามเป้าหมายอย่างแม่นยำเมื่อวันศุกร์โดยยานมาร์สเอกซ์เพรส ให้เข้าสู่บรรยากาศดาวอังคารในเส้นทางที่กำหนดไว้ หลังจากนั้น ทีมควบคุมภารกิจในศูนย์บัญชาการอวกาศยุโรปได้คำนวณพื้นที่จุดลงจอดได้แม่นยำมากขึ้น คาดว่าอยู่ภายในพื้นที่วงรีขนาด 31x5 กิโลเมตรบนพื้นผิวดาวอังคาร"
ไมค์ แม็คเคย์ อธิบายเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่ทำให้ยังไม่ได้รับสัญญาณว่า เกิดจากเหตุผลหลายประการ เช่น อุณหภูมิบนดาวอังคารที่ทำให้สัญญาณเลื่อนออกจากทิศทางที่คาดไว้ หรือยานอาจอยู่บนพื้นดินที่ลาดเอียง อีซาจึงมีแผนสำรองให้จานสายอากาศขนาดใหญ่ในสหราชอาณาจักรค้นหาสัญญาณวิทยุที่ส่งออกมาจากบริเวณที่ยานบีเกิลลงจอด พร้อมทั้งคาดหวังว่ามาร์สโอดิสซีย์อาจตรวจพบสัญญาณได้ในการโคจรผ่านจุดลงจอดครั้งต่อๆ ไป
25 ธันวาคม 2546 - 14.07 น.
องค์การอวกาศยุโรปยืนยันอย่างเป็นทางการว่ายานมาร์สเอกซ์เพรสเข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารเรียบร้อยแล้ว!
25 ธันวาคม 2546 - 13.44 น.
"ไม่มีสัญญาณจากบีเกิล 2"
เดวิด เซาต์วูด ผู้อำนวยการโครงการวิทยาศาสตร์ขององค์การอวกาศยุโรป แถลงว่าขณะนี้ยังไม่ได้รับสัญญาณจากบีเกิล 2 แม้ว่ายานจะลงจอดบนดาวอังคารแล้ว "ตามกำหนดการ เราคาดว่าจะได้รับสัญญาณของยานบีเกิล 2 ผ่านทางยานมาร์สโอดิสซีย์ของสหรัฐฯ แต่จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับพบว่า ขณะนี้เราเสียใจที่จะบอกว่า เรายังไม่ได้รับสัญญาณใดๆ จากบีเกิล 2"
"แม้ว่าจะยังไม่ได้รับสัญญาณในขณะนี้ แต่ต้องไม่ลืมว่านี่เป็นเพียงโอกาสครั้งแรกเท่านั้น สายอากาศของยานบีเกิล 2 อาจหันไปในทิศทางที่ไม่ได้กำหนดไว้ หรือมีการล่าช้าของสัญญาณเนื่องจากสาเหตุอื่นๆ สถานีรับสัญญาณบนโลกจะยังคงพยายามต่อไปที่จะติดต่อกับบีเกิล 2"
หากการติดต่อกับยานอีกครั้งด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ในสหราชอาณาจักรที่จะมีขึ้นในเช้ามืดวันที่ 26 ธันวาคม ตามเวลาในไทย ยังไม่ประสบความสำเร็จ ยานมาร์สโอดิสซีย์ของนาซาจะพยายามติดต่อกับยานบีเกิล 2 ทุกๆ วัน ไปจนวันที่ 3 มกราคม 2547 เมื่อยานมาร์สเอกซ์เพรสเริ่มทำงาน
แม้ว่าจะมียานอวกาศที่เคยลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จมาแล้ว แต่ในอดีต รัสเซียและองค์การนาซาของสหรัฐฯ ก็ประสบความล้มเหลวหลายครั้งในความพยายามส่งยานอวกาศไปลงบนพื้นผิวดาวอังคาร
25 ธันวาคม 2546 - 12.30 น.
ยาน 2001 มาร์สโอดิสซีย์ขององค์การนาซา ที่กำลังโคจรรอบดาวอังคารในขณะนี้ ควรจะโคจรผ่านเหนือจุดที่ยานบีเกิล 2 ลงจอดในเวลานี้ หากบีเกิล 2 เริ่มทำงานแล้ว มันควรจะส่งสัญญาณขึ้นไปให้ยานมาร์สโอดิสซีย์ตรวจพบได้และส่งต่อมาถึงโลก
เจ้าหน้าที่ของอีซากล่าวว่า แม้ว่ายานบีเกิล 2 จะผ่านพ้นบรรยากาศของดาวอังคารและลงบนพื้นผิวได้สำเร็จ แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าการสื่อสารระหว่างยานกับโลกจะมีขึ้นได้ในทันทีหลังจากความพยายามติดต่อในครั้งแรก บีเกิล 2 ถูกวางโปรแกรมให้ปิดการทำงานในเวลากลางคืนของดาวอังคาร ดังนั้นหากมาร์สโอดิสซีย์ยังไม่ได้รับสัญญาณ โอกาสต่อไปที่จะติดต่อกับยานบีเกิล 2 คือ การติดต่อด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุโลเวลล์ของสหราชอาณาจักรในเวลาประมาณ 6.00 น. ของวันที่ 26 ธันวาคม ตามเวลาในไทย
(จุดที่ยานบีเกิล 2 อยู่: ดวงอาทิตย์ตกในเวลา 14.15 น. และ ดวงอาทิตย์ขึ้นในเวลา 3.02 น.)
25 ธันวาคม 2546 - 11.31 น.
ข้อมูลเบื้องต้นแสดงว่ายานมาร์สเอกซ์เพรสได้เข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารแล้ว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมภารกิจยังไม่สามารถยืนยันได้แน่นอน ต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระยะเวลาการจุดจรวดในการปรับวิถีโคจร สถานภาพของยาน และวงโคจรที่แน่นอนของยาน
25 ธันวาคม 2546 - 10.18 น.
หลังจากการจุดจรวดของยานมาร์สเอกซ์เพรสเป็นเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ยานควรจะเข้าสู่วงโคจรรูปวงรีรอบดาวอังคารแล้ว หลังจากนี้ยังต้องใช้เวลาอีกหลายชั่วโมงกว่าจะสามารถยืนยันการเข้าสู่วงโคจรครั้งนี้ว่าสำเร็จหรือไม่
25 ธันวาคม 2546 - 09.54 น.
ยานบีเกิล 2 ควรจะลงแตะพื้นผิวดาวอังคารเรียบร้อยแล้ว ถุงลมที่เป็นตัวรับแรงกระแทกขณะยานลงสู่พื้นจะถูกปลดออก ไม่กี่นาทีต่อไปคอมพิวเตอร์บนยานจะสั่งให้แผงเซลล์สุริยะกางออก
แปลและเรียบเรียงจาก: SpaceflightNow.com, BBC News
วันที่
25 ธันวาคม 2546 ขณะที่ผู้คนทั่วโลกกำลังเฉลิมฉลองในเทศกาลคริสต์มาส ยุโรปโดยเฉพาะในสหราชอาณาจักรอาจมีเหตุผลในการฉลองเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอย่าง เพราะยานอวกาศของพวกเขามีกำหนดจะลงแตะพื้นผิวดาวอังคารในวันเดียวกันนี้
บีเกิล 2 เป็นยานลูกที่เดินทางติดไปกับยานมาร์สเอกซ์เพรส ยานอวกาศขององค์การอวกาศยุโรปหรืออีซา (ESA) ถูกนำขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2546 ด้วยจรวดโซยุซจากฐานส่งยานในประเทศคาซัคสถาน ด้วยความร่วมมือจากรัสเซีย และได้เดินทางเป็นระยะทางราว 400 ล้านกิโลเมตร เพื่อไปถึงดาวอังคารเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา
ยานลงดาวอังคารที่มีชื่อว่าบีเกิล 2 นี้ได้แยกตัวออกจากยานแม่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระหว่างเดินทางเพื่อเข้าสู่บรรยากาศของดาวอังคารในวันคริสต์มาส โดยมีโล่กันความร้อนป้องกันยานจากอุณหภูมิสูงขณะเสียดสีกับบรรยากาศ จากนั้นจะใช้ร่มชูชีพนำยานลงแตะพื้นผิวดาวอังคารขณะที่ตัวยานมาร์สเอกซ์เพรสจะโคจรอยู่ในวงโคจรรอบดาวอังคาร ทำการสำรวจดาวอังคารด้วยกล้องถ่ายภาพ เรดาร์ และมาตรวัดสเปกตรัม อุปกรณ์บนยานบีเกิล 2 จะขุดเจาะลงไปในพื้นดินดาวอังคารเพื่อเก็บตัวอย่างดินและวิเคราะห์อัตราส่วนของคาร์บอนในดินซึ่งจะเป็นสิ่งบ่งบอกถึงสัญญาณของกิจกรรมทางชีววิทยาเป็นเวลานานอย่างน้อย 6 เดือน
ความเป็นมา
ยานบีเกิล 2 เป็นยานสำหรับลงจอดทำหน้าที่เป็นห้องปฏิบัติการขนาด 3 ฟุต ตั้งชื่อตามชื่อเรือที่นำชาร์ลส์ ดาร์วิน สู่การเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ไปทั่วโลกเพื่อศึกษาสิ่งมีชีวิต นำไปสู่งานเขียนชื่อ "On the Origin of Species" บีเกิล 2 เป็นยานลงจอดที่ได้ชื่อว่ามีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่เคยส่งไปลงบนพื้นผิวดาวอังคาร ยานมีเป้าหมายในการค้นหาหลักฐานที่แสดงถึงสภาวะดาวอังคารในอดีตและปัจจุบัน
ความตั้งใจเดิมของอีซาในภารกิจมาร์สเอกซ์เพรส คือ ส่งยานไปโคจรรอบดาวอังคารเท่านั้น แต่ในปี 2540 ศาสตราจารย์โคลิน พิลลิงเจอร์ แห่งมหาวิทยาลัยโอเพน ได้เสนออีซาและราชสมาคมในลอนดอนพิจารณาความเป็นไปได้ในการพัฒนายานลงจอดให้เดินทางไปกับมาร์สเอกซ์เพรส ปลายปี 2541 อีซาจึงอนุมัติให้มีการสร้างยานบีเกิลในภารกิจนี้
ปล่อยบีเกิล 2 ออกจากยานแม่
หลังจากเดินทางไปด้วยกันตั้งแต่ออกจากโลก วันที่ 19 ธันวาคม 2546 ยานบีเกิล 2 ได้แยกตัวออกมาจากยานมาร์สเอกซ์เพรส และเดินทางในอวกาศโดยมีจุดหมายที่ดาวอังคาร ยานบีเกิล 2 ไม่มีระบบขับดัน ดังนั้นมันจึงเดินทางไปยังดาวอังคารโดยอาศัยเพียงแรงโน้มถ่วงเท่านั้น นั่นเป็นเหตุผลที่วันที่ 16 ธันวาคม ก่อนหน้าที่ยานทั้งสองจะแยกออกจากกัน ได้มีการส่งคำสั่งจากโลกเพื่อปรับวิถีของยานให้เข้าสู่ตำแหน่งและความเร็วที่เหมาะสม หากบีเกิล 2 เดินทางในเส้นทางที่ทำมุมกับพื้นดินมากเกินไป ยานก็อาจเผาไหม้ในบรรยากาศ แต่หากยานทำมุมน้อยเกินไปยานก็อาจแฉลบออกนอกเส้นทางที่กำหนดไว้ หลังจากที่ยานทั้งสองแยกจากกัน ยานมาร์สเอกซ์เพรสก็ได้ปรับเส้นทางของตนเองด้วยเช่นกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการพุ่งชนดาวอังคาร และมีกำหนดจะปรับเส้นทางอีกครั้งเพื่อเข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคาร ในเวลา 9.52 น. ของวันที่ 25 ธันวาคม ตามเวลาในไทย ซึ่งเกือบเป็นเวลาเดียวกันกับที่ยานบีเกิล 2 ลงสัมผัสพื้นผิวดาวอังคาร
สัมผัสดาวอังคาร
วันที่ 25 ธันวาคม เป็นเวลา 6 วันหลังจากที่ยานบีเกิล 2 แยกตัวออกมาจากยานแม่ ยานจะเดินทางเข้าสู่บรรยากาศของดาวอังคารด้วยอัตราเร็วมากกว่า 20,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีโล่กันความร้อนเป็นตัวป้องกันยาน จากนั้นร่มจะกางออกเพื่อชะลอความเร็วลงพร้อมกับถุงลมขนาดใหญ่ที่ช่วยให้ยานลงสู่พื้นผิวดาวอังคารอย่างนุ่มนวลในเวลา 9.54 น. ตามเวลาในไทย โดยขณะถึงพื้นดิน ยานจะมีความเร็วประมาณ 58 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะกระดอนหลายครั้งก่อนที่จะหยุดนิ่งบนพื้นผิว จุดลงจอดของยานเป็นพื้นที่รูปวงรีที่มีขนาด 300x150 กิโลเมตร อยู่ในบริเวณที่เรียกว่า "ไอซีดิสพลานิเทีย" แอ่งดินตะกอนบริเวณใกล้ศูนย์สูตรของดาวอังคาร เหตุผลที่เลือกพื้นที่นี้ คือ เป็นบริเวณที่มีลมไม่แรงมาก พื้นที่ค่อนข้างราบเรียบเมื่อเทียบกับบริเวณอื่นๆ
หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ยานจะเปิดออกพร้อมกับแผ่แผงเซลล์สุริยะ 4 แผงออกมารอบๆ จากนั้นบีเกิล 2 มีโอกาสจะติดต่อกับโลกเป็นครั้งแรกด้วยการส่งสัญญาณวิทยุ (เป็นตัวโน้ตที่ประพันธ์โดย "เบลอ" วงดนตรีป๊อปร็อคชื่อดังของอังกฤษ) ขึ้นไปยังยาน 2001 มาร์สโอดิสซีย์ของนาซา ที่โคจรอยู่รอบดาวอังคารในขณะนี้ คาดว่าสัญญาณที่แสดงถึงการอยู่รอดของบีเกิล 2 น่าจะส่งมาถึงโลกภายใน 4-6 ชั่วโมงหลังจากลงแตะพื้นผิว
ยานมาร์สเอกซ์เพรสจะสำรวจดาวอังคารเป็นเวลานานอย่างน้อย 2 ปี ส่วนยานบีเกิล 2 จะทำงานบนพื้นผิวดาวอังคารนานประมาณ 6 เดือน โดยสื่อสารกับโลกผ่านทางยานแม่ ยานคู่นี้จะช่วยตอบปัญหาขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับดาวอังคาร ไม่ว่าจะเป็นปริมาณและการมีอยู่ของน้ำบนดาวอังคาร สัญญาณที่อาจบ่งบอกถึงสิ่งมีชีวิตในอดีตและปัจจุบัน เป็นต้น
นอกจากยานบีเกิล 2 แล้ว ยังมียานอวกาศอีก 2 ลำของสหรัฐฯ ที่มีชื่อว่า "สปิริต" และ "ออปพอร์ทูนิตี" ในภารกิจมาร์สเอกซ์พลอเรชันโรเวอร์ ที่จะลงแตะพื้นผิวดาวอังคารในเดือนมกราคม 2547
บทความเกี่ยวกับยานสำรวจดาวอังคาร
มหกรรมสำรวจดาวอังคารปี 2546
ยาน 2001 มาร์สโอดิสซีย์
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
Mars Express - ESA
Beagle 2 - ESA
Mars Exploration - NASA