สมาคมดาราศาสตร์ไทย

การตายของ ทีโค บราห์ กับผู้ต้องสงสัยที่ชื่อ โยฮันเนส เคปเลอร์

การตายของ ทีโค บราห์ กับผู้ต้องสงสัยที่ชื่อ โยฮันเนส เคปเลอร์

โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) 24 พฤษภาคม 2568
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 20 มิถุนายน 2568
ทีโค บราห์ เป็นชาวเดนมาร์ก เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เขาเป็นทั้งนักดาราศาสตร์ นักโหราศาสตร์ นักเล่นแร่แปรธาตุ ทีโคเกิดใน ค.ศ. 1546 เขาอยู่ในตระกูลชนชั้นสูง เคยดำรงตำแหน่งนักดาราศาสตร์หลวงที่ถวายงานให้แก่กษัตริย์เดนมาร์ก ต่อมาก็ย้ายไปอยู่ประจำราชสำนักของพระเจ้ารูดอล์ฟที่ จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ 

ผลงานที่โดดเด่นของทีโคคือ หอสังเกตการณ์ที่วัดตำแหน่งของดาวได้อย่างแม่นยำโดยไม่ใช้กล้องโทรทรรศน์ ผลงานของหอสังเกตการณ์นี้มีบทบาทสำคัญในการพิสูจน์ได้ว่าดาวหางเป็นวัตถุที่อยู่ในอวกาศ ไม่ได้อยู่ในชั้นบรรยากาศโลกดังที่หลายคนในยุคนั้นเชื่อกัน

ทีโค บราห์ 

นอกจากนี้ทีโคยังเรียบเรียงบัญชีดาวฤกษ์ที่มีมากกว่า 1,000 รายการ ค้นพบซูเปอร์โนวาใน ค.ศ. 1527 และงานด้านตำแหน่งของดาวฤกษ์ของทีโคนี้เองที่ โยฮันเนส เคปเลอร์ นำไปใช้ศึกษาวิเคราะห์จนเป็นที่มาของกฎการเคลื่อนที่สามข้อของดาวเคราะห์อันลื่อลั่น 

ในวัย 20 หนุ่มทีโคไปมีเรื่องมีราวกับคนอื่นจนถึงกับต้องดวลดาบกัน ผลคือทีโคได้รับบาดเจ็บถึงขั้นจมูกแหว่งไป เขาจึงต้องสวมจมูกเทียมมาตั้งแต่นั้น กล่าวกันว่าจมูกเทียมนั้นทำจากเงินหรือแม้แต่ทองคำเลยทีเดียว 

วันหนึ่งในเดือนตุลาคม ค.ศ.1601 ทีโคได้ร่วมงานเลี้ยงของราชสำนักในกรุงปราก ในระหว่างงานนั้น ทีโคเกรงใจแขกผู้ร่วมงานจนต้องยอมอั้นปัสสาวะแทนที่จะขอตัวไปเข้าห้องน้ำ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ส่งผลร้ายแรงถึงชีวิต ทีโคเสียชีวิตในอีก 11 วันต่อมา มีบันทึกว่าเขาตายด้วยอาการแทรกซ้อนหลายอย่างเกี่ยวกับระบบปัสสาวะ กล่าวกันว่ากระเพาะปัสสาวะของทีโคถึงกับแตกเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม มีบางคนไม่เชื่อว่านั่นคือสาเหตุการตายที่แท้จริง ญาติคนหนึ่งของทีโคสงสัยว่าทีโคอาจตายเพราะถูกวางยาพิษ และผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนลงมือก็คือ โยฮันเนส เคปเลอร์ 

ขณะนั้นเคปเลอร์ยังไม่มีชื่อเสียง มีฐานะเป็นทั้งลูกจ้างและลูกศิษย์ของทีโค แต่ความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์อาจารย์คู่นี้ก็ไม่สู้ดีนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนิสัยขี้โอ่ของทีโค และเขาก็มักเก็บผลงานของของเคปเลอร์ไว้ นี่อาจเป็นเหตุจูงใจให้เคปเลอร์ไม่พอใจและทำเรื่องดังกล่าวได้ ยิ่งหลังจากที่ทีโคเสียชีวิต เคปเลอร์ก็เข้าถึงข้อมูลที่ทีโคเก็บไว้และนำไปต่อยอดเป็นกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ได้ ก็ยิ่งทำให้สมมุติฐานนี้มีน้ำหนักขึ้น

ในปี พ.ศ. 2444 เป็นปีที่ครบรอบ 300 ปีที่เขาเสียชีวิต นักวิทยาศาสตร์ได้ขุดศพของทีโคขึ้นมา และตรวจสอบโครงกระดูกพบว่ามีร่องรอยของปรอทอยู่ด้วย นี่ยิ่งเป็นการให้น้ำหนักแก่ทฤษฎีที่ว่าทีโคตายเพราะถูกวางยาพิษ

ต่อมาใน พ.ศ. 2553 มีการขุดศพของทีโคมาตรวจสอบอีกครั้ง ในครั้งนี้เกิดขึ้นในยุคที่เทคโนโลยีทางนิติวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ากว่าเมื่อศตวรรษก่อนมาก ผลการวิเคราะห์เส้นเคราและกระดูกพบว่าระดับของปรอทไม่สูงมากพอที่จะเป็นอันตรายถึงชีวิต และระดับของปรอทที่ได้รับก็ดูจะลดลงในช่วงก่อนเสียชีวิตอีกด้วย ดังนั้นสมมุติฐานที่ว่าเขาตายเพราะถูกวางยาพิษจึงถูกปัดตกไป เคปเลอร์เป็นผู้บริสุทธิ์

การพิสูจน์ศพในครั้งหลังนี้ยังพบสิ่งนอกเหนือจากสาเหตุการตาย นั่นคือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจมูกเทียม แม้จะไม่พบชิ้นส่วนของจมูกเทียมนั้น แต่นักวิทยาศาสตร์พบการสะสมของแร่ทองแดงและสังกะสีบริเวณจมูก สิ่งนี้บ่งชี้ว่า จมูกเทียมของทีโคที่กล่าวกันว่าทำมาจากเงินหรือทองคำนั้น แท้จริงทำมาจากทองเหลือง 

ที่มา
 Tycho Brahe Died from Pee, Not Poison livescience.com
 Body of Danish Astronomer Tycho Brahe Exhumed from Tomb space.com
 Mercury Murder Mystery: An Analysis of the Demise of Tycho Brahe retrospectjournal.com
 The astronomer’s nose: Tycho Brahe’s controversial prosthesis  entandaudiologynews.com
 Did Johannes Kepler Murder Tycho Brahe? www.historynewsnetwork.org