สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เมื่อรัสเซียพกปืนไปอวกาศ

เมื่อรัสเซียพกปืนไปอวกาศ

13 มีนาคม 2567 โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 28 มีนาคม 2567
สถานีอวกาศนานาชาติ เป็นโครงการนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้าง เกิดจากความร่วมมือของมหาอำนาจทางอวกาศอย่างองค์การนาซาจากสหรัฐอเมริกา รอสคอสมอสจากรัสเซีย อีซาจากยุโรป และประเทศอื่น เป็นโครงการที่สร้างขึ้นเพื่องานวิจัยทางวิทยาศาสตร์โดยปราศจากความขัดแย้งทางการเมือง บนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งที่คู่แค้นมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซียจะยังคงมีไมตรีต่อกัน บนสถานีอวกาศมนุษย์ทุกชาติล้วนอยู่และทำงานร่วมกันอย่างสันติไม่ว่าสถานการณ์บนโลกจะตึงเครียดสักเพียงใด 

สถานีอวกาศนานาชาติ (จาก NASA/Roscosmos)

แต่ทราบหรือไม่ มนุษย์อวกาศรัสเซียเขาพกปืนขึ้นไปด้วยนะ

อย่าเพิ่งตกใจ เขาไม่ได้เอาไปดวลปืนกับพวกอเมริกัน เขาเอาไว้ยิงสัตว์

เรื่องนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่สมัยที่ยุคอวกาศเริ่มต้นขึ้น ยานอวกาศที่มีมนุษย์ของฝ่ายโซเวียตไม่ว่าจะเป็นรุ่นบุกเบิกอย่างวอสตอก วอสฮอด และโซยุซ ล้วนเป็นมอดูลที่ออกแบบให้กลับสู่โลกแบบลงจอดบนแผ่นดิน โดยมีร่มชูชีพคอยพยุงจนถึงพื้น การลงจอดในลักษณะนี้มีโอกาสที่จะลงจอดพลาดเป้าไปได้ไกล หากยานไปจอดในสถานที่กันดารหรือในป่า ลูกเรือจำเป็นต้องมีอาวุธไว้ป้องกันตัวจากสัตว์ร้ายระหว่างที่รอทีมช่วยเหลือภาคพื้นดินตามไปถึง 

ส่วนทางฝ่ายอเมริกันไม่เคยต้องพกปืน เนื่องจากยานของนาซาไม่มีโอกาสเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ยานประเภทมอดูลของนาซานิยมให้ลงจอดในทะเลแล้วส่งเรือไปเก็บกู้ ส่วนกระสวยอวกาศของนาซาก็กลับสู่โลกแบบเครื่องร่อนซึ่งควบคุมจุดลงจอดได้แม่นยำ  การพกปืนจึงไม่จำเป็น

ในปี 2508 สหภาพโซเวียตส่งยานวอสฮอด ขึ้นสู่อวกาศโดยมีลูกเรือสองคนได้แก่ อะเลคเซย์ เลโอนอฟ และ ปาเวล เบลยาเยฟ ภารกิจนี้มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นภารกิจทดสอบการออกย่ำอวกาศ เป็นครั้งแรกที่จะมีมนุษย์ออกไปนอกยานในอวกาศซึ่งเป็นภารกิจที่เสี่ยงอย่างมาก

อะเลคเซย์ เลโอนอฟ มนุษย์คนแรกที่ออกปฏิบัติการนอกยานอวกาศ 
แผ่นชีตสแตมป์ของสหภาพโซเวียตที่ทำขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกครบรอบ 15 ปีของการย่ำอวกาศครั้งแรก (จาก Wikimedia Commons)

แล้วโซเวียตก็ทำสำเร็จ เลโอนอฟ อยู่นอกยานเป็นเวลาถึง 12 นาที ได้รับการจารึกไว้ว่าเป็นมนุษย์คนแรกที่ออกย่ำอวกาศได้ เป็นชัยชนะอีกครั้งหนึ่งของฝ่ายโซเวียตในสงครามอวกาศ

หลังจากภารกิจเสร็จสิ้น ยานก็เดินทางกลับโลก แต่การกลับโลกของวอสฮอด เกิดความผิดพลาดบางอย่าง ทำให้จุดลงจอดของยานเลยจากจุดที่กำหนดไว้ แทนที่ยานจะลงจอดบนที่ราบกว้างใหญ่ กลับไปจอดในป่าทึบของเทือกเขาอูรัลที่ไกลจากจุดที่กำหนดไว้เกือบสี่ร้อยกิโลเมตร 

แม้ยานลงจอดบนพื้นได้อย่างปลอดภัย และมนุษย์อวกาศทั้งสองก็เปิดยานออกมาเองได้ แต่ก็ต้องรอเป็นเวลาถึงสองคืนกว่าทีมช่วยเหลือจะไปถึง ทั้งสองต้องพยายามเอาตัวรอดภายในป่าที่หนาวเหน็บและมีสัตว์ร้ายอย่างหมาป่ากับหมีสีน้ำตาลเดินเพ่นพ่าน 

หลังจากที่มนุษย์อวกาศทั้งสองได้รับความช่วยเหลือและกลับบ้านเยี่ยงวีรบุรุษแล้ว เลโอนอฟได้ให้ความเห็นต่อรอสคอสมอสว่าปืนพก มม. ที่ให้พกไปคงจะช่วยอะไรไม่ได้หากในวันนั้นต้องเจอสัตว์ใหญ่อย่างหมีเข้า จำเป็นต้องมีปืนที่มีอานุภาพรุนแรงขึ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต 

ภายในมอดูลกลางของยานโซยุซ ซึ่งเป็นมอดูลเดียวที่จะเหลือกลับมายังโลก ห่อสีขาวที่มีสายรัดสีส้มที่อยู่ระหว่างศีรษะลูกเรือคือชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินที่ประกอบด้วยเสบียงอาหาร อุปกรณ์จุดไฟ เครื่องมือสื่อสาร พลุไฟ และปืน 

คำแนะนำของเลโอนอฟเป็นผล รอสคอสมอสเลือกใช้ปืนทีพี-82 ที่ออกแบบมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ เป็นปืนหักลำสามลำกล้อง ยิงได้ทั้งลูกปืนไรเฟิล ลูกปราย และพลุแฟลร์ ติดพานท้ายที่เมื่อถอดออกก็ใช้งานเป็นมีดอีโต้ได้ รูปลักษณ์ภายนอกมีความเป็นโซเวียตตั้งแต่หัวจรดเท้า แต่เป็นปืนที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยม มนุษย์อวกาศอเมริกันที่ต้องเดินทางไปอวกาศด้วยยานโซยุซก็ต้องเคยฝึกใช้งานปืนรุ่นนี้ ซึ่งหลายคนก็กล่าวว่าเป็นปืนที่มีความสมดุลและแม่นยำดีมาก 

ปืนรุ่นทีพี-82 (TP-82) ที่ประจำอยู่ในชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินของภารกิจอวกาศของโซเวียตและรัสเซีย ปืนกระบอกนี้แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (จาก Wikimedia Commons)

โชคดีที่หลังจากเหตุการณ์ของวอสฮอด จนถึงปัจจุบัน ก็ไม่มีเหตุที่ทำให้มนุษย์อวกาศต้องควักปืนออกมาป้องกันตัวและล่าสัตว์อีกเลย ปืนทีพี-82 และเครื่องกระสุนอยู่ในรายการมาตรฐานในชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินของยานอวกาศโซเวียตมาตลอด ผ่านมาจนถึงยุคหลังโซเวียตก็ยังคงใช้อยู่จนกระทั่งปี 2549 จึงยกเลิกรุ่นนี้ไป จากนั้นเป็นต้นมายานโซยุซก็ไม่มีปืนทีพี-82 อยู่ในชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินประจำยานอีกต่อไป แต่หันไปใช้ปืนพกรุ่นที่เบากว่าแทน ในบางเที่ยวบินก็ไม่มีปืนไปด้วย รอสคอสมอสไม่ได้ให้เหตุผลที่กลับมาใช้ปืนรุ่นเล็กแทน แต่เป็นไปได้ว่าสาเหตุหนึ่งเนื่องจากการควบคุมการลงจอด การค้นหาจุดลงจอด การสื่อสาร และการสนับสนุนช่วยเหลือในปัจจุบันทำได้รวดเร็วและแม่นยำขึ้น ปืนกำลังแรงสูงจึงมีความจำเป็นน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ทางรอสคอสมอสมีแผนว่าอาจนำปืนกลับไปอยู่ในชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินอีกครั้ง โดยจะใช้ปืนกึ่งอัตโนมัตแทน แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าเมื่อใด


ข้อมูลอ้างอิง

 Why Soviet Cosmonauts Carried Gun to Space
 The TOZ-81 ‘Mars’ Gun Was The Soviet Union’s Ultimate Space Revolver
 The Nightmare of Voskhod 2