สมาคมดาราศาสตร์ไทย

คู่หูของดาวไมรา

คู่หูของดาวไมรา

16 ต.ค. 2540
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
แม้มนุษย์จะรู้จักดาวไมรา (Mira) มาเป็นเวลากว่า 400 ปี แต่ยังไม่มีนักดาราศาสตร์ที่สามารถถ่ายได้ภาพของดาวดวงนี้เป็นสองดวงได้เลย จนกระทั่งถึงยุคของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล 

ภาพจากกล้องฮับเบิลสามารถแยกภาพได้ว่า ดาวไมราซึ่งเป็นดาวยักษ์สีแดงมีดาวสหายขนาดจิ๋วสีน้ำเงินแต่ร้อนแรงอยู่ใกล้ ๆ และดาวทั้งสองต่างก็มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน อย่างใกล้ชิด 

ดาวทั้งสองดวงนี้มีระยะห่างเชิงมุมเพียง 0.6 พิลิปดา และระยะห่างจริงในอวกาศเพียง 70 หน่วยดาราศาสตร์ (1 หน่วยดาราศาสตร์เท่ากับระยะทางเฉลี่ยจากโลกถึงดวงอาทิตย์) ซึ่งระยะที่ใกล้ชิดขนาดนี้เกินกว่าที่กล้องโทรทรรศน์บนโลกจะแยกรายละเอียดเป็นสองดวงได้ เนื่องจากภาพจะถูกป่วนโดยบรรยากาศอันพลิ้วไหวที่ห่อหุ้มโลก 

มาร์การิตา คารอฟสกา และจอห์น เรย์มอนด์ จากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด-สมิทโซเนียน (Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics) วาร์เรน แฮก จาก Space Telescope Science Institute และเอ็ดเวิร์ด ไกแนน จากมหาวิทยาลัยวิลาโนวา ใช้กล้องวัตถุจาง (Faint Object Camera) ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลถ่ายภาพของดาวไมราทั้งในย่านแสงขาวและแสงอัลตราไวโอเลต ซึ่งผลงานนี้ได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Astrophysical Journal Letters ฉบับ 20 มิถุนายน 

ภาพที่ถ่ายในย่านอัลตราไวโอเลตพบว่ามีส่วนที่เป็นรูปเคียวยื่นจากดาวไมราไปยังดาวสหาย ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นธารแก๊สจากบรรยากาศชั้นสูงดาวไมราที่กำลังถูกแรงดึงดูดของดาวสหายดูดเอาไป 

ภาพจากฮับเบิลในย่านแสงขาวแสดงถึงรูปร่างที่ไม่สมดุลของดาวไมรา ดูเหมือนกับลูกรักบี้ ซึ่งความไม่สมดุลนี้อาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดาวไมราเอง ฮับเบิลสามารถวัดขนาดเชิงมุมของดาวไมราได้เท่ากับ 60 มิลลิพิลิปดา ซึ่งมีขนาดจริงใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 700 เท่า ถ้าสมมุติเอาดาวไมรามาวางไว้ที่ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ มันจะกินอาณาเขตเลยวงโคจรของดาวอังคารออกไปอีก 

ดาวไมรามีชื่อทางการว่า โอไมครอน ซีตัส (Omicron Ceti) อยู่ในกลุ่มดาวซีตัส เป็นดาวต้นแบบของดาวแปรแสงชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่าดาวแปรแสงชนิดไมรา (Mira-type variable) ครั้งหนึ่งไมราเคยมีลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์ แต่ในปัจจุบันดาวดวงนี้อยู่ในช่วงเป็นดาวยักษ์แดงซึ่งเป็นช่วงบั้นปลายของชีวิต มีอุณหภูมิพื้นผิวต่ำ และมีความสว่างผันแปรมาก มีคาบการแปรแสง 332 วัน 

ดาวสหายของไมราเป็นดาวที่สิ้นอายุแล้วหรือดาวแคระขาว ซึ่งถูกห่อหุ้มด้วยลมจากดาวไมรา 

การถ่ายภาพดาวไมราให้มีรายละเอียดจนแยกดาวคู่ออกเป็นสองดวงได้นั้น เป็นสิ่งที่นักดาราศาสตร์ได้พยายามมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งภาพดาวที่มีรายละเอียดสูงมีประโยชน์ในการศึกษากระบวนการต่าง ๆ ของระบบดาวคู่ 

ดาวไมราได้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2139 โดยนักดาราศาสตร์ชาวดัทช์ ชื่อเดวิด เฟบริคัส ซึ่งค้นพบโดยความบังเอิญเพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโนวา เขาตั้งชื่อว่า ไมรา ซึ่งมีความหมายว่า อัศจรรย์ ต่อมานักดาราศาสตร์จึงได้ทราบว่าดาวนี้เป็นดาวแปรแสง ซึ่งเป็นดาวแปรแสงชนิดแรกที่มนุษย์รู้จัก 

ข่าวที่คล้ายกัน:

    [ภาพบน] <wbr>ดาวทางขาวคือ <wbr>ไมรา <wbr>A <wbr>ซึ่งเป็นดาวยักษ์แดงกับดาวสหายอยู่ทางซ้าย <wbr>ภาพนี้ถ่ายในย่านแสงขาวด้วยกล้องวัตถุจาง <wbr>(FOC) <wbr>เมื่อวันที่ <wbr>11 <wbr>ธันวาคม <wbr>2538 <wbr><br <wbr>/><br <wbr>/>[ภาพล่างซ้าย] <wbr>เป็นภาพขยายของดาวไมรา <wbr>ถ่ายในย่านแสงขาว <wbr>แสดงถึงรูปร่างบิดเบี้ยวเหมือนลูกรักบี้ <wbr>ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของความเปลี่ยนแปลงของความสว่างของดาว <wbr><br <wbr>/><br <wbr>/>[ล่างขวา] ภาพขยายของดาวไมรา ถ่ายในย่านแสงอัลตราไวโอเลต มีแขนเป็นรูปเคียวยื่นออกไปทางดาวสหาย ซึ่งอาจเป็นแก๊สของดาวไมราที่กำลังถูกดาวสหายดูดเอาไป

    [ภาพบน] ดาวทางขาวคือ ไมรา ซึ่งเป็นดาวยักษ์แดงกับดาวสหายอยู่ทางซ้าย ภาพนี้ถ่ายในย่านแสงขาวด้วยกล้องวัตถุจาง (FOC) เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2538 <br /><br />[ภาพล่างซ้าย] เป็นภาพขยายของดาวไมรา ถ่ายในย่านแสงขาว แสดงถึงรูปร่างบิดเบี้ยวเหมือนลูกรักบี้ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของความเปลี่ยนแปลงของความสว่างของดาว <br /><br />[ล่างขวา] ภาพขยายของดาวไมรา ถ่ายในย่านแสงอัลตราไวโอเลต มีแขนเป็นรูปเคียวยื่นออกไปทางดาวสหาย ซึ่งอาจเป็นแก๊สของดาวไมราที่กำลังถูกดาวสหายดูดเอาไป

    ที่มา: