การศึกษาระบบสุริยะต่างถิ่นก้าวหน้าไปไกลถึงขั้นสำรวจวงแหวนของดาวเคราะห์ต่างระบบแล้ว
ในระบบสุริยะของเรามีดาวเคราะห์ที่มีวงแหวนอยู่ถึงสี่ดวงนั่นคือ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน เป็นครึ่งหนึ่งของดาวเคราะห์ทั้งหมด
แต่นอกระบบสุริยะของเราออกไปซึ่งมีดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่นที่พบแล้วกว่าสามพันดวง ในจำนวนนี้มีดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวที่พบว่ามีวงแหวน ดาวเคราะห์ดวงนั้นคือ เจ 1407 บี (J1407b) ซึ่งพบว่ามีอภิมหาวงแหวนล้อมรอบอยู่ วงแหวนของดาวเคราะห์ดวงนี้กว้างถึงราวหนึ่งหน่วยดาราศาสตร์หรือเท่ากับระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์
เหตุใดจึงพบวงแหวนของดาวเคราะห์ต่างระบบน้อยนัก?จะเป็นเพราะการตรวจหาวงแหวนดาวเคราะห์ต่างระบบเป็นเรื่องยาก หรือว่าเป็นเพราะไม่ค่อยจะมีวงแหวนจริง ๆ นี่เป็นคำถามคาใจนักดาราศาสตร์มานาน
เพื่อจะตอบคำถามนี้มะซะตะกะ อะอิซะวะ จากมหาวิทยาลัยโตเกียวและคณะจึงลงมือค้นหาวงแหวนของดาวเคราะห์ต่างระบบ โดยสุ่มสำรวจดาวเคราะห์ต่างระบบจำนวน 89 ดวง โดยคัดเฉพาะดาวเคราะห์ต่างระบบที่ถูกค้นพบโดยการสังเกตการผ่านหน้าดาวฤกษ์และมีคาบโคจรยาว
เหตุที่ต้องเลือกเฉพาะดาวเคราะห์คาบยาวเนื่องจากดาวเคราะห์คาบยาวมีวงโคจรกว้างจึงอยู่ห่างจากดาวฤกษ์แม่มาก มีโอกาสที่วงแหวนจะคงอยู่ได้เป็นเวลานานมากกว่า ส่วนดาวเคราะห์ที่มีคาบสั้นมีวงโคจรแคบ อยู่ใกล้ดาวฤกษ์ ได้รับความร้อนจากดาวฤกษ์มาก เป็นสภาพที่ไม่เอื้อต่อการคงสภาพวงแหวนซึ่งประกอบด้วยสารจำพวกน้ำแข็งเป็นหลัก
ส่วนเหตุที่ต้องเลือกดาวเคราะห์ที่ผ่านหน้าดาวฤกษ์เพราะวงแหวนของดาวเคราะห์มีมวลต่ำมากเมื่อเทียบกับดาวเคราะห์ทั้งดวง การค้นหาวงแหวนโดยใช้วิธีสำรวจดาวเคราะห์ต่างระบบวิธีอื่นซึ่งต้องอาศัยอิทธิพลทางความโน้มถ่วงจึงแทบเป็นไปไม่ได้ การศึกษาวงแหวนโดยสำรวจการผ่านหน้าจึงเป็นทางเลือกที่ดี นอกจากนี้ การผ่านหน้ายังให้ข้อมูลด้านสเปกตรัมซึ่งอาจบอกองค์ประกอบทางเคมีของระบบดาวเคราะห์นั้นได้อีกด้วย
การค้นพบวงแหวนจากการผ่านหน้าไม่ใช่เทคนิคใหม่นักดาราศาสตร์ค้นพบวงแหวนของดาวยูเรนัสจากปรากฏการณ์คล้ายกันนี้ ย้อนหลังไปในปี 2520 เจมส์ เอลลิออต , เอ็ดเวิร์ด กันแฮม และเจสซิกา มิงก์ ได้สำรวจดาวยูเรนัสเคลื่อนบังดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่อยู่เบื้องหลัง การสำรวจการบังดาวฤกษ์ของดาวเคราะห์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับขนาดของดาวเคราะห์และบรรยากาศได้ นักดาราศาสตร์คณะนี้สังเกตว่า ก่อนที่ดาวยูเรนัสจะเข้าบังดาวฤกษ์ แสงดาวฤกษ์ลดลงเล็กน้อยเป็นช่วงสั้น ๆ ห้าครั้ง และหลังจากที่ดาวยูเรนัสบังผ่านพ้นไปแล้ว แสงดาวฤกษ์ก็ลดลงเล็กน้อยเป็นช่วงสั้น ๆ ห้าครั้งเช่นกัน แสงดาวที่ลดลงไปเกิดจากวงแหวนห้าวงของดาวยูเรนัสบังแสงของดาวฤกษ์นั่นเอง
อะอิซะวะและคณะได้เปรียบเทียบกราฟความสว่างที่วัดได้กับกราฟความสว่างจากแบบจำลองที่สร้างขึ้นโดยให้เงื่อนไขว่าเป็นดาวเคราะห์ที่ไม่มีวงแหวนหากกราฟความสว่างทั้งคู่เหมือนกัน ก็เชื่อได้ว่าดาวเคราะห์ดวงนั้นเป็นดาวเคราะห์ที่ไม่มีวงแหวน แต่ถ้าหากกราฟความสว่างจากสองแหล่งต่างกันมาก ก็อาจเป็นเพราะว่าดาวเคราะห์ดวงนั้นมีวงแหวน หรืออาจมีสิ่งอื่นที่ทำให้กราฟความสว่างไม่เป็นไปตามแบบจำลอง
แล้วเขาก็พบดาวเช่นว่าจริงๆ ดาวดวงนี้มีชื่อว่า เคไอซี 10403228 (KIC 10403228) เป็นดาวเคราะห์ของดาวแคระแดงดวงหนึ่ง เมื่อสร้างแบบจำลองใหม่โดยให้ดาวเคราะห์มีวงแหวนล้อมรอบแล้ว กราฟความสว่างที่ได้ตรงกับที่ได้จากการสังเกตการณ์มากกว่า
อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์คณะนี้ยอมรับว่า วงแหวนอาจไม่ใช่คำตอบเดียว มีความเป็นไปได้อื่นอีกที่อาจให้กราฟความสว่างสอดคล้องกับที่ได้จากสำรวจเช่นกัน เช่น ดาวฤกษ์แม่เป็นระบบดาวคู่ที่ดาวอีกดวงหนึ่งมีจานฝุ่นล้อมรอบ หรือดาวฤกษ์ของระบบสุริยะนี้เป็นระบบดาวสามดวง
ดังนั้นหากจะชี้ชัดว่าดาวเคไอซี 10403228 มีวงแหวนจริงหรือไม่ ต้องมีการสำรวจด้วยวิธีอื่น เช่นการถ่ายภาพด้วยความละเอียดสูง หรือการศึกษาสเปกตรัมมาช่วยอีกทางหนึ่ง
ในระบบสุริยะของเรามีดาวเคราะห์ที่มีวงแหวนอยู่ถึงสี่ดวง
แต่นอกระบบสุริยะของเราออกไป
เหตุใดจึงพบวงแหวนของดาวเคราะห์ต่างระบบน้อยนัก?
เพื่อจะตอบคำถามนี้
เหตุที่ต้องเลือกเฉพาะดาวเคราะห์คาบยาวเนื่องจากดาวเคราะห์คาบยาวมีวงโคจรกว้าง
ส่วนเหตุที่ต้องเลือกดาวเคราะห์ที่ผ่านหน้าดาวฤกษ์
การค้นพบวงแหวนจากการผ่านหน้าไม่ใช่เทคนิคใหม่
อะอิซะวะและคณะได้เปรียบเทียบกราฟความสว่างที่วัดได้กับกราฟความสว่างจากแบบจำลองที่สร้างขึ้นโดยให้เงื่อนไขว่าเป็นดาวเคราะห์ที่ไม่มีวงแหวน
แล้วเขาก็พบดาวเช่นว่าจริง
อย่างไรก็ตาม
ดังนั้น