จนถึงปัจจุบัน มีดาวเคราะห์ที่เป็นบริวารของดาวฤกษ์ดวงอื่นหรือที่เรียกว่าดาวเคราะห์ต่างระบบที่ยืนยันได้แล้วมากถึง 5,819 ดวง และยังมีอีกหลายพันดวงที่ยังรอการยืนยัน ดาวเคราะห์ต่างระบบส่วนใหญ่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อไม่เกิน 20 ปีที่ผ่านมานี้เอง กล้องโทรทรรศน์ที่มีบทบาทสำคัญในการค้นพบดาวเคราะห์เหล่านี้เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ ดาวเทียมเทสส์ ดาวเทียมคอรอต รวมถึงกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล คาดว่ายอดจำนวนดาวเคราะห์นี้ยังจะเพิ่มขึ้นอีกมากเพราะเข้าสู่ยุคของกล้องโทรทรรศน์อวกาศรุ่นใหม่อย่างเจมส์เว็บบ์และกล้องโทรทรรศน์อวกาศแนนซีเกรซโรมัน
นักดาราศาสตร์มิได้ค้นหาดาวเคราะห์ต่างระบบเพียงต้องการทำยอดจำนวนเท่านั้นการค้นพบเป็นเพียงก้าวแรก ก้าวต่อไปคือการสำรวจดาวเคราะห์เหล่านั้นให้ลึกยิ่งขึ้นเพื่อดูว่ามีสิ่งมีชีวิตหรือมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตหรือไม่ สิ่งนี้ต่างหากที่นักดาราศาสตร์ต้องการรู้จริง ๆ
การจะเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมีภารกิจในการศึกษาบรรยากาศของดาวเคราะห์ต่างระบบโดยเฉพาะ นาซาจึงดำเนินภารกิจใหม่ในชื่อ แพนดอรา
แพนดอราเป็นดาวเทียมที่มีหน้าที่ตามศึกษาดาวเคราะห์ต่างระบบที่ภารกิจอื่นค้นพบมาแล้วให้ละเอียดยิ่งขึ้นโดยเน้นไปที่การศึกษาสเปกตรัมในหลายความถี่ทั้งในย่านแสงขาวและอินฟราเรดและเป็นการเก็บข้อมูลต่อเนื่องเป็นเวลานาน ดาวเคราะห์ต่างระบบเป้าหมายจะต้องเป็นดาวเคราะห์ที่ค้นพบโดยการสังเกตการผ่านหน้า เพราะการผ่านหน้าเท่านั้นที่ทำให้เกิดโอกาสในการศึกษาบรรยากาศของดาวเคราะห์ต่างระบบได้
หลักการของแพนดอราคือขณะที่ดาวเคราะห์ต่างระบบผ่านหน้าดาวฤกษ์แม่ ดาวเคราะห์บดบังแสงส่วนหนึ่งจากดาวฤกษ์ไป แสงที่กล้องโทรทรรศน์จับได้มีทั้งแสงดาวฤกษ์โดยตรง และแสงที่มาจากดาวฤกษ์และส่องผ่านชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ที่มาผ่านหน้าซึ่งให้ข้อมูลด้านบรรยากาศของดาวเคราะห์ได้ ด้วยวิธีนี้ ทำให้นักดาราศาสตร์ทราบได้ว่าบรรยากาศของดาวเคราะห์ที่ผ่านหน้าดาวฤกษ์นั้นมีองค์ประกอบอะไรบ้าง มีแก๊สที่เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพหรือไม่ ซึ่งจะช่วยในการประเมินได้ว่าสภาพแวดล้อมบนดาวเคราะห์ดวงนั้นเอื้อต่อสิ่งมีชีวิตหรือไม่
หลักการนี้ดูเรียบง่ายแต่ก็มีความท้าทายอย่างยิ่งสาเหตุหนึ่งคือ พื้นผิวดาวฤกษ์ก็มีความสว่างไม่สม่ำเสมอ เช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ที่มีทั้งจุดมืดที่สว่างน้อยและเส้นใยสุริยะที่สว่างมาก ซึ่งมีการเปลี่ยนตำแหน่งและขนาดตลอดเวลาจากการหมุนรอบตัวเองของดาวฤกษ์ สเปกตรัมที่กล้องโทรทรรศน์ได้รับจึงเป็นสเปกตรัมที่เกิดจากการผ่านหน้าและกัมมันตภาพบนดาวฤกษ์เหล่านี้ปะปนกัน การแยกแยะแสงดาวว่าสเปกตรัมส่วนใดมาจากดาวฤกษ์โดยตรงหรือสเปกตรัมส่วนใดมาจากแสงที่ส่งผ่านบรรยากาศดาวเคราะห์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
แสงจากดาวฤกษ์ที่ปะปนเข้ามาอาจทำให้การตีความสภาพบรรยากาศของดาวเคราะห์คลาดเคลื่อนได้อาจเข้าใจไปว่ามีน้ำในบรรยากาศนั้น น้ำเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์มองหา เพราะนักดาราศาสตร์มีเป้าหมายสำคัญข้อหนึ่งในการศึกษาดาวเคราะห์ต่างระบบคือการหาว่าดาวเคราะห์ดวงในมีสิ่งมีชีวิตหรือมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิต และน้ำก็เป็นปัจจัยสำคัญของสรรพชีวิตทั้งหมด การแยกแยะสัญญาณให้ชัดเจนก็คือภารกิจของแพนดอรา
แม้แพนดอราจะมีความไวด้อยกว่ากล้องเจมส์เว็บบ์แต่ก็มีความสามารถในด้านการสำรวจต่อเนื่องที่เป้าหมายดวงใดดวงหนึ่งได้นานกว่า ทำให้ศึกษาได้ละเอียดและลึกกว่า
ดาวเทียมดวงนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแอสโทรฟิสิกส์ไพโอเนียร์ของนาซาเป็นการดำเนินงานร่วมกันของห้องทดลองแห่งชาติลอเรนซ์ลิเวอร์มอร์ในแคลิฟอร์เนียและศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ดของนาซา
นักดาราศาสตร์มิได้ค้นหาดาวเคราะห์ต่างระบบเพียงต้องการทำยอดจำนวนเท่านั้น
การจะเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว
แพนดอราเป็นดาวเทียมที่มีหน้าที่ตามศึกษาดาวเคราะห์ต่างระบบที่ภารกิจอื่นค้นพบมาแล้วให้ละเอียดยิ่งขึ้นโดยเน้นไปที่การศึกษาสเปกตรัมในหลายความถี่ทั้งในย่านแสงขาวและอินฟราเรด
หลักการของแพนดอราคือ
หลักการนี้ดูเรียบง่ายแต่ก็มีความท้าทายอย่างยิ่ง
แสงจากดาวฤกษ์ที่ปะปนเข้ามาอาจทำให้การตีความสภาพบรรยากาศของดาวเคราะห์คลาดเคลื่อนได้
แม้แพนดอราจะมีความไวด้อยกว่ากล้องเจมส์เว็บบ์
ดาวเทียมดวงนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแอสโทรฟิสิกส์ไพโอเนียร์ของนาซา