สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบดาวแทบบี 2 พิลึกไม่แพ้กัน

พบดาวแทบบี 2 พิลึกไม่แพ้กัน

1 ธ.ค. 2561
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ยังจำดาวแทบบีได้ไหม? ดาวแทบบี หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ดาวโบยาเจียน ได้ชื่อตาม ทาเบทา โบยาเจียน นักดาราศาสตร์คนแรกที่ศึกษาดาวดวงนี้ เป็นดาวฤกษ์ที่ได้ชื่อว่าแปลกที่สุดดวงหนึ่งเท่าที่เคยรู้จัก จากพฤติกรรมที่หรี่แสงลงเป็นช่วงสั้น ๆ เป็นครั้งคราวในแบบที่คาดเดาไม่ได้ และยังมีการหรี่แสงอย่างช้า ๆ ในระยะยาวอีกด้วย 

และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ดาวแทบบีก็แผลงฤทธิ์อีกครั้ง โดยมีการหรี่แสงลงอีก ซ้ำยังส่องสว่างขึ้นกว่าปกติเป็นบางครั้ง 

คำอธิบายถึงพฤติกรรมประหลาดของดาวแทบบีที่พอจะยอมรับได้มากที่สุดในขณะนี้คือ เกิดจากฝุ่นบริเวณรอบดาวดวงนี้มาบดบังแสงไป แต่ก็ยังอธิบายไม่ได้ว่าฝุ่นนี้มาจากไหน และก็อธิบายได้ไม่ทั้งหมด 

ภาพตามจินตนาการของศิลปินของดาวแทบบีที่มีกลุ่มฝุ่นจำนวนมากรายล้อม กลุ่มฝุ่นที่บดบังแสงดาวเป็นผลให้แสงดาวหรี่ลงอย่างประหลาดดังที่นักดาราศาสตร์พบเห็น ดาววีวีวี-ดับเบิลยูไอที-07 ก็มีพฤติกรรมทำนองเดียวกัน (จาก NASA/JPL-Caltech.)

เมื่อวันที่ พฤศจิกายน 2561 นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวอีกดวงหนึ่งที่แสดงสมบัติคล้ายดาวแทบบี ดาวดวงนี้มีชื่อว่า วีวีวี-ดับเบิลยูไอที-07 (VVV-WIT-07) ค้นพบโดยคณะนักดาราศาสตร์ในชิลี นำโดย โรแบร์โต ไซโต จากมหาวิทยาลัยซันตาแคทารินาในโฟลเรียนอโปลิส ประเทศบราซิล คณะนักสำรวจของไซโตได้ใช้กล้องวิสตาในทะเลทรายอาตากามาตรวจหาซูเปอร์โนวา แต่กลับสังเกตว่าดาวดวงนี้มีกะพริบในแบบแปลก ๆ เมื่อตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง พบว่าดาวดวงนี้หรี่แสงลงและสว่างขึ้นเป็นระยะมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน และไม่มีรูปแบบที่แน่นอนเช่นเดียวกับดาวแทบบี 

ดาววีวีวี-ดับเบิลยูไอที-07 ตามจินตนาการของศิลปิน แสงของดาวดวงนี้มีการหรี่ลงเป็นระยะในแบบที่ไม่มีรูปแบบที่แน่นอนทำนองเดียวกับดาวแทบบี (จาก NASA/JPL-Caltech)

สิ่งหนึ่งที่ต่างจากดาวแทบบีอย่างมากก็คือ ขณะที่ดาวแทบบีหรี่แสงลงไป 22 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่เริ่มสังเกตการณ์มา แต่ดาววีวีวี-ดับเบิลยูไอที-07 หรี่แสงลงไปมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ 

กราฟแสงของดาว วีวีวี-ดับเบิลยูไอที-007 ระหว่างปี 2553-2561 ในปี 2555 แสงดาวลดลงไปมาถึง 80 เปอร์เซ็นต์  (จาก R. K. Saito et al.)


ขณะนี้นักดาราศาสตร์ยังไม่แน่ใจนักว่าดาวดวงนี้เป็นชนิดไหน เนื่องจากตำแหน่งของดาวอยู่ในระนาบทางช้างเผือกเมื่อมองจากโลก ฝุ่นจำนวนมากในระนาบได้บดบางแสงไปบางส่วน หากเป็นดาวแปรแสงอายุน้อย การหรี่แสงที่พบก็อาจเป็นเพียงกระบวนการภายในดาวเอง แต่หากไม่ใช่ ก็ต้องหาคำตอบกันต่อไป

ยังมีดาวอีกดวงหนึ่งที่อาจใกล้เคียงกับดาววีวีวี-ดับเบิลยูไอที-007 หรืออาจจะใกล้เคียงมากกว่าก็คือ ดาว เจ 1407 (J1407) นักดาราศาสตร์พบดาวดวงนี้ในปี 2555 มีการหรี่แสงลงเป็นระยะเช่นเดียวกัน แต่หรี่แสงไปมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์  เอริก มามาเจ็ก จากมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ในนิวยอร์ก หนึ่งในคณะผู้ค้นพบอธิบายว่า การหรี่แสงของดาว เจ 1407 น่าจะเกิดจากการที่มีดาวเคราะห์บริวารหรือดาวแคระน้ำตาลที่มีวงแหวนขนาดมหึมา แหวนของดาวเคราะห์ดวงนี้มีขนาดใหญ่กว่าแหวนของดาวเสาร์ถึง 200 เท่า เมื่อแหวนผ่านหน้าดาวฤกษ์ ก็จะบดบังแสงจากดาวไป

ภาพสีแปลงของดาววีวีวี-ดับเบิลยูไอที-007  (จาก R. K. Saito et al.)

ดาววีวีวี-ดับเบิลยูไอที-07 อาจคล้ายกับดาว เจ 1407 ก็ได้ ดาวดวงนี้มีดาวเคราะห์บริวารที่มีวงแหวนขนาดมหึมาโคจรรอบอยู่ วงแหวนที่บดบังดาวเป็นระยะ เป็นเหตุให้แสงดาวหรี่ลงไปเมื่อมองจากโลก  (จาก Ron Miller.)


นักดาราศาสตร์คณะของไซโตกำลังมีแผนที่จะสำรวจดาวดวงนี้เพิ่มเติม โดยมองหากล้องที่ใหญ่กว่า เช่นกล้องเจมิไนที่มีขนาดใหญ่ถึง 8.1 เมตร หรือเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุอัลมา เพื่อที่จะไขปัญหาให้ได้ว่าดาวดวงนี้หรี่แสงแบบนี้ได้อย่างไร

ที่มา: