สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ปลายเดือนนี้โลกจะมีบริวารเพิ่ม

ปลายเดือนนี้โลกจะมีบริวารเพิ่ม

15 ก.ย. 2567
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
โลกมีดวงจันทร์เป็นบริวารหนึ่งดวงที่โคจรรอบโลกมาเป็นเวลานับพันล้านปี บรรพบุรุษของเราจึงเห็นดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้ามาตลอด

ท้องฟ้ามีพลวัตซับซ้อน และยังมีวัตถุน้อยใหญ่โคจรรอบดวงอาทิตย์อยู่ในบริเวณวงโคจรโลก ทำให้บางครั้งวัตถุเหล่านั้นก็อาจผ่านเข้ามาใกล้โลกจนถูกโลกคว้าจับเอาไว้เป็นบริวารได้ แม้จะเป็นเวลาสั้น ๆ ก็ตาม

เมื่อวันที่ สิงหาคม 2567 โครงการแอตลัสในแอฟริกาใต้ ได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกดวงหนึ่ง วัตถุดวงนี้ต่อมาได้ชื่อว่า 2024 พีที (2024 PT5) 

นักวิจัยสองคน ได้แก่ คาร์ลอส เด ลา ฟูเอนเต มาร์กอส และ ราอุล เด ลา ฟูเอนเต มาร์กอส ได้คำนวณแนววิถีแล้วพบว่า วัตถุดวงนี้จะถูกโลกคว้าจับเอามาเป็นบริวารในช่วงตั้งแต่วันที่ 29 กันยายนจนถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 

อย่างไรก็ตาม การเรียกวัตถุดวงนี้ว่าเป็นบริวารโลกก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะไม่ได้มีวงโคจรที่เสถียร เพียงแต่เข้ามาวนรอบโลกเพียงเป็นเวลาสั้น ๆ แล้วก็หลุดออกจากพันธนาการจากโลกไป บางครั้งอาจเรียกสถานะในช่วงที่เข้ามาวนรอบโลกสั้น ๆ นี้ว่า วัตถุกึ่งบริวาร (quasi-satellite) 

แนววิถีของดาวเคราะห์น้อย 2024 พีที   (จาก Tony Dunn)


ดาวเคราะห์น้อย 2024 พีที มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เมตร คาดว่าน่าจะเป็นดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มอรชุน (Arjuna) ดาวเคราะห์น้อยกลุ่มอรชุนจัดเป็นดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกกลุ่มหนึ่ง มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เกือบเหมือนวงโคจรของโลก การที่มีวงโคจรเกือบเหมือนโลก ทำให้มีความเร็วสัมพัทธ์กับโลกต่ำ จึงถูกมีโอกาสถูกความโน้มถ่วงของโลกคว้าจับเอาไว้ได้


หลังจากหลุดจากวงโคจรรอบโลกไปแล้ว ดาวเคราะห์น้อย 2024 พีที จะเข้ามาใกล้โลกอีกครั้งในวันที่  มกราคม 2568 หลังจากนั้นก็จะหลุดไปไกล จนกว่าจะกลับเข้ามาใกล้อีกครั้งในปี 2598

แม้จะเข้ามาวนรอบโลก แต่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีขนาดเล็กเกินกว่าจะสังเกตได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ทั่วไป ในช่วงที่เข้ามาเป็นบริวารโลกจะมีอันดับความสว่างไม่น้อยกว่า 22 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โลกมีบริวารดวงน้อยแบบชั่วคราว ก่อนหน้านี้ก็เคยมีดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งชื่อ 2022 เอ็นเอกซ์ (2022 NX1) ซึ่งเคยเข้ามาโคจรรอบรอบโลกในปี 2524 และในปี 2565 ดาวเคราะห์น้อย เอ็นเอกซ์ จะกลับมาอีกครั้งในปี 2594

ที่มา: