สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบฟอสฟอรัสบนเอนเซลาดัส

พบฟอสฟอรัสบนเอนเซลาดัส

19 มิ.ย. 2566
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เอนเซลาดัส เป็นดวงจันทร์ดวงหนึ่งของดาวเสาร์ เป็นหนึ่งในดินแดนที่น่าพิศวงที่สุดในระบบสุริยะ มีขนาดเล็กเพียงหนึ่งในเจ็ดของดวงจันทร์ของโลก แต่มีสิ่งน่าสนใจมากมายที่อาจแสดงว่ามีสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์ดวงนี้  ที่นี่มีทั้งมหาสมุทรบาดาล มีรอยแยกบนพื้นผิวขนาดใหญ่ที่มีพู่ไอน้ำที่พ่นออกมา อนุภาคไอน้ำที่พ่นขึ้นมากลายเป็นสสารให้แก่วงแหวนอีของดาวเสาร์

ล่าสุด คณะนักดาราศาสตร์จากสถาบันวิจัยเซาท์เวสต์ นำโดย คริสโตเฟอร์ กลีน ได้เปิดเผยผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากยานแคสซีนีขององค์การนาซาที่ได้สำรวจดาวเสาร์และบริวารจากวงโคจรเป็นเวลา 13 ปี พบสิ่งที่เป็นการเพิ่มความน่าจะเป็นที่จะพบสิ่งมีชีวิตบนบริวารดาวเคราะห์ดวงนี้ยิ่งขึ้นไปอีก

ดวงจันทร์เอนเซลาดัส บริวารของดาวเสาร์ ถ่ายโดยยานแคสซีนีในปี 2551 (จาก NASA/JPL/Space Science Institute)

สัดส่วนของน้ำบนดาวเคราะห์และดวงจันทร์ในระบบสุริยะ แสดงให้เห็นว่า เอนเซลาดัสเป็นวัตถุในระบบสุริยะที่มีน้ำเป็นสัดส่วนโดยมวลมากที่สุดในระบบสุริยะ   (จาก PHR UCR Arecibo/NASA)


ในช่วงท้ายของภารกิจ ยานแคสซีนีได้พุ่งฝ่าเข้าไปในพู่ไอน้ำที่พุ่งขึ้นมา และมีการเก็บตัวอย่างอนุภาคที่พ่นออกมาเพื่อวิเคราะห์ นักวิทยาศาสตร์คณะดังกล่าวได้ศึกษาข้อมูลที่ได้จากเครื่องวิเคราะห์ฝุ่นคอสมิกของยานแคสซีนีจำนวนอนุภาค 345 อนุภาค พบว่าในจำนวนนี้ มีเก้าอนุภาคที่แสดงสเปกตรัมของโซเดียมฟอสเฟตด้วย

โซเดียมฟอสเฟตเป็นเกลือชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วยฟอสฟอรัสกับโซเดียม ฟอสฟอรัสเป็นหนึ่งในหกของธาตุที่ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิต นอกเหนือจาก คาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน ออกซิเจน และกำมะถัน ธาตุห้าชนิดที่เหลือล้วนแต่เคยมีการตรวจพบบนเอนเซลาดัสมาแล้ว แม้ว่าการค้นพบกำมะถันจะยังยืนยันไม่ได้ชัดเจนก็ตาม ฟอสฟอรัสเป็นส่วนประกอบสำคัญในกระดูก ฟัน ดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ เยื่อหุ้มเซล ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า หากไม่มีฟอสฟอรัส สิ่งมีชีวิตจะเกิดขึ้นไม่ได้ 

เอนเซลาดัส ดวงจันทร์ที่แฝงกายอยู่ในวงแหวนอีของดาวเสาร์ ภาพถ่ายโดยยานแคสซีนี  (จาก NASA/JPL/Space Science Institute)

การค้นพบครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการพบฟอสฟอรัสในแหล่งน้ำของดินแดนอื่นนอกจากโลก ยิ่งกว่านั้น ยังพบในสัดส่วนสูงอีกด้วย นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าในมหาสมุทรบาดาลของเอนเซลาดัสมีฟอสเฟตในสัดส่วนมากกว่าที่มีอยู่ในมหาสมุทรของโลกนับร้อยเท่าเลยทีเดียว

การค้นพบครั้งนี้จึงเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของวงการชีววิทยานอกโลก และต่อวงการการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก และเป็นการเพิ่มความน่าจะเป็นที่จะพบสิ่งมีชีวิตบนเอนเซลาดัสขึ้นอีกอย่างไม่ต้องสงสัย

พู่ไอน้ำบนดวงจันทร์เอนเซลาดัส ถ่ายในปี 2553 โดยยานแคสซีนี  (จาก NASA/JPL-Caltech/Space Science Institute)

ที่ระยะวงโคจรของดาวเสาร์ แม้จะอยู่ห่างไกลจากแหล่งพลังงานอย่างดวงอาทิตย์มาก แต่สิ่งมีชีวิตก็ยังอาจเกิดขึ้นได้บนดวงจันทร์ของดาวเสาร์โดยอาศัยพลังงานทางเคมีเดียงอย่างเดียว แม้แต่บนโลกเราก็มีระบบนิเวศที่ไม่พึ่งพาพลังงานจากดวงอาทิตย์เหมือนกัน เช่นบริเวณใกล้ปล่องน้ำร้อนใต้สมุทรอันมืดมิด สิ่งมีชีวิตที่นี่ก็อาศัยพลังงานความร้อนจากปล่อง ไม่ต้องพึ่งพาแสงอาทิตย์เลย

หากระบบนิเวศที่ไม่พึ่งพาดวงอาทิตย์ยังเกิดขึ้นบนโลกได้ ก็เกิดบนดวงจันทร์เอนเซลาดัสได้เช่นกัน 

ภาพในจินตนาการของศิลปิน แสดงยานเอนเซลาดัสออร์บิแลนเดอร์ขณะจอดอยู่บนดวงจันทร์เอนเซลาดัส (จาก Johns Hopkins APL)

การค้นพบครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของดวงจันทร์ดวงนี้ ที่จะต้องมียานอวกาศไปสำรวจระยะใกล้อีกครั้ง แต่ขณะนี้ยังไม่มีโครงการใดที่มีกำหนดจะไปเยือนดวงจันทร์ดวงนี้เลย อย่างไรก็ตามมีโครงการหนึ่งที่ยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผนที่พอจะฝากความหวังได้ มีชื่อว่า เอนเซลาดัสออร์บิแลนเดอร์ ภารกิจนี้จะมีการสำรวจทั้งจากวงโคจรและยานลงจอด โดยมีเป้าหมายหลักคือที่พู่ไอน้ำ หากโครงการนี้ได้รับการอนุมัติ ยานเดินทางจะไปถึงเอนเซลาดัสได้ในปลายทศวรรษ 2030