สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สิ่งมีชีวิตบนไอโอ ใครว่าเป็นไปไม่ได้

สิ่งมีชีวิตบนไอโอ ใครว่าเป็นไปไม่ได้

15 ก.พ. 2566
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เป็นเวลามานานแล้วที่นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามอย่างมากที่จะค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงอื่น ไม่ว่าจะเป็นดวงจันทร์หรือดาวเคราะห์ วัตถุเป้าหมายที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความหวังเป็นพิเศษมักเป็นวัตถุที่มีสภาพแวดล้อมไม่ต่างจากโลกมากนัก เช่น มีอุณหภูมิไม่ร้อนไม่หนาวเกินไป ไม่ผันแปรมากเกินไป มีน้ำที่อยู่ในสถานะของเหลว มีสารอินทรีย์ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการสร้างสิ่งมีชีวิต ตัวอย่างเช่น ดาวอังคาร ดวงจันทร์ยูโรปา ดวงจันทร์เอนเซลาดัส ดวงจันทร์ไททัน ซึ่งวัตถุเหล่านี้มีสภาพแวดล้อมที่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นได้ 

แต่งานวิจัยหนึ่งของนักชีววิทยานอกโลกเมื่อไม่นานมานี้อาจทำให้ต้องเพิ่มชื่อของดวงจันทร์ไอโอเข้าไปในรายชื่อวัตถุเป้าหมายของการค้นหาสิ่งมีชีวิตด้วย

ดวงจันทร์ไอโอ ถ่ายโดยยานกาลิเลโอเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2540 เต็มไปด้วยภูเขาไฟที่กำลังปะทุ นักดาราศาสตร์กล่าวว่า แม้บนพื้นผิวจะมีสภาพแวดล้อมโหดร้าย แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตที่ใต้พื้นผิว (จาก NASA/ JPL/ DLR.)

ไอโอ เป็นบริวารดวงหนึ่งของดาวพฤหัสบดี เป็นหนึ่งในสี่ของดวงจันทร์กาลิเลโอ เป็นวัตถุที่มีสภาพแวดล้อมโหดร้ายมาก ดวงจันทร์ดวงนี้เต็มไปด้วยภูเขาไฟที่กำลังปะทุและพร้อมปะทุ บนพื้นผิวก็เจิ่งนองไปด้วยลาวาและกำมะถัน ใครจะคิดว่าดาวที่มีสภาพแบบนี้จะมีสิ่งมีชีวิตได้ 

เดิร์ก ชูลเซอ-มาคูช นักชีววิทยานอกโลกจากศูนย์ดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเทคนิคเบอร์ลิน กล่าวไว้ใน BigThink.com เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 ว่า แม้ไอโอจะมีสภาพแวดล้อมแบบนี้ แต่โอกาสที่จะมีสิ่งมีชีวิตก็ไม่ถึงกับเป็นศูนย์เสียทีเดียว 

ภาพดวงจันทร์ไอโอ ถ่ายในย่านรังสีอินฟราเรดโดยยานจูโนเมื่อวันที่ กรกฎาคม 2565 แสดงจุดร้อนจำนวนมากซึ่งแสดงว่ามีภูเขาไฟกำลังปะทุอยู่ ไอโอเป็นดินแดนที่มีภูเขาไฟปะทุมากที่สุดในระบบสุริยะ (จาก NASA/ JPL-Caltech/ SwRI/ ASI/ INAF/ JIRAM.)

ปัจจุบัน ไอโอมีอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวอยู่ที่ -130 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณที่เกิดภูเขาไฟปะทุก็จะร้อนจัดถึง 1,600 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ครั้งหนึ่ง ไอโอเคยมีน้ำมากกว่านี้ บางทีอาจคล้ายกับดวงจันทร์ยูโรปาและแกนิมีด เนื่องจากกำเนิดขึ้นมาในบริเวณที่เต็มไปด้วยน้ำแข็ง แต่อิทธิพลจากดาวพฤหัสบดีที่กระทำต่อไอโออย่างโหดร้ายทั้งจากรังสีและแรงน้ำขึ้นลง ทำให้ไอโอเสียน้ำไปเกือบทั้งหมด จนสภาพบนพื้นผิวของไอโอไม่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตอีกต่อไป

"สภาพแวดล้อมที่ดูโหดร้ายของไอโอเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏบนพื้นผิว แต่ลึกลงไปใต้พื้นดินสภาพอาจต่างจากบนพื้นผิวอย่างสิ้นเชิงก็ได้ ดวงจันทร์ยูโรปากับแกนิมีดที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรบาดาลก็มีสภาพแวดล้อมบนพื้นผิวที่ไม่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน" ชูลเซอ-มาคูชกล่าว

ใต้พื้นผิวของไอโออาจยังมีน้ำและคาร์บอนอยู่ หากมีน้ำไม่มากพอ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ก็อาจทำหน้าที่แทนน้ำได้ ไฮโดรเจนซัลไฟด์เป็นตัวทำละลายสารอินทรีย์ได้ และยังคงสภาพเป็นของเหลวได้ในใต้พื้นผิวของไอโอด้วย นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสถานที่ที่มีความเป็นไปได้ที่จะพบสิ่งมีชีวิตมากที่สุดบนไอโอคือตามปล่องลาวา 

"บนโลก จุลินทรีย์ก็พบได้บ่อยตามปล่องลาวาทั่วโลกเช่นกัน นอกจากนี้ บนดาวเคราะห์ดวงอื่น เช่นดาวอังคาร ปล่องลาวาก็เป็นจุดที่น่าค้นหาสิ่งมีชีวิตได้เช่นกัน" ชูลเซอ-มาคูชเสริม

ปล่องลาวาบนไอโอ มีปัจจัยบวกหลายประการ เช่น ปลอดภัยจากรังสีอันตรายจากดาวพฤหัสบดี มีอุณหภูมิที่พอเหมาะและคงที่ กักเก็บความชื้นได้ดี มีสารประกอบที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตเช่นไฮโดรเจนซัลไฟด์

ปัจจุบัน มียานอวกาศเพียงลำเดียวที่กำลังสำรวจระบบดาวพฤหัสบดีอยู่ คือ ยานจูโน ซึ่งโคจรรอบดาวพฤหัสบดีมาตั้งแต่ปี 2559 นอกจากศึกษาดาวพฤหัสบดีแล้ว ยังสำรวจบริวารหลายดวงรวมถึงไอโอด้วย ข้อมูลไอโอจากยานจูโนช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นบนดวงจันทร์ไอโอดีขึ้นมาก 

ขณะนี้องค์การนาซากำลังพิจารณาดำเนินภารกิจสำรวจไอโอที่มีชื่อว่า ไอโอโวลเคโนออบเซอร์เวอร์ ซึ่งจะเป็นภารกิจที่สำรวจดวงจันทร์ไอโอเป็นเพียงอย่างเดียว ไอโอโวลเคโนออบเซอร์เวอร์มีระยะเวลาของภารกิจสี่ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวจะเข้าเฉียดไอโอ 10 ครั้ง  ยานจะมีโอกาสเข้าใกล้พื้นผิวถึง 200 กิโลเมตร ทำให้ถ่ายภาพพื้นผิวได้ละเอียดถึง 300 เมตรต่อพิกเซลครอบคลุมพื้นที่ได้ 90 เปอร์เซ็นต์ของทั่วทั้งดวง และในบางพื้นที่ที่ต้องการเจาะจงก็สามารถถ่ายภาพที่มีความละเอียดสูงถึง เมตรต่อพิกเซลได้ 

อย่างไรก็ตาม ชูลเซอ-มาคูชกล่าวว่าแม้ตนจะอธิบายว่าไอโออาจมีสิ่งมีชีวิต แต่ก็ยอมรับว่ามีโอกาสน้อยกว่าดวงจันทร์ยูโรปาและแกนีมีดมาก 

ที่มา: